สรุปเทรนด์การเงินและฟินเทคที่น่าสนใจจากงาน Money20/20 Asia เมื่อตลาดเอเชียยังน่าสนในมุมมองต่างชาติ

สรุปเทรนด์และฟินเทค (FinTech) ที่น่าสนใจจากงาน Money20/20 Asia ซึ่งได้มาจัดในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงตลาดด้าน FinTech ในทวีปเอเชียยังคงน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์

สำหรับงาน Money20/20 Asia นั้นเป็นงานรวมฟินเทคชั้นนำที่จัดขึ้นที่ กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกนี้มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมงาน 3,000 คน มาจากกว่า 85 ประเทศ โดยมีทั้งผู้บริหารทั้งสถาบันการเงินในเอเชีย หรือแม้แต่ผู้บริหารของบริษัทฟินเทคต่างๆ เข้าร่วมงาน

Positioning จะพาไปสรุปสิ่งที่น่าสนใจในงานไม่ว่าจะเป็นเทรนด์ด้านการเงิน หรือแม้แต่สตาร์ทอัพสาย FinTech เอง

เทรนด์ด้านการเงิน

Scarlett Sieber ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์และการเติบโตของ Money20/20 ผู้จัดงาน ได้กล่าวถึงเทรนด์ เทคโนโลยีการเงินที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น

  • Cross Border Payment การจ่ายเงินระหว่างประเทศ เป็นเทรนด์ที่กำลังมา ซึ่งในโซนลาตินอเมริกากำลังได้รับความนิยม
  • Financial Inclusion ทำให้คนเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น ซึ่งทวีปเอเชียเป็นผู้นำในเรื่องดังกล่าว
  • Open Banking ทำให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น ตอนนี้ผู้ใช้งานเป็นเจ้าของข้อมูลต่างๆ ตามกฎระเบียบของหน่วยงานกำกับดูแล
  • ความปลอดภัยของด้านการเงิน เธอกล่าวถึงสถาบันการเงินจากอินเดียพูดถึงเรื่องของการฉ้อโกงด้วย และ การโจรกรรม ต้องตามเรื่องเทคโนโลยีเรื่อยๆ และตัวของแอปพลิเคชันก็ต้องป้องกันในเรื่องดังกล่าว
  • Super App เธอกล่าวว่าในทวีปเอเชีย เรื่องดังกล่าวอาจเป็นเรื่องปกติ แต่ในทวีปยุโรปและอเมริกานั้นกำลังเป็นเทรนด์อย่างมาก

นอกจากนี้ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์และการเติบโตของ Money20/20 ยังกล่าวถึงในงานว่าหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินเริ่มสื่อสารกับภายนอกเพิ่มมากขึ้น หรือแม้แต่มาเป็นผู้พูดในงาน ไปจนถึงการบอกกล่าวนโยบายด้านการกำกับดูแลใหม่ๆ ด้วย ซึ่งแตกต่างกับในอดีต

ส่องสตาร์ทอัพที่น่าสนใจ

Money20/20 Asia ได้เลือกสตาร์ทอัพสาย FinTech เหล่านี้เข้ามาโชว์ในงาน เนื่องทางงานมองว่าบริษัทเหล่านี้กำลังเติบโตและขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกหลังจากนี้ ขณะเดียวกันสถาบันการเงินหรือบริษัทใหญ่ๆ ได้ซื้อกิจการหรือมีความร่วมมือด้วยกันผ่านงาน Money20/20 เป็นต้น

สตาร์ทอัพสาย FinTech ที่เข้ามาร่วมงาน Money20/20 Asia เช่น

Bitazza เป็น FinTech ผู้ให้บริการนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล มีใบอนุญาตจากหน่วยงาน ก.ล.ต. โดยผู้บริหารในงานกล่าวว่าอยากให้ทุกคนเข้าถึงการลงทุนผ่านสินทรัพย์ดิจิทัล ขณะที่บริษัทได้เงินลงทุนแบบ Seed 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ตอนนี้มีกำไรแล้ว

Pluang เป็น FinTech ลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น หุ้น ฯลฯ โดยล่าสุดแอปมีคนใช้งาน 20 ล้านคนในอินโดนีเซีย ตอนนี้คนใช้เทคโนโลยีมากขึ้น หรือมีบริการอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น

Fairbanc เป็น FinTech ให้บริการไฟแนนซ์สินเชื่อให้กับเหล่า SME โดยนำสินค้าจากบริษัทใหญ่ๆ อย่าง Unilever และ Nestle หรือแม้แต่ Danone ไปวางขาย ซึ่งบริษัทใหญ่เหล่านี้อยากได้ข้อมูลของเหล่า SME และมองว่าธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย

Mula-x เป็น FinTech ที่มีสำนักงานในประเทศไทย โดยชื่อของแอปมาจากคำว่า Mula ซึ่งแปลว่า เงิน ซึ่งตัวแอปพยายาม Disrupt สินเชื่อนอกระบบ และพบว่าปัญหาในไทยคือไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ ซึ่งล่าสุดทางแอปเองได้จับมือกับ Prepay Nation เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าแรงงานต่างด้าวสามารถโอนเงินก้อนเล็กๆ หรือเติมเงินโทรศัพท์มือถือให้กับญาติได้

Cepat เป็น FinTech มีสำนักงานอยู่ฟิลิปปินส์ ให้บริการการเงินกับแรงงานชาวฟิลิปปินส์ที่ทำงานนอกประเทศ สามารถส่งเงินกลับเข้าประเทศได้ หรือแม้แต่ให้บริการกู้ยืม ซึ่งผู้บริหารชี้ว่าตลาดดังกล่าวมีแรงงานจำนวนมากถึง 2.4 ล้านคน 

Heymax.ai เป็น FinTech ที่รวบรวม Loyallty Program เข้ามาเป็นอันเดียว และตั้งเป้าว่าลูกค้าที่ใช้งานแอปฯ นี้ภายใน 1 ปีจะสามารถเดินทางได้ 1 ทริป ตอนนี้ให้บริการในสิงคโปร์ และออสเตรเลีย

Paysquad เป็น FinTech จากประเทศนิวซีแลนด์ โดยมีไอเดียหลักคือการแบ่งกันจ่าย เช่นการชวนเพื่อนซื้อของขวัญชิ้นใหญ่ให้เพื่อน โดยผู้บริหารได้กล่าวว่าตลาดในนิวซีแลนด์ ไม่ใช่ตลาดใหญ่สุด แต่ได้ทำตลาดที่ออสเตรเลียเนื่องจากเป็นตลาดที่ใหญ่กว่า และหลังจากนี้อีก 12 เดือนกำลังจะขยายมาอาเซียนด้วย

สำหรับงาน Money20/20 Asia จะมีการกลับมาจัดอีกครั้งที่กรุงเทพมหานครในวันที่ 22-24 เมษายน 2025 ซึ่งจะเห็นว่าศักยภาพของเหล่า FinTech ในทวีปเอเชีย ยังมีความน่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะเหล่า FinTech ในอาเซียน