ปัจจุบัน มีศาสตร์หนึ่งที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว นั่นคือ ศาสตร์ด้าน “คอมพิวเตอร์วิทัศน์ (Computer Vision)” คุณอาจไม่เคยเห็นคำนี้มาก่อน แต่ศาสตร์นี้กำลังจะเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันของคุณไปตลอดกาล
Computer Vision นั้นโดยหลักแล้วคือศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับภาพที่เรามองเห็นผ่านคอมพิวเตอร์โดยมีการวิเคราะห์ผ่านปัญญาประดิษฐ์เพื่อทำความเข้าใจว่าภาพนั้นคืออะไร (หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าระบบ Image Recognition) และด้วยพลังของระบบการคำนวนด้วยซูเปอร์คอมพิวเตอร์และการศึกษาในเชิงลึกเกี่ยวกับโครงข่ายประสาทเทียม ซึ่งเป็นกระบวนการที่จำลองการเรียนรู้ของสมองมนุษย์ คอมพิวเตอร์จะใช้อัลกอริธึมอันสลับซับซ้อนเพื่อวิเคราะห์ภาพที่แสดงบนหน้าจอและวิเคราะห์ว่าภาพนั้นคืออะไรและเกิดอะไรขึ้นในภาพนั้นบ้าง
ผู้เชี่ยวชาญผู้สร้างซอฟท์แวร์ด้าน Image Recognition มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า นักวิทยาศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์วิทัศน์ แต่หลายคนอาจเรียกพวกเขาตามความเข้าใจง่ายๆ ได้ว่า นักวิทยาศาสตร์ด้านภาพ
และเมื่อศาสตร์ด้านนี้พัฒนามาหลายปี นักวิทยาศาสตร์ด้านภาพก็เริ่มมีอิทธิพลต่อโลกของการโฆษณาเช่นกัน คาดการณ์ว่าตลาดด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์วิทัศน์จะเติบโตจนมีมูลค่า 3.3 หมื่นล้านเหรียญในช่วงสิ้นทศวรรษนี้
หลายธุรกิจ โดยเฉพาะ ธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพ ต่างก็ได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีการระบุรูปภาพนี้ โดยได้มีการพัฒนาด้านการแพทย์อย่างเครื่อง Dulight กล้องถ่ายภาพแบบสวมใส่ขนาดเล็กที่ใช้เทคโนโลยีนี้ในการะบุสิ่งของต่างๆ อย่างอาหาร เงิน และสัญญาณจราจร ซึ่งช่วยให้ผู้พิการทางสายตาได้รับรู้สิ่งต่างๆ ได้มากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
หรืออีกตัวอย่างหนึ่งของการใช้ประโยชน์ด้านสุขภาพที่เห็นได้ชัด ได้แก่ การพัฒนาตู้เย็นที่สามารถบอกได้ว่าอาหารที่แช่เอาไว้ชิ้นไหนหมดอายุหรือเสียแล้วบ้างของแบรนด์พานาโซนิก
และแน่นอนว่าเทคโนโลยีนี้ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อโลกการตลาดดิจิตอลแล้วเช่นกัน ด้วยความสามารถในการระบุรูปภาพทำให้เกิดรูปแบบการโฆษณาแบบใหม่ขึ้น คือ โฆษณาแบบ In-image
การโฆษณาแบบ In-image ใช้ประโยชน์จากซอฟต์แวร์ระบุรูปภาพเพื่อแสดงโฆษณาออนไลน์โดยอ้างอิงจากรูปภาพที่สอดคล้องกับโฆษณานั้นๆ เช่น เทคโนโลยีของบริษัท GumGum ที่สามารถจับรูปภาพในหน้าเว็บไซต์ข่าว หากเป็นรูปผู้ชายโกนหนวดเคราเกลี้ยงเกลา ระบบจะโชว์โฆษณาใบมีดโกนหนวดขึ้นมาภายในรูปภาพนั้น หรือหากเป็นรูปผู้หญิงยิ้มเห็นฟันขาว ระบบก็จะแสดงภาพโฆษณายาสีฟันขึ้นมา
เทคโนโลยี Image Recognition เปิดโอกาสให้สำนักข่าวออนไลน์ต่างๆ สร้างรายได้จากรูปภาพประกอบบทความของตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และในขณะเดียวกันก็สร้างเครื่องมือทางการตลาดให้กับนักการตลาดในรูปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนด้วย อย่างไรก็ตาม โอกาสที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีนี้มีมากกว่านั้น เพราะทั้งหมดคือปรากฎการณ์ที่เรียกว่า Visual Web
ทุกวันนี้มีรูปภาพกว่า 2 พันล้านรูปถูกอัพโหลดเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นที่เน้นการแชร์รูปภาพอย่าง Instagram และ Pinterest รวมทั้งกล้องถ่ายภาพบนสมาร์ทโฟนที่ใครๆ ก็มี คือช่องทางและเครื่องมือสำคัญในการแชร์ข้อมูลในรูปแบบรูปภาพดังกล่าว
หลายแบรนด์พยายามหาทางใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างคอนเทนต์แบบที่ผู้ใช้ผลิตขึ้นเอง (User-generated) แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่า 80% ของรูปภาพที่เกี่ยวของกับแบรนด์มักไม่มีข้อความที่ชี้ให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องกับแบรนด์ ดังนั้น จึงไม่สามารถติดตามหรือระบุรูปภาพเหล่านั้นได้ด้วยเครื่องมือ Social Listening แบบดั้งเดิมที่เคยใช้กันมา ซึ่งหมายความว่านักการตลาดก็ยังคงไม่สามารถใช้ประโยชน์จากปรากฎการณ์การแชร์รูปภาพที่กระหึ่มโลกออนไลน์ที่กำลังเกิดขึ้นได้
ดังนั้น เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์วิทัศน์จะเข้ามาช่วยเพิ่มความสามารถในการตรวจจับและระบุรูปภาพเป็นสิบๆ ล้านภาพที่ถูกโพสต์สู่โลกออนไลน์ได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งจะสร้างช่องทางที่ทรงประสิทธิภาพที่จะช่วยให้แบรนด์สามารถเข้าถึงลูกค้าได้โดยตรง
ด้วยเหตุนี้เอง สตาร์ทอัพอย่าง GumGum และเหล่ายักษ์ใหญ่อย่าง Google และ IBM ถึงได้ก้าวเข้ามาเป็นผู้บุกเบิกนวัตกรรมด้านคอมพิวเตอร์วิทัศน์นี้ อย่างเทคโนโลยีการระบุหน้าคนของ Facebook ในปัจจุบัน ก็พัฒนาจนเรียกได้ว่าเกือบแม่นยำเทียบเท่าสมองมนุษย์แล้ว
ในขณะที่ข้อมูลด้านภาพในโลกอินเทอร์เน็ตเติบโตอย่างต่อเนื่อง และรูปภาพได้เข้ามาแทนที่ข้อความ ในฐานะเครื่องมือในการสื่อสารหลักที่ผู้คนเลือกใช้ ความสำคัญของนักวิทยาศาสตร์ด้านภาพและศาสตร์ด้าน Image Visualจะพุ่งทะยานถึงขีดสุด แล้วคำว่า Computer Vision, Image Science, Image Recogniton จะไม่ใช่คำที่ไกลตัวเราอีกต่อไป
ที่มา Image Science: The Next Big Bang in Digital Marketing