รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฝรั่งเศสประกาศเดินหน้าบีบกูเกิล (Google) เสียภาษีย้อนหลัง ลุยออกกฎหมายเปิดทางสะดวกเพื่อไม่ให้มีการเจรจาต่อรอง ชี้ไม่ได้เลือกปฏิบัติเฉพาะเจ้าพ่อไอที เนื่องจากมาตรการนี้จะขยายผลไปยังบริษัทอื่นต่อไป
สำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า ทางการฝรั่งเศสจะ “เดินหน้าทุกวิถีทาง” เพื่อให้มั่นใจว่า บริษัทข้ามชาติที่ดำเนินงานทำรายได้บนแผ่นดินฝรั่งเศสจะจ่ายภาษีครบถ้วน โดยหลังจาก Google และเชนฟาสต์ฟูด อย่าง แมคโดนัลด์ (McDonald’s) บริษัทอื่นจะถูกดำเนินมาตรการด้านภาษีย้อนหลังเช่นกัน
คำให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนของ Michel Sapin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฝรั่งเศส สะท้อนว่า ฝรั่งเศสอาจส่งสารถึง Google เหมือนที่อังกฤษเคยดำเนินการมาแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีฝรั่งเศส ย้ำว่า จะไม่มีการทำข้อตกลงแบบที่อังกฤษทำ รวมถึงการเจรจาเพื่อต่อรองใดๆ
กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจฝรั่งเศสตบเท้าบุกตรวจค้นสำนักงาน Google ในกรุงปารีส เมื่อวันอังคาร (24) เพื่อค้นหาหลักฐานในการเลี่ยงภาษีฝรั่งเศส โดยการบุกค้นครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากการบุกค้นสำนักงานใหญ่ McDonald’s ในฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา
เบื้องต้น ทางการฝรั่งเศสยังไม่เปิดเผยจำนวนเงินประเมินภาษีย้อนหลังที่ต้องการเรียกเก็บจาก Google จุดนี้ แหล่งข่าวในกระทรวงการคลังจากรอยเตอร์ เคยเปิดเผยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า จำนวนเงินภาษีย้อนหลังที่ฝรั่งเศสกำลังหาทางเก็บจาก Google นั้นสูงถึง 1.6 พันล้านยูโร แน่นอนว่าตัวเลขนี้ถือว่าสูงลิ่วเมื่อเทียบกับ 130 ล้านปอนด์ที่ Google เจรจาต่อรองกับรัฐบาลอังกฤษเป็นค่าภาษีย้อนหลังเมื่อเดือนมกราคม
ภาษีย้อนหลัง 130 ล้านปอนด์ ที่ Google จ่ายให้อังกฤษถูกวิจารณ์ว่าต่ำเกินไป จุดนี้มีส่วนทำให้มาตรฐานภาษีย้อนหลังที่ประเทศอื่นตั้งข้อสังเกตในบริษัทข้ามชาตินั้นขยับสูงตามไปด้วย ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสวิจารณ์ว่า บริษัทดิจิตอลยักษ์ใหญ่สามารถโกยเงินมหาศาลจากประเทศของพวกเขา แต่กลับจ่ายภาษีน้อยกว่าบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศ
แม้จะไม่มีการระบุชื่อบริษัทอื่นที่จะเป็นเป้าหมายต่อไปของทางการฝรั่งเศส แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เฟซบุ๊ก (Facebook) รวมถึงบริษัทไอทีอื่นจะเป็นหนึ่งในบริษัทข้ามชาติที่ถูกตรวจสอบกรณีภาษีย้อนหลังด้วย
อย่างไรก็ตาม กรณีของฝรั่งเศส และอังกฤษอาจเป็นต้นแบบให้ประเทศอื่นดำเนินการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังกับบริษัทไอทีข้ามชาติได้ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่อาจทำได้ ในวันที่เจ้าของเว็บไทยมีรายได้จากการโฆษณาลดลงอย่างน่าใจหาย เพราะเม็ดเงินเหล่านี้ไหลไปอยู่กับบริษัทออนไลน์เหล่านี้
ที่มา: http://manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000054003