‘โมบายแอป’ กลยุทธ์ใหม่โลกดิจิตอล

แอปพลิเคชันบนมือถือเป็นสิ่งที่เราเริ่มคุ้นเคยและใช้งานกันตั้งแต่มี 3G โดยการใช้งานนั้นก็ไม่ได้ยุ่งยาก แถมยังช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้นเพราะสามารถนำมาใช้ตอบสนองต่อการใช้งานใน ชีวิตประจำวันได้ในหลายรูปแบบ และเมื่อการมาถึงของ 4G ทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตมีประสิทธิภาพมากขึ้น เร็วขึ้น ส่งผลให้ไม่เพียงแต่ใช้งานแอปพลิเคชันได้มากกว่าแค่ความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังสามารถเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจได้อีกด้วย

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ระบุว่าคนไทยใช้สมาร์ทโฟนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงเป็นอันดับ 1 ถึง 82.1% หรือเฉลี่ย 5.7 ชั่วโมงต่อวันและจากผลสำรวจของ Nielsen ในสหรัฐฯ พบว่า ผู้ใช้สมาร์ทโฟนใช้เวลาอยู่กับโมบายแอปพลิเคชันถึง 89% ประกอบกับในขณะนี้เครือข่าย 4G ของเมืองไทยก็พร้อมให้บริการในทุกโอเปอเรเตอร์แล้ว และครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ในเมืองไทย ดังนั้นแอปพลิเคชันจะกลายเป็นฟังก์ชันหลักที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ด้วยความพร้อมทั้งด้านเครือข่ายไร้สาย และปัจจุบันได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชันให้ได้ใช้งานกันมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้งานทางธุรกิจ ดังนั้นผู้ประกอบการไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้เครื่องมือนี้เป็นหนึ่งในการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันทั้งจากคู่แข่งในประเทศเองหรือแม้แต่คู่แข่งที่กำลังเข้ามาอย่างเพื่อนบ้านในเออีซี เพราะในยุคดิจิตอลนี้เมื่อดูจากโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคมแล้ว นาทีนี้ไทยดูจะได้เปรียบมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

แอปพลิเคชันเพื่อธุรกิจกลยุทธ์ใหม่ยุคดิจิตอล

ทรงยศ คันธมานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรดดี้แพลนเน็ต จำกัด กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทำให้เกิดแพลตฟอร์มใหม่หลากหลายแพลตฟอร์ม และส่งผลทำให้การทำงานมีการเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงต้องทำการปรับตัวให้ทันต่อเทคโนโลยีและพฤติกรรมใหม่ๆ ของผู้บริโภค ด้วยการใช้เครื่องมือที่ทันสมัยเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจและช่วยสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า

โมบายแอปพลิเคชัน นับเป็นโอกาสใหม่ที่ทุกธุรกิจควรหันมาให้ความสำคัญ โดยเฉพาะธุรกิจบริการหรือธุรกิจที่มีฐานลูกค้าประจำ ที่ต้องการเน้นการสื่อสารเพื่อเพิ่มยอดขาย รวมไปถึงการรักษาความสัมพันธ์ ซึ่งในขณะนี้ได้มีการพัฒนาโมบายแอปพลิเคชันให้ลองเลือกใช้กันแล้วมีทั้งแบบ ใช้ฟรี และเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในลักษณะของการเช่าใช้ สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามต้องการ โดยที่ไม่จำเป็นต้องหาบริษัทมาพัฒนาเองซึ่งจะเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่า ซึ่งที่ผ่านมาการเลือกพัฒนาโมบายแอปพลิเคชันนั้น จำเป็นต้องใช้เงินทุนสูงในหลักล้านบาท

แต่การเลือกใช้ของผู้ให้บริการนั้นจะเสียค่าใช้จ่ายในหลักพันบาท และจะมีการเพิ่มฟีเจอร์ต่างๆ ก็จ่ายเป็นจำนวนตามนั้น ถือเป็นการเช่าใช้โดยที่ไม่ต้องมาดูแลระบบเอง ข้อดีของแอปพลิเคชันบนมือถือคือ สามารถนำเสนอข้อมูลสินค้าและบริการ ส่งตรงไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เนื่องจากลูกค้าในปัจจุบันมีการใช้งานมือถือกันแทบตลอดเวลาอยู่แล้ว โดยเฉพาะลูกค้าในเมืองไทยที่นิยมใช้งานโซเชียลมีเดียกันเกือบจะครึ่งประเทศ รวมไปถึงยังตอบสนองการทำตลาดในยุคดิจิตอลได้เป็นอย่างดี

