ฟินเทคมาแรง “กรุงศรี ไรส์” ขอแจมบ้าง

ในช่วงปีที่ผ่านมาเรียกว่าเป็นปีทองแห่งธุรกิจฟินเทค (Financial Technology) เลยก็ว่าได้ เพราะด้วยเทรนด์การใช้จ่ายเงินผ่านโลกออนไลน์ และการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ผสมกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ชอบความสะดวก รวมไปถึงเรื่องลงทุนต่างๆ เป็นแรงผลักดันชั้นดีที่ทำให้ฟินเทคมีการเติบโต

นอกจากเราจะได้เห็นธุรกิจฟินเทค สตาร์ทอัพแล้ว ในส่วนของผู้เล่นในวงการการเงินโดยตรงอย่างธนาคารก็หันลงมาให้ความสำคัญกับฟินเทคมากขึ้น อย่างธนาคารกสิกรไทยได้เปิดกลุ่มธุรกิจใหม่ กสิกร บิสซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KASIKORN Business-Technology Group: KBTG) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีโลกการเงินใหม่โดยเฉพาะ และธนาคารไทยพาณิชย์ก็เตรียมตั้งบริษัทใหม่เพื่อพัฒนาธุรกิจด้านฟินเทคด้วยเช่นกัน

ซึ่งในกรณีนี้หลายคนอาจมองว่าการมาของฟินเทคจะกลายมาเป็นคู่แข่งกับธนาคารในการแย่งการบริการ ยิ่งมีความสะดวกมากเท่าไหร่ คนยิ่งใช้บริการจากธนาคารน้อยลง แต่จริงๆ ก็มีจุดอ่อนจุดแข็งแตกต่างกันออกไป โดยที่จุดแข็งของธุรกิจฟินเทคก็คือในเรืองไอเดียใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ การมองเทรนด์ หรือการแก้ไขปัญหาของผู้บริโภค แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องของความปลอดภัยที่ผู้บริโภคกังวลอยู่ และในเรื่องของการสร้างแบรนด์

การรับมือของเหล่าบรรดาธนาคารในตอนนี้จึงไม่มองฟินเทคเป็นคู่แข่งอีกแล้ว แต่เป็นการนำฟินเทคมาเป็นพันธมิตรเสียเลยเพื่อเสริมซึ่งกันกัน

ธนาคารกรุงศรีอยุธยาก็เป็นอีกรายหนึ่งที่ลงมาโฟกัสในธุรกิจฟินเทคมากขึ้น โดยที่จุดเริ่มต้นกรุงศรีฯ เองได้ศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจนี้ก่อน ให้ความสำคัญในการสนับสนุนโครงการสตาร์ทอัพมาตั้งแต่ปี 2558 แล้วจากโครงการ Krungsri Uni Startup เป็นการเฟ้นหาและพัฒนาสตาร์ทอัพเกี่ยวกับการเงินในกลุ่มนักศึกษา

หลังจากนั้นในปีนี้จึงได้เปิดเป็นโครงการ Krungsri RISE Fintech Accelerator เพื่อต่อยอดจากโครงการแรก ในครั้งนี้ได้ร่วมมือกับ RISE เป็น Corporate Accelerator แหล่งบ่มเพาะสตาร์ทอัพโดยเฉพาะ นอกเหนือจากการให้เงินทุน จะเป็นโครงการพัฒนาความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านฟินเทคและมีโอกาสต่อยอดความสำเร็จด้วยการได้ทำงานร่วมกับธนาคาร

จะเป็นในรูปแบบของบูทแคมป์ มีการคัดเลือกฟินเทคสตาร์ทอัพจำนวน 10 ทีม มาเข้าค่ายตลอด 8 สัปดาห์ จะมีรุ่นพี่ในวงการสตาร์ทอัพคอยให้คำปรึกษาแบบ 1-on-1

ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงก์กิ้ง และนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ทางเราได้เริ่มทำการศึกษาธุรกิจฟินเทคมาตั้งแต่ปี 2557 แล้ว ดูว่าส่งผลอย่างไรต่อวงการธนาคารบ้าง มีสตาร์ทอัพตัวไหนน่าสนใจ เพราะกระแสของฟินเทคมาแรงมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในปีที่แล้วมีโครงการที่สนับสนุนสตาร์ทอัพอย่างจริงจัง หลังจากนั้นเราเลยตกผลึกได้ว่าต้องเดินเกมคู่กันไปด้วยการเป็นพันธมิตรร่วมกันของฟินเทคเพื่อเสริมบางอย่างซึ่งกันและกัน”

โครงการนี้มีจุดเริ่มต้นจาก “นายแพทย์ศุภชัย ปาจริยานนท์” ผู้ก่อตั้ง และผู้บริหาร RISE มาเชิญชวนฐากร และกรุงศรีในการทำโครงการร่วมกัน ซึ่งการทำ RISE ก็เป็นบทบาทใหม่ของศุภชัยเหมือนกันเพิ่งก่อตั้งในปีนี้ หลังจากที่มีบทบาทเป็นทั้งหมอ อาจารย์ และทำดิจิทัล เอเจนซี่ McFIVA

ซึ่งศุภชัยเองมีแพชชั่นในธุรกิจฟินเทคอยู่แล้ว หลังจากที่เมื่อหลายปีก่อนได้ลงมือทำฟินเทคเป็นของตัวเองในชื่อโมบี้ เซต เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหุ้น ภายหลังเมื่อมีการเติบโตก็ได้ขายหุ้นออกไปเรียบร้อย และมาลุยทำเป็นแหล่งบ่มเพาะของตนเอง

KrungsriRISE_02

“RISE เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อการพัฒนาสตาร์ทอัพโดยเฉพาะ จะมีความแตกต่างจากโครงการพัฒนาสตาร์ทอัพของรายอื่นในตลาดอยู่ ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญในด้านใดโดยเฉพาะ เราจึงเลือกจับกับทางกรุงศรีฯ ก่อนเป็นเจ้าแรก เพราะเห็นเทรนด์การมาของฟินเทค ในอนาคตไรส์จะสามารถไปร่วมมือกับองค์กรไหนก็ได้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะในการสนับสนุนสตาร์ทอัพ ซึ่ง Accelerator มีบทบาทในเรื่องการการวางกลยุทธ์ การหาลูกค้า แต่จะทำคนเดียวไม่ได้ ต้องจับมือกับพาร์ทเนอร์ ทางกรุงศรีจะเข้ามามีบทบาทเรื่องข้อมูลฐานลุกค้าต่างๆ เรื่องพฤติกรรมผู้บริโภค”

ศุภชัยเสริมอีกว่า ในตอนนี้มีฟินเทค สตาร์ทอัพอยู่ราว 20-50 ราย ที่จะสามารถเข้าร่วมโครงการได้ ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มของเพย์เมนต์ แต่โครงการนี้ไม่มีการเงินรางวัลให้แก่ผู้ชนะ หรือพาไปดูงานที่ซิลิคอล วัลเล่ย์ แต่ถ้าในอนาคตมองว่าตัวไหนมีโอกาสในการเติบโต ก็จะสนับสนุนด้วยการลงทุนด้วย และอาจจะต่อยอดนำมาทำตลาดร่วมกันกับดิจิทัล เอเจนซี่ด้วย

ในเบื้องต้นสิ่งที่กรุงศรีฯ จะไดรับก็คือต้องการเรียนรู้จากสตาร์ทอัพต่างๆ ทั้งในเรื่องการมองเทรนด์ การแก้ไขปัญหาให้ลูกค้า โดยที่ทางกรุงศรีก็ได้สนับสนุนในเรื่องฐานลูกค้า และการสร้างแบรนด์ การหากลุ่มผู้ลงทุนให้ ซึ่งกรุงศรีได้คาดหวังว่าให้เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการให้ลูกค้า และด้วยความที่กรุงศรีเป็นบริษัทในเครือ มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) ทำให้มีคอนเน็คชั่นในการหาผู้ลงทุนจากต่างประเทศด้วย

โครงการนี้ยังมีกรุงศรี ไรส์ สเปซ ที่มีพื้นที่กว่า 500 ตารางเมตร ที่ชั้น 22 อาคารอัมรินท์ร์ พลาซ่า เพื่อเป็นแหล่งคอมมูนิตี้แก่สตาร์ทอัพ และเป็น Co-Working Space ให้กับสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการ