AIS ผนึก GULF และ สวพส. เดินหน้าติดตั้งไฟฟ้า-เครือข่ายสัญญาณดิจิทัล ปักเป้า 30 พื้นที่ใน 5 ปี

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในยุคปัจจุบันนี้ก็คือ ระบบสื่อสาร และในไทยเองก็ยังมีพื้นที่ห่างไกลที่ไฟฟ้าและสัญญาณอินเทอร์เน็ตยังเข้าไม่ถึง ซึ่ง GULF และ AIS ได้ผนึกกำลัง พร้อมร่วมกับ สวพส. เพื่อนำโครงสร้างพื้นฐานเข้าไปสู่พื้นที่ห่างไกล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

แค่ไฟฟ้าไม่พอ

หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เป็นอย่างดี เพราะถือเป็นองค์กรชั้นนำด้านพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานยั่งยืนในระดับภูมิภาค แต่ที่หลายคนอาจไม่รู้ก็คือ GULF ได้ทำโครงการ CSR มากว่า 30 ปี และหนึ่งในโครงการที่ทำอยู่ก็คือ การติดตั้งไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ในพื้นที่ทุรกันดาร โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2566 ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ บ้านห้วยน้ำไซ อ.นครไทย จ.พิษณุโลกเกาะทุ่งนางดำ อ.คุระบุรี จ.พังงา และบ้านดอกไม้สด อ.ท่าสองยาง จ.ตาก

หลังจากที่ไปติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ GULF ก็เห็นปัญหาว่าในหลายพื้นที่ที่ไปนั้น ไม่มีเสาสัญญาณดิจิทัล ดังนั้น เพื่อจะให้พื้นที่นั้น ๆ เข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน GULF จึงได้ร่วมกับ AIS ทำโครงการ Green Energy Green Network for THAIs เพื่อผนึกกำลังขยายสัญญาณสื่อสาร มอบโอกาสในการเข้าถึงพลังงานและเทคโนโลยีดิจิทัล มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสทางการศึกษา การพัฒนาอาชีพ และการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข

“ที่ที่เราไปถนนก็ไม่มี สายไฟไม่มี และเพราะเป็นพื้นที่ห่างไกลมีคนไม่หนาแน่น อาจไม่คุ้มกับการลงทุนของรัฐ ทำให้ระบบสาธารณูปโภคไม่เพียงพอ ซึ่งเมื่อก่อนเราทำได้แค่ให้พลังงาน ทำให้ไม่มีการต่อยอด ไม่มีแวร์ลูแอดไป เราจึงร่วมกับเอไอเอสเพื่อต่อยอด” ธีรตีพิศา เตวิชพศุตม์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านปฏิบัติการ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าว

ปักเป้า 60 พื้นที่ใน 3-5 ปี

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS เล่าเสริมว่า สำหรับการร่วมมือกับ GULF จะเป็นโครงการระยะยาว โดยภายในปีนี้คาดว่าจะดำเนินโครงการ Green Energy Green Network for THAIs เพิ่มอีกประมาณ 5-6 แห่ง โดยได้รับความร่วมมือจาก สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ในการคัดเลือกพื้นที่ที่ไฟฟ้าหรือสัญญาณยังเข้าไม่ถึง และภายใน 3-5 ปี คาดว่าจะสามารถเข้าถึงพื้นที่ได้ประมาณ 30 แห่ง 

โดยหลังจากติดตั้งเสาสัญญาณ ทาง AIS จะมีการประเมินงาน 3 ระยะ เกี่ยวกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมโดย สมชัย ย้ำว่า โครงการดังกล่าวเป็น โครงการระยะยาว และ AIS ต้องการให้ชุมชนใช้เทคโนโลยีสร้างโอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้ และต่อยอดการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ ทั้งบริการด้านสาธารณสุข การศึกษา การพัฒนาทักษะด้านอาชีพ และการตลาด เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สร้างประโยชน์ทั้งชุมชน เศรษฐกิจ และยังเป็นการดูแลรักษาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

“ตลอด 34 ปีที่ผ่านมาเราลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาทเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน จนปัจจุบันสัญญาณโมบายครอบคลุม 98% และ 5G ครอบคลุม 90% ของพื้นที่ประเทศไทย ส่วนอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ครอบคลุม 13 ล้านครัวเรือนจากทั้งหมด 20 ครัวเรือน แต่เป้าหมายของ AIS ไม่ใช่แค่สร้างรายได้ แต่ต้องยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้น”

มีพื้นที่อีกนับพันที่ยังเข้าไม่ถึงระบบสาธารณูปโภค 

ชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สวพส. ดูแลพื้นที่ที่อยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเลปากลาง 500 เมตร ซึ่งในประเทศไทยมีพื้นที่ดังกล่าวประมาณ 20 ล้านไร่ กระจายใน 20 จังหวัด รวมแล้วกว่า 4,000 ชุมชน ซึ่งปัจจุบัน สวพส. สามารถเข้าถึงได้ประมาณ 2,000 ชุมชน และคาดว่ามีประมาณ 1,000 ชุมชนที่ยังไม่มีไฟฟ้าหรือคลื่นสัญญาณดิจิทัลเข้าถึง โดย สวพส. จะทำหน้าที่ให้ข้อมูลและจัดลำดับความสำคัญในการให้ความช่วยเหลือ

“AIS ยังเชื่อมั่นใน Ecosystem Economy หรือการทำงานร่วมกัน ทั้ง GULF และ AIS เข้าไปช่วยก็ทำให้มันดีขึ้น แต่ก็ยังไม่เท่าเทียม ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องช่วยเหลือ ดังนั้น ก็หวังว่าจะมีภาคเอกชนเข้ามาร่วมมือกันช่วยเหลืออีก” สมชัย ทิ้งท้าย