การเลือกใช้งานแอปพลิเคชันบนมือถือนั้น ยังเพิ่มยอดขายได้ด้วยการใส่ฟังก์ชันที่สามารถสร้างโปรโมชันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งข้อมูลข่าวสาร การออกโปรโมชันเพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงเวลาที่กำหนด หรือแม้กระทั่งการสร้างระบบการประมูลเพื่อให้ลูกค้าได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วม โดยการใช้โปรโมชันผ่านมือถือนั้นนอกจากจะช่วยสร้างแบรนด์ แล้วยังสามารถรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM) ได้อีกด้วย และที่สำคัญคือช่วยลดค่าใช้จ่ายในการสื่อสารกับกลุ่มลูกค้า

นอกจากนี้การให้บริการแอปพลิเคชันในปัจจุบันยังสามารถเลือกที่จะทำภายใต้แบรนด์ตัวเอง หรือเพื่อการใช้เฉพาะงานอย่างเช่นการอบรมสัมมนา กลุ่มธุรกิจโรงแรม เฮลธ์แคร์ คลินิค รวมไปถึงร้านอาหารกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับบริการ มีราคาบริหารจัดการแอปพลิเคชันเริ่มต้นที่ประมาณ 30,000 บาท เท่านั้น

559000004661103

แอปสำหรับธุรกิจเฉพาะด้านการใช้งานเพื่อลดต้นทุน

เดิมทีการจัดอบรมหรือสัมมนาสักงานหนึ่ง การเตรียมเอกสาร การออกบัตรเชิญ หรือแม้แต่การลงทะเบียนหน้างาน เป็นเรื่องที่สร้างต้นทุนให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการจะจัดงานสัมมนาค่อนข้างมาก แต่ด้วยโมบายแอปพลิเคชันในปัจจุบันทำให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้สามารถทำได้ง่ายขึ้น และประหยัดต้นทุน ลดการใช้กระดาษเเละบุคลากรขององค์กรลงได้ถึง 80% โดยสมาชิกที่จะเข้าร่วมสัมมนายังสามารถเข้าถึงข้อมูลได้จากทุกที่ เนื่องจากระบบช่วยซิงค์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่างๆ อาทิ รายละเอียดของสมาชิก กำหนดการ เอกสารข้อมูล ที่จำเป็นต้องรู้ไว้ได้อย่างครบครัน เรียกได้ว่าสามารถดัดแปลงแก้ไขได้อย่างทันท่วงที

ล่าสุดนอกเหนือไปจากการพัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถือให้สามารถใช้งานได้อย่างหลาก หลายแล้ว ยังได้มีการนำเทคโนโลยี QR Code เข้ามาร่วมกัน เพื่อให้สามารถตอบสนองการตลาดแบบต้องการรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าในลักษณะ ที่เรียกว่า Customer Relationship Managment หรือ CRM

รฐนนท์ พลานนท์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท คิวเพย์ จำกัด กล่าวว่า การขยายโครงข่าย 4G จะทำให้ โมบาย แอปพลิเคชัน มีการใช้งานเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย และเป็นโอกาสดีที่จะช่วยให้ธุรกิจต่างๆ สามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาโมบายแอปแนวใหม่ที่มีการผสมผสานฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลายเพื่อให้สามารถใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น ตอบสนองกับการใช้งานของคนส่วนใหญ่ที่ปัจจุบันเริ่มเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่าน อุปกรณ์มือถือมากขึ้น ซึ่งการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจด้วยโมบายแอปนี้จะสามารถสื่อสารข้อมูลตรงไปยังกลุ่มลูกค้าได้อย่างตรงเป้าหมายและมีประสิทธิภาพ

สำหรับการนำ QR Code มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของแอปพลิเคชันนั้น จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างระบบบัตรสมาชิกอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะสามารถมอบสิทธิพิเศษต่างๆ ให้กับสมาชิกได้ โดยร้านค้าสามารถออกแบบบัตรสมาชิกได้ด้วยตัวเอง รวมทั้งสามารถติดต่อสื่อสารกับสมาชิกได้ผ่านการแชทและส่งข้อความ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำบัตรและการติดต่อกับสมาชิกได้อีก

