แจสไม่จ่ายใบอนุญาตคลื่น 900 กทค.เคาะค่าเสียหายได้แค่ 199 ล้านบาท

พิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS

กทค.เคาะค่าเสียหายแจส 199 ล้านบาท ต้องจ่ายภายใน 16 มิ.ย.นี้ ชี้ช่องเอดับบลิวเอ็น ร้องค่าเสียโอกาสได้ ส่วนการยึดใบอนุญาตธุรกิจอื่นของกลุ่มจัสมินทำไม่ได้ เหตุไม่มีกฎหมายเอาผิด หากแจสไม่พอใจอุทรณ์ต่อกสทช.ได้ หากไม่จ่ายเจอกันที่ศาลแพ่ง

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีมติเรียกค่าเสียหายกรณี บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ไม่ชำระเงินค่าประมูลคลื่น 900 MHz จำนวน 199.42 ล้านบาท นอกเหนือจากเงินหลักประกัน 644 ล้านบาท ที่กสทช.ได้ยึดไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยการคิดค่าเสียหายดังกล่าวประกอบด้วย 1.ค่าใช้จ่ายในการจัดประมูลคลื่น 900 MHz รอบแรกเมื่อวันที่ 15-19 ธ.ค.2558 ที่ผ่านมา จำนวน 20.24 ล้านบาท ซึ่งคิดจากค่าใช้จ่ายการประมูลจริง 80.99 ล้านบาท หารด้วยจำนวนผู้ประมูล 4 ราย 2.ค่าใช้จ่ายในการประมูลเมื่อวันที่ 27 พ.ค.2559 จำนวน 10 ล้านบาท และ 3. ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยคำนวนจากยอดเงินที่แจสต้องชำระงวดแรก 8,040 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.-30 มิ.ย.2559 ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันสุดท้ายที่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) มาชำระเงินค่าประมูลคลื่น 900 MHz คิดเป็นเงิน 169.17 ล้านบาท

ส่วนการเรียกค่าเสียหายจากส่วนต่างการประมูลนั้น กสทช. ไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ เนื่องจากราคาที่ประมูลครั้งที่สองเท่ากับครั้งแรกคือ 75,654 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผู้ชนะการประมูลรายใหม่ คือ เอดับบลิวเอ็น สามารถเรียกร้องค่าเสียโอกาสในการประกอบธุรกิจได้ภายใน 2 ปี นับจากวันที่เปิดให้บริการ ส่วนการยึดใบอนุญาตที่กสทช.ออกใบอนุญาตให้กับ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) นั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีกฎหมายใดๆ หรือแม้กระทั่งกฎของกสทช.ในการยึดใบอนุญาตดังกล่าวรองรับ

ทั้งนี้ตัวแทนจากแจส โมบาย ได้มารับหนังสือเรียกร้องค่าเสียหายไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2559 ดังนั้นแจสต้องนำเงินมาชำระภายใน 15 วัน คือภายในวันที่ 16 มิ.ย.2559 หากแจสไม่พอใจก็สามารถส่งคำร้องอุทรณ์มายังกสทช.เพื่อนำเข้าพิจารณาในที่ ประชุมของ กทค. อีกครั้งหนึ่ง โดยเรื่องนี้ไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง จึงไม่ต้องนำเรื่องถึงศาลปกครองกลาง