ดีแทคกาง White Paper แนะแนวทาง 6 ยุทธศาสตร์ในการพาประเทศไทยสู่ดิจิตอลไทยแลนด์อย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2563 ระบุ ประเทศไทยมีการใช้งานโซเชียลมีเดียมากกว่าประเทศในแถบยุโรป แต่กลับมีคลื่นในการใช้งานน้อยกว่า พร้อมกระทุ้งรัฐบาล และ กสทช.ประกาศแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ให้ชัดเจน เพื่อใช้กำหนดแนวทางการลงทุนของดีแทค มั่นใจการยกร่างกฎหมายต่างๆ จะช่วยให้เห็นผลเร็วขึ้น พร้อมย้ำ ดีแทค มีแผนลงทุนในไทยระยะยาวแน่นอน
นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า บริษัทได้จัดทำ White Paper ในหัวข้อ “เส้นทางสู่ดิจิตอลไทยแลนด์” โดยนำ 6 ยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล พ.ศ.2559 ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที มาวิเคราะห์ถึงการนำพาประเทศไทยสู่ดิจิตอลไทยแลนด์ได้อย่างเป็นรูปธรรม และสมบูรณ์แบบภายในปี 2563 พบว่า ในยุทธศาสตร์แรกเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิตอลนั้น ประเทศไทยยังมีอุปสรรคในการก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิตอล ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการใช้งานโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก มากกว่าประเทศในแถบยุโรปอย่างสวีเดน แต่ประเทศไทยกลับมีคลื่นความถี่ในการใช้งานน้อยกว่า
ดังนั้น จึงต้องการให้รัฐบาล และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีแผนในการนำคลื่นความถี่ที่ยังไม่ได้จัดสรร เช่น คลื่น 700, 850, 1800, 2300 และ 2600 MHz ออกมาจัดสรรอย่างชัดเจนว่าแต่ละคลื่นจะนำมาจัดสรรในปีไหน เพื่อดีแทคเองจะได้วางแผนการลงทุนในระยะยาวให้เหมาะสม แต่หากไม่มีการจัดสรรในระยะเวลาอันใกล้ที่ดีแทคจะหมดสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 MHz ในปี พ.ศ.2561 ดีแทค ก็มีแผนรองรับไว้แล้ว เนื่องจากในทางเทคนิค ดีแทคสามารถบริหารจัดการคลื่นที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพได้ เช่น การติดตั้งเสาโทรคมนาคมถี่ขึ้น
“ที่ผ่านมา ดีแทคไม่ได้พยายามชนะการประมูลคลื่นในครั้งที่ผ่านมานั้น เป็นเพราะคลื่นที่นำมาประมูลเป็นคลื่นของคนอื่น เขาจึงไม่ต้องการสูญเสียคลื่นที่มีอยู่หลังจากหมดสัญญาสัมปทาน จึงต้องประมูลให้ชนะ ขณะที่ดีแทคเองไม่ได้อยู่ในสถานะต้องเสียคลื่น เพราะคลื่นที่มีอยู่ยังเพียงพอในการให้บริการ”
ขณะที่ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ ระบบนิเวศเชิงนวัตกรรมดิจิตอล ดีแทค ได้ตั้ง บริษัท ดีแทค แอคเซอเลอเรท จำกัด ส่งเสริมนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนสตาร์ทอัปไทย โดยเร่งสนับสนุนสร้างนักรบทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องสู่เศรษฐกิจดิจิตอล โดยตั้งเป้าปี พ.ศ.2563 จะผลักดันเหล่าสตาร์ทอัปไทยให้มีมูลค่า 2,000 ล้านบาท และก้าวสู่อันดับ 1 ของสตาร์ทอัปกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมทั้ง ดีแทค แอคเซอเลอเรท มุ่งตั้งเป้าสู่การสร้าง Tech Giant ให้เกิดขึ้นในไทย
ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 3 เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อสังคมที่เท่าเทียมนั้น จากรายงานพบว่า ในปี 2558 มีคนไทย จำนวน 48 ล้านคน ยังคงไม่ได้รับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และยังไม่ได้รับประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ดังนั้น ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจดิจิตอลประสบความสำเร็จ คือ เศรษฐกิจ และสังคมดิจิตอลต้องเป็นหนึ่งเดียว โดยมุ่งที่จะลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างประชากรในเมือง และชนบท และเพิ่มรายรับของประชากรในชนบท โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรที่เป็นกระดูกสันหลังของประเทศไทย
นายลาร์ส กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ที่ 4 เกี่ยวกับบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ ปัจจัยหลักที่จะผลักดันได้ต้องมีข้อมูลที่โปร่งใส และทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ โดยเฉพาะการเข้าถึงข้อมูล และบริการสาธารณะผ่านเทคโนโลยีดิจิตอล ทั้งนี้ พบว่าปัจจุบันประเทศไทยยังคงตามหลังประเทศพัฒนาแล้วในด้านบริการสาธารณะออนไลน์พื้นฐานต่างๆ โดยข้อมูลสาธารณะส่วนใหญ่ยังคงไม่ได้รับการปรับเปลี่ยนไปสู่รูปแบบดิจิตอล การใช้เอกสารต่อหน่วยงานรัฐ เช่น ใบเสร็จ การทำธุรกรรมจ่ายเงินต่างๆ ยังไม่สามารถใช้ในรูปแบบดิจิตอลได้
ขณะที่ยุทธศาสตร์ที่ 5 เรื่องทุนมนุษย์ อาจต้องชะงักด้วยช่องว่างในระบบการศึกษา และความพร้อมเชิงดิจิตอลของแรงงาน ความท้าทายหลักอีกประการของประเทศไทย คือ การเสริมความแข็งแกร่งทั้งด้านความรู้ดิจิตอล และภาษาอังกฤษ เพื่อให้แรงงานไทยสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในโลกที่เชื่อมต่อ
อย่างไรก็ตาม ยังมั่นใจในยุทธศาสตร์ที่ 6 เกี่ยวกับการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อกำหนดที่จะกำกับดูแลภาคอุตสาหกรรมดิจิตอลนั้น จะเป็นสิ่งทำให้ดิจิตอลไทยแลนด์เกิดขึ้น โดยดีแทคเสนอแนะให้มีการปรับปรุงร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิตอลผ่านกระบวนการที่โปร่งใส และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันที่เป็นธรรมทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงความเป็นอิสระของ กสทช.ที่จะจัดสรรคลื่นความถี่ผ่านการประมูลแข่งขันที่โปร่งใสควรเป็นสิ่งที่ได้รับความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ในการขยายโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอลในประเทศไทย
“สำหรับรายงานฉบับนี้ ดีแทคได้นำเสนออย่างเป็นทางการในงาน Asia Pacific Digital Societies Policy Forum 2016 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-28 เม.ย.2559 โดยกระทรวงไอซีที และสมาคมจีเอสเอ็มไปแล้ว และจะนำเสนอต่อ กสทช.ด้วย”
ที่มา: http://manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000043640