ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (22 พ.ค. 2558) ที่ประชุม กสทช. วาระพิเศษได้มีการพิจารณาเรื่องการเลื่อนกำหนดระยะเวลาในการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ โดยได้พิจารณาความเห็นของสองหน่วยงานคือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานอัยการสูงสุด ที่มีหนังสือตอบกลับเข้ามาภายหลังจากที่สำนักงาน กสทช. ได้มีหนังสือสอบถามความเห็นเรื่องการเลื่อนกำหนดระยะเวลาในการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติไป
สตง. ให้ความเห็นว่า กสทช.ไม่สามารถเลื่อนระยะเวลาได้ เนื่องจาก ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ฯ และในเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ฯ ได้ระบุถึงระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมให้ใช้คลื่นความถี่ไว้อย่างชัด ซึ่งถือเป็นการทำสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างกัน ถ้ามีการเลื่อนกำหนดการชำระออกไปจะต้องมีการแก้ไขเงื่อนไขแนบท้าย ซึ่งจะทำให้ทางราชการได้รับความเสียหาย และเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน
ในส่วนของสำนักงานอัยการสูงสุด ให้ความเห็นว่า กสทช. ไม่อาจเลื่อนกำหนดระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ ออกไปได้ นอกจากจะได้มีการแก้ไขประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ฯ หรือออกประกาศฉบับใหม่โดยประกาศฉบับใหม่จะต้องไม่ทำให้รัฐเสียหาย กสทช. ต้องพิจารณาว่า การกระทำดังกล่าวจะมีผลเป็นการเอื้อประโยชน์แก่เอกชนบางรายหรือไม่ และจะเป็นการทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการหรือไม่
ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบกับความเห็นของทั้งสองหน่วยงาน จึงได้มีมติไม่ให้เลื่อนกำหนดระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติงวดที่ 2 และให้ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอล ทั้ง 24 ราย มาชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ ตามกำหนดระยะเวลาเดิม
ขณะนี้มีผู้เข้ามาชำระแล้ว 3 ราย รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,339,105,000 บาท สำหรับผู้ที่มาชำระแล้ว ได้แก่ บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ช่อง 7HD ชำระจำนวน 683,730,000 บาท บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด ช่อง Workpoint TV ชำระจำนวน 333,305,000 บาท และบริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด ช่อง MONO 29 ชำระจำนวน 322,070,000 บาท