บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) บริษัทวิจัยพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคเชิงลึก ในกลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภค หรือ FMCG ได้เปิดเผยข้อมูลวิจัยพบว่า “แนวโน้มเศรษฐกิจที่ซบเซา ในไตรมาสที่ 1 ของปี ส่งผลกระทบต่อ พฤติกรรมนักช็อปไทย ในกลุ่มสินค้า FMCG ลดต่ำลงต่อเนื่อง
ชาเขียว นม ครีมเทียมยอดตก
มาดูกันว่า FMCG กลุ่มไหนที่ได้รับผลกระทบยอดขายในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 ลดต่ำลง ผลวิจัยของกันตาร์พบว่า 40% ของกลุ่มสินค้า FMCG ที่มียอดขายตกลงอย่างต่อเนื่อง ในอัตรา 10 – 20 % ประกอบไปด้วย ชาพร้อมดื่ม ชาสำเร็จรูป Instant TDF, นมพาสเจอร์ไรส์ UHT TDF, ครีมเทียมสำหรับกาแฟ, กลุ่ม ผลิตภัณฑ์ใบมีดโกน และ โทนเนอร์ และกลุ่ม ประเภทซีเรียล หรือ ผลิตภัณฑ์จากธัญพืช
เผย 3 หมวดสินค้ายอดโต 10%
ส่วนกลุ่มสินค้าทียังคงรักษาอัตราการเติบโต 10% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 พบว่า กระดาษเช็ดหน้า (Facial Tissue) ผลิตภัณฑ์กันแดด ครีมล้างหน้า มาสค์ นมถั่วหลืองสเตอริไรส์ น้ำดื่มบรรจุขวด และกาแฟพร้อมดื่ม ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 60% จากสินค้า FMCG ทั้งหมด
ผู้ชายตัดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น ผู้หญิงต้องสวยไว้ก่อน
กันตาร์ตั้งข้อสังเกตว่าการที่กลุ่มสินค้าใบมีดโกนโทนเนอร์โกนหนวดมียอดขายลดลงนั้นมาจากพฤติกรรมของผู้ชายเมื่อเจอภาวะเศรษฐกิจซบเซามักจะเลือกลดค่าใช้จ่ายในผลิตภัณฑ์กลุ่มดังกล่าวเพราะมองว่าสิ้นเปลืองสามารถใช้อุปกรณ์อื่นๆแทนได้
ในขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์กันแดดครีมล้างหน้าหรือมาสค์หน้ายังคงเติบโตได้มากกว่า 10% มาจากพฤติกรรมของผู้หญิงต่อให้เศรษฐกิจไม่ดีก็ยังต้องการให้ตัวเองดูดีอยู่เสมอ
คนไทย 4.5 แสนคน ซื้อสินค้า FMCG น้อยลง
เมื่อดูถึงภาพรวมของจำนวนครัวเรือน จะพบว่า มีครัวเรือนที่ซื้อสินค้า FMCG ลดลง ไปประมาณ 2.3% จาก 22 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็น 4.5 แสนคนที่ซื้อสินค้า FMCG น้อยลง
ในขณะที่มีจำนวนครัวเรือนซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น 1.3% จาก 22 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็น 2.5 แสนครัวเรือน
“ช้อป ผลิตภัณฑ์” น้อยลง
เมื่อนำกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ซื้อประจำมาเปรียบเทียบระหว่างไตรมาสแรก ปี 2014 และไตรมาสแรกของปี 2016 ผลปรากฎว่า คนไทยซื้อกลุ่มผลิตภัณฑ์ลดลง 2 กลุ่มผลิตภัณฑ์ เช่น ชาเขียวพร้อมดื่มครีมโกนหนวด
- ไตรมาสแรก ปี 2014 คนไทยซื้อ 43 ผลิตภัณฑ์
- ไตรมาสแรก ปี 2016 คนไทยซื้อ 41 กลุ่มผลิตภัณฑ์
ความถี่ในการซื้อน้อยลง
เมื่อลงลึกถึงพฤติกรรมในการช้อปสินค้าในร้านค้าปลีก พบว่า ความถี่ในการซื้อลดลงจาก 43 เหลือ 41 หมวดผลิตภัณฑ์นั้นลดลงการช้อปทั้งในไฮเปอร์มาร์เก็ตซุปเปอร์มาร์เก็ตร้านสะดวกซื้อและร้านโชวห่วย
แต่ใช้จ่ายต่อครั้งเพิ่มขึ้น
ถึงแม้ความถี่ในการซื้อสินค้าจะลดลงทุกช่องทางของค้าปลีกแต่เม็ดเงินในการช้อปต่อครั้งกลับเพิ่มขึ้นทุกช่องทาง
ซื้อ “แพคใหญ่”ขึ้นเพราะคุ้มค่ากว่า
บางคนอาจคิดว่าภาวะเศรษฐกิจไม่ดีคนส่วนใหญ่อาจเลือกซื้อสินค้าที่มีขนาดบรรจุภัณฑ์เล็กลงแต่ในความเป็นจริงแล้วมีบางผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคซื้อขนาดบรรจุภัณฑ์ใหญ่ขึ้นถึง 16% เช่น นมผง,รังนก,แชมพู,ผงซักฟอก,น้ำยาทำความสะอาดบ้าน,น้ำยาบ้วนปาก เพราะมองว่าคุ้มค่ามากกว่า
งดช้อปสินค้าพรีเมียม
ภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ยังไม่ใช่เวลาของสินค้า “พรีเมียม” เนื่องจากผู้บริโภคลดการซื้อสินค้า FMCG ในระดับพรีเมียม และหันมาซื้อสินค้าในหมวดเหล่านี้ในราคาถูกลง เช่น ผลิตภัณฑ์เส้นผม สบู่ ครีมล้างหน้า แปรสีฟัน น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า