นอกจากนี้ ระบบล็อกอินซึ่งเป็นระบบล็อกอินเว็บไซต์ผ่านระบบ QR Code เพื่อความปลอดภัยในการเข้าใช้งานเว็บไซต์ หรือโปรแกรมภายในองค์กร สามารถลดค่าใช้จ่ายเรื่อง OTP ให้กับเว็บไซต์ต่างๆ นอกจากนี้ยังสามารถสร้างระบบการลงทะเบียน หรือที่เรียกว่าเป็นระบบตั๋วอิเล็กทรอนิคส์ ที่ใช้สำหรับงานอีเวนต์ต่างๆ ซึ่งผู้จัดงานสามารถออกแบบ e-ticket ได้เอง และสามารถจำหน่ายหรือเปิดให้ดาวน์โหลด e-ticket ได้ทางสื่อออนไลน์ต่างๆ ทั้งเฟซบุ๊ก ไอจี และเว็บไซต์ ได้อีกด้วย

และด้วยเทคโนโลยี QR Code นี้ ผู้ประกอบการยังสามารถสร้างระบบคูปองสะสม แบบอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างง่ายดาย ช่วยสร้าง Loyalty Program สำหรับร้านค้าต่างๆ เช่น คูปองสะสม ซื้อกาแฟ 10 แก้ว ฟรี 1 แก้ว เพื่อลดค่าใช้จ่าย พร้อมเพิ่มความสะดวกให้ลูกค้าสามารถเช็กแต้มสะสมทางออนไลน์ได้อีกด้วย ที่สำคัญการใช้งานในรูปแบบของ QR Code นั้นจะสามารถใช้งานได้ทั้งแบบออนไลน์ ออฟไลน์ เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ กับลูกค้า ได้อีกด้วย

โลกออนไลน์การใช้งานแอปพลิเคชันต้องปลอดภัย

อาโมล มิตรา ผู้จัดการทั่วไป ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและประเทศญี่ปุ่น ฝ่ายดูแลผลิตภัณฑ์ Aruba, Hewlett Packard Enterprise company กล่าวว่า การใช้งานแอปพลิเคชันที่อยู่บนคลาวด์เพื่อตอบรับต่อพฤติกรรมในการทำงานรูปแบบใหม่ของกลุ่ม GenMobile ซึ่งเป็นเหล่าพนักงานที่ทำงานโดยใช้อุปกรณ์พกพาเป็นหลักนั้น องค์กรจำเป็นต้องเลือกโซลูชันระบบเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพ สามารถตรวจสอบค่าต่างๆ หลากหลายได้ล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็น เวลาที่อุปกรณ์พกพาใช้ในการเชื่อมต่อกับสัญญาณไว-ไฟ เวลาที่ใช้ในการยืนยันตัวตน เวลาที่ใช้ในการรับ IP Address เป็นต้น เพื่อทำให้ผู้ใช้งานมีประสบการณ์ในการทำงานได้อย่างต่อเนื่องด้วย ประสิทธิภาพการทำงานสูงสุดสำหรับการใช้งานแอปพลิเคชันเหล่านั้น

โดยอรูบ้ามีโซลูชันระบบบริหารจัดการเครือข่าย Aruba AirWaveที่จะช่วยให้ฝ่ายไอทีสามารถใช้ในการเข้าถึงเนื้อหาเว็บไซต์ในหมวด หมู่ที่มีความสำคัญและความน่าเชื่อถือต่ำได้ ทำให้การจัดการปัญหานี้ในเชิงรุกสามารถเป็นจริงขึ้นมาได้ และทำให้ประสิทธิภาพของไว-ไฟดีขึ้น ส่งผลให้การใช้งานอุปกรณ์และแอปพลิเคชันบนคลาวด์ที่เชื่อมต่อผ่านระบบเครือข่ายขององค์กรปลอดภัย สามารถปกป้องอุปกรณ์ ระบบเครือข่าย และแอปพลิเคชันจากภัยคุกคามต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที ทั้งระบบเครือข่ายแบบมีสายและไร้สาย

ที่มา: Cyber Weekend