ไขกลยุทธ์ เจาะตลาดแรงงานเมียนม่าในไทย มูลค่า 2 หมื่นล้าน

ปัจจุบัน ชาวเมียนมาเข้ามาทำงานในประเทศไทย ทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย เกินกว่า 2.3 ล้านคน โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนประมาณ 9,000 บาท เกิดเม็ดเงินจากชาวเมียนมาที่ใช้จ่ายหมุนเวียนในไทยราว 20,700 ล้านบาท

จากตัวเลขดังกล่าว นับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่จะขายสินค้าต่างๆ สำหรับลูกค้ากลุ่มนี้โดยเฉพาะ ดังนั้น วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) โดยนักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาการตลาด ได้จัดทำการสำรวจและวิจัย ในหัวข้อ “เจาะตลาดอย่างไร ให้ตรงใจแรงงานเมียนมาในไทย” เพื่อนำเสนอข้อมูลโอกาสทางการตลาด ตลอดจนแนะกลยุทธ์ที่จะเอาชนะใจลูกค้าแรงงานเมียนมาในไทยให้สำเร็จ

1_marketing

นายบุริม โอทกานนท์ รองคณบดีงานสนับสนุนการศึกษา และอาจารย์ประจำสาขาการตลาดวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU)

เผยกำลังซื้อมหาศาลจากลูกค้า 2.3 ล้านคน

นายบุริม โอทกานนท์ รองคณบดีงานสนับสนุนการศึกษา และอาจารย์ประจำสาขาการตลาดวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เผยว่า ชาวเมียนมาประกอบไปด้วย 135 กลุ่มชาติพันธุ์ ส่วนใหญ่ที่พบในเมืองไทยคือ พม่า ไทใหญ่ กะเหรี่ยง มอญ คะฉิ่น ยะไข่ ว้า คะยา ปะยู เป็นต้น เดินทางเข้าประเทศไทยผ่านด่านชายแดนสำคัญ ได้แก่ สะพานข้ามแม่น้ำสาย เขตเทศบาลแม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย สะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่2 ต. สันผักฮี้ อ. แม่สาย จ. เชียงราย บ้านริมเมย หมู่ 2 ต. ท่าสายลวด อ. แม่สอด จ. ตาก และท่าเทียบเรือสะพานปลา ต. บางริ้น อ. เมือง จ. ระนอง

ข้อมูลจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ประมาณจำนวนชาวเมียนมาในไทยที่เดินทางเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย 1,053,337 คน และไม่ถูกกฎหมายสูงถึงประมาณ 1.3 ล้านคน รวมแล้วมีแรงงานเมียนมาเข้ามาทำงานในไทยกว่า 2.3 ล้านคน ประกอบอาชีพต่างๆ ได้แก่ โรงงาน ก่อสร้าง ค้าปลีกค้าส่ง เกษตรและประมง และอื่นๆ โดยรายได้เฉลี่ยของแรงงานเหล่านี้อยู่ที่ประมาณ 9,000 บาทต่อเดือนส่วนใหญ่ได้ค่าจ้างเป็นรายวันและรายสัปดาห์

2_marketing

ทั้งนี้ มีเม็ดเงินจากแรงงานเมียนมาหมุนเวียนในประเทศไทยราว 20,700 ล้านบาท ซึ่งข้อมูลต่างๆเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มแรงงานชาวเมียนมาเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเป้าหมายที่น่าจับตามองของเหล่านักการตลาดไทย โดยกลุ่มสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดกลุ่มนี้ ได้แก่ 1. ของใช้ภายในครัวเรือน 2. เสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัว 3. เครื่องดื่มชูกำลัง 4. อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ 5. ทองคำ ซึ่งแรงงานชาวเมียนมาจะซื้อเพื่อตนเองใช้ และยังนิยมซื้อเมื่อกลับภูมิลำเนาอีกด้วย ซึ่งในแต่ละเดือนแรงงานชาวเมียนมา จะส่งเงินกลับบ้านประมาณ 3,000 บาท หรือประมาณ 30% ของรายได้ เท่ากับแรงงานเมียนมาที่มาทำงานในไทยจะส่งเงินกลับบ้านรวมกว่า 60,000 ล้านบาทต่อปี

ดังนั้น ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่หากสามารถเปลี่ยนเงินสดที่แรงงานเมียนมาจะส่งกลับบ้านเกิด ให้มาเป็นการใช้จ่ายหมุนเวียนในประเทศไทย หรือซื้อสินค้าไทย จะเป็นโอกาสที่ดีกว่าของผู้ประกอบการไทย

3_marketing

นางสาวชัญญพัชร บุนนาค นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU)

เผยพฤติกรรมการซื้อสินค้า มักเกิดจากความเคยชิน

นางสาวชัญญพัชร บุนนาค นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) และตัวแทนโครงการวิจัย “เจาะตลาดอย่างไร ให้ตรงใจแรงงานเมียนมาในไทย” เผยว่า จากการศึกษาวิจัย และสำรวจกลุ่มตัวอย่างแรงงานชาวเมียนมา พบว่า ลักษณะนิยมเด่นของชาวเมียนมา คือ ใช้ชีวิตเรียบง่าย รักพวกพ้อง และบ้านเกิด

