“ฐากร” เผย 5 ช่องทีวีดิจิตอลไม่จ่ายค่าใบอนุญาตงวดที่ 3 จำนวน 2 พันกว่าล้านบาท ตามเวลาที่กำหนด ชี้ดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี เดินหน้าทันที ให้เวลา 1-2 สัปดาห์รอเหตุผลที่ไม่จ่าย ด้านกลุ่มทีวีดิจิตอล 5 ช่อง ส่งหนังสือถึง กสทช.แจงรอคำสั่งศาลหลังนัดไต่สวนวันที่ 27 พ.ค.นี้ หากคำสั่งศาลเป็นเช่นไรพร้อมดำเนินการตามกฎหมาย
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ในวันที่ 23 พ.ค. เป็นวันครบกำหนดของการจ่ายค่าใบอนุญาตทีวีดิจิตอลงวดที่ 3 แต่ปรากฏว่า มีทีวีดิจิตอล จำนวน 5 ช่อง ได้แก่ ช่องวัน ช่องจีเอ็มเอ็ม แชนแนล ช่องพีพีทีวี ช่องไทยรัฐทีวี และช่องไบรท์ ทีวี ไม่มาชำระเงินรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,388.882 ล้านบาท ทำให้มีผู้มาชำระเงินเพียง 17 ช่อง เป็นจำนวนเงิน 6,485.912 ล้านบาท ขณะที่ 2 ช่อง ของบริษัท ไทยทีวี จำกัด กสทช.ต้องเรียกเก็บค่าใบอนุญาตทีวีดิจิตอลงวดที่ 3 จำนวน 384.344 ล้านบาท กับธนาคารกรุงเทพ ตามที่ธนาคารได้เคยแจ้งไว้ตามสัญญาหนังสือค้ำประกันทางการเงินที่ทำไว้กับ ไทยทีวี ว่า ต้องจ่ายเงินทีละงวด
ทั้งนี้ กสทช.จะให้เวลาทีวีดิจิตอลทั้ง 5 ช่อง ประมาณ 1-2 สัปดาห์ก่อนว่ามีเหตุผลอะไรถึงไม่มาชำระเงินในระยะเวลาที่กำหนด หากมีเหตุผลว่ารอคำสั่งศาลปกครองที่จะดำเนินการไต่สวนฉุกเฉิน กสทช.ก็ต้องนำเรื่องให้ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ประชุมอีกครั้งหนึ่งว่ามีมติอย่างไร แต่ดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี จะเริ่มคิดตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (24 พ.ค.) ซึ่งมติ กสท.อาจจะพัก หรือเพิกถอนใบอนุญาตก็ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะกรรมการ โดยมติ กสท.ได้ยืนยันไปแล้วว่า ไม่สามารถเลื่อนชำระค่าใบอนุญาตงวดที่ 3 ได้ เพราะจะกระทบต่อการแข่งขัน และในงวดที่ 2 ที่ผ่านมา ก็ไม่ได้มีมติให้เลื่อนจ่าย
ด้าน นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด (BMB) ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ช่อง พีพีทีวี กล่าวในฐานะตัวแทนทีวีดิจิตอล 5 ช่องที่ไม่มาชำระเงินงวดที่ 3 ในเวลาที่กำหนด ว่า ต้องการรอคำสั่งศาลเรื่องผ่อนผันการชำระเงินไปก่อน ซึ่งทางศาลปกครองได้แจ้งให้ทราบเมื่อเวลา 13.30 น.ของวันนี้ (23 พ.ค.) ว่า จะมีการนัดไต่สวนในวันที่ 27 พ.ค. เวลา 13.30 น.เสียก่อน หากศาลมีคำสั่งอย่างไรก็พร้อมที่จะชำระค่าใบอนุญาตงวดที่ 3 พร้อมดอกเบี้ย ขณะที่ช่องเนชั่น ช่องนาว และช่องสปริงนิวส์ ยินดีจ่ายไปก่อนแต่ขอสงวนสิทธิในการฟ้องร้องเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ทีวีดิจิตอลทั้ง 8 ช่อง ได้ส่งหนังสือชี้แจงเรื่องดังกล่าวต่อ กสทช.แล้ว และยังคงเดินหน้าฟ้องร้อง กสทช.กับพวก เนื่องจาก กสทช.ไม่สามารถดำเนินการตามที่เคยประกาศ และสัญญาไว้ตั้งแต่ก่อนประมูล และภายหลังการได้รับใบอนุญาตแล้ว โดยละเว้น หรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดล่าช้าเกินสมควร ในการเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกสู่ระบบดิจิตอล จงใจ หรือประมาทเลินเล่อการกระทำการอันเป็นการละเมิด และใช้อำนาจไม่ถูกต้องตามหลักการปฏิบัติงานที่ดีแห่งรัฐมากว่า 2 ปี ส่งผลโดยตรงต่อผู้บริโภคไม่สามารถรับชมรายการโทรทัศน์คุณภาพใหม่ๆ ได้ ซึ่งไม่สอดคล้องต่อเจตนารมณ์ของรัฐบาล และกฎหมาย กลุ่มทีวีดิจิตอล จึงจำเป็นต้องใช้สิทธิอันชอบด้วยกฎหมายในการต่อสู้และเรียกร้องให้รัฐแก้ปัญหาอย่างจริงจั งและเร่งเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์ระบบแอนะล็อก สู่ระบบดิจิตอลโดยเร็วเพื่อให้ผู้ชมได้รับประโยชน์จากบริการทีวีดิจิตอลอย่างแท้จริง
ที่มา: http://manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000051718