ด้าน พฤติกรรมการซื้อสินค้าของแรงงานชาวเมียนมาในประเทศไทยคือ ใช้เวลาเลือกและตัดสินค้าซื้อสินค้าไม่นาน ชอบมีเพื่อนไปซื้อของด้วยกัน มักซื้อสินค้าราคาไม่สูง ไม่ต่อราคาสินค้า และที่สำคัญ มักซื้อสินค้าจากความเคยชิน โดยเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วในประเทศเมียนมา มีความคุ้นเคย ความไว้วางใจในสิ่งที่เคยใช้

4_marketing

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งในข้อมูลที่น่าสนใจที่ได้จากการทำวิจัยกับกลุ่มเป้าหมายแรงงานชาวเมียนมา คือ ผู้ที่มีอิทธิพล (Influencer) ต่อการเลือกซื้อสินค้าของชาวเมียนมามากที่สุดคือ “คนใกล้ชิด” โดยอาจจะเป็นเพื่อนชาวเมียนมาด้วยกัน หรือชาวเมียนมาที่ทำงานมาก่อน ฉะนั้นแล้วเรื่องของหลักการตลาดแบบ “ปากต่อปาก” (Word of Mouth) จึงเป็นหลักสำคัญที่นักการตลาดต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษหากต้องการเจาะกลุ่มเป้าหมายแรงงานชาวเมียนมา โดยช่องทางการตลาด (Marketing Channel) ที่ต้องมุ่งเน้นเป็นพิเศษ คือ การทำการตลาดออนไลน์ (Online Marketing) โดยเฉพาะ การทำการตลาดบนเฟสบุ๊ค (Facebook) ที่แรงงานชาวเมียนมากว่า 60% ให้ความสนใจ และถือเป็นช่องทางที่มีอิทธิพลมากที่สุด ตามด้วยโทรทัศน์ ประมาณ 40%

สำหรับไลฟ์สไตล์ของชาวเมียนมาในเมืองไทย มักจะนัดกลุ่มเพื่อนๆ ออกเที่ยวในวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิต คือ ห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะอิมพีเรียลลาดพพร้าว อิมพีเรียลสำโรง และเซ็นทรัลพระราม2 นอกจากนั้น นิยมเที่ยวตามสวนสาธารณะต่างๆ

5_marketing

ด้านโปรโมชั่นการขายที่ถูกใจชาวเมียนมาที่สุด ได้แก่ ซื้อ 1 แถม 1 โดยให้หยิบของแถมเอง เพราะคนเมียนมามักไม่ไว้ใจของแถมหรือของที่ทำโปรโมชัน เนื่องจากประสบการณ์จากบ้านเกิด ของแถมมักหมดอายุหรือคุณภาพไม่ดี ตามด้วยลดราคา 50% และตามด้วยให้ทดสอบสินค้า ณ จุดขาย

แนะกลยุทธ์“NO FEARS” ชนะใจผู้ซื้อชาวชาวเมียนมา

นางสาวชัญญพัชร เผยด้วยว่า การทำการตลาดกับกลุ่มแรงงานชาวเมียนมา ไม่จำเป็นต้องใช้จำนวนเงินมากมาย แต่ต้องใช้ความเข้าใจและจริงใจ โดยสิ่งสำคัญที่อยู่ในใจแรงงานเมียนมาในประเทศไทย คือ “ความกลัว” ในเรื่องต่างๆ เช่น กลัวตำรวจจับ กลัวถูกรังแก กลัวถูกหลอก กลัวถูกดูถูก ฯลฯ รวมถึง ไม่มั่นใจเรื่องภาษา มีปัญหาทางด้านการสื่อสาร ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่จะขายสินค้าให้ชาวเมียนมา ต้องทำให้เกิดความไว้วางใจ และให้เกียรติชาวเมียนมา

6_marketing

ด้วยลักษณะสำคัญของชาวเมียนมาที่มีความกังวลหรือกลัวสูงดังกล่าว ดังนั้น นำไปสู่กลยุทธ์ 7 ข้อภายใต้คอนเซ็ปต์ “NO FEARS” เพื่อเจาะตลาดแรงงานชาวมียนมาอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่

N – Network : ทำให้สินค้าหรือบริการเป็นที่รู้จักผ่านเพื่อนฝูง คนรู้จักในหมู่แรงงานพม่า

O – Open-minded : เปิดใจว่าแรงงานเมียนมาก็เหมือนคนไทย

F – Fairness : ให้ความเท่าเทียม มีความยุติธรรม

E – Experience : เปิดโอกาสให้ได้ทดลองใช้ และมีกิจกรรมต่างๆที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรง

A – Awareness : ช่วยลดปัญหาเรื่องการสื่อสาร และสนับสนุนการรับรู้ด้วยการรองรับภาษาเมียนมา

R – Relationship : สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และสร้างความไว้ใจให้กับกลุ่มเป้าหมาย

S – Simple : ทำการตลาดด้วยวิธีง่ายๆ ไม่ซับซ้อน

7_marketing

ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่สำรวจร้านค้าในแหล่งชอปปิ้งยอดฮิตต่างๆ ของชาวเมียนมานั้น ทำให้เห็นลักษณะร้านค้าที่สามารถจูงใจลูกค้าชาวเมียนมาได้เป็นอย่างดี แบ่งเป็น 3 ระดับ

1. ระดับ Good จะมาป้ายภาษาเมียมาบอกประเภทสินค้าและราคาอย่างชัดเจน
2. ระดับ Better มีพนักงานขายเป็นชาวเมียนมา และมีรีวิวสินค้าในออนไลน์ตามสื่อของชาวเมียนมา
3. ระดับ Best เข้าไปทำกิจกรรมต่างๆ ในชุมชนของชาวเมียนมา เพื่อสร้างความคุ้นเคยไว้วางใจ รวมถึง มีกิจกรรมส่งเสริมการตลาดสำหรับชาวเมียนมาโดยเฉพาะ

นอกจากนั้น สิ่งที่ไม่ควรทำ เมื่อต้องค้าขายกับชาวเมียนมา เช่น ไม่ควรเรียกพวกเขาว่าชาว “พม่า” เนื่องจากประเทศเมียนมามีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูงมาก ดังนั้น ควรจะเรียกพวกเขาว่า ชาว “เมียนมา” ถือเป็นคำที่ถูกต้อง เพราะใช้เรียกรวมของทุกชาติพันธุ์ นอกจากนั้น ต้องไม่เอารัดเอาเปรียบ หรือถูกดู เนื่องจากชาวเมียนมาที่มาทำงานในเมืองไทย มีความกลัวเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ถ้าไม่ได้รับความยุติธรรมจะยิ่งเพิ่มความกังวลมากขึ้นไปอีก

เปิดโผสินค้าไทยยอดฮิตในหมู่ชาวเมียนมา

นางสาวชัญญพัชร ระบุด้วยว่า สำหรับสินค้าไทยที่ชาวเมียนมา นิยมซื้อหา ทั้งซื้อไว้ใช้เอง และซื้อเพื่อนำกลับบ้านเกิด ได้แก่ 1. ของใช้ภายในครัวเรือน 2. เสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัว 3. เครื่องดื่มชูกำลัง 4. อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ 5. ทองคำ

8_marketing

สำหรับแบรนด์ยอดฮิต แยกเป็นรายประเภทสินค้า ได้แก่
แชมพู
อันดับ 1 คือ SUNSILK จำนวน 30.1%
อันดับ 2 คือ head&shoulders จำนวน 26%
อันดับ 3 คือ CLEAR จำนวน 24.7%

สบู่
อันดับ 1 คือ LUX จำนวน 48%
อันดับ 2 คือ นกแก้ว จำนวน 27.9%
อันดับ 3 คือ อิงอร จำนวน 8.8%

ยาสีฟัน
อันดับ 1 คือ Colgate จำนวน 75%
อันดับ 2 คือ DARLIE จำนวน 16.9%
อันดับ 3 คือ ดอกบัวคู่ จำนวน 3.4%

สำหรับสินค้าราคาสูงที่จะยอมจ่าย ได้แก่ ทองคำ สมาร์ทโฟน เครื่องแต่งกาย และเครื่องสำอาง ส่วนสินค้าที่นิยมซื้อกลับบ้านเกิด ได้แก่ของใช้ในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า อาหาร ของใช้ส่วนตัวต่างๆ และยารักษาโรค โดยกลุ่มตัวอย่างเผยว่า กลับบ้านแต่ละครั้งจะซื้อสินค้ามากกว่า 3,000 บาท

นางสาวชัญญพัชร กล่าวด้วยว่า จากการเก็บข้อมูลด้วยวิธีสัมภาษณ์แรงงานชาวเมียนมาที่ทำงานในโรงงาน ทำงานบริการ และผู้ช่วยแม่บ้าน จำนวน 200 คน พบกว่า 96% ของแรงงานเมียนมาคิดว่าประเทศไทยทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้น 52% ของแรงงานเมียนมาวางแผนจะอยู่ในประเทศไทยมากกว่า 5 ปีขึ้นไป และ 66% ของแรงงานเมียนมาวางแผนจะอยู่ในประเทศไทยหากได้รับใบอนุญาตถาวร

จากผลสำรวจดังกล่าว สรุปว่า ประเทศไทยในความคิดของชาวเมียนมาเป็นดินแดนที่น่าเข้ามาอยู่ ทั้งประกอบอาชีพและใช้ชีวิต จึงมีแนวโน้มจะเดินทางเข้ามาอีกจำนวนมาก และต่อเนื่อง จึงเป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้ทั้งนักการตลาด และผู้ประกอบการไม่ควรมองข้ามกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้

9_marketing

 

ที่มา : http://www.manager.co.th/iBizchannel/ViewNews.aspx?NewsID=9590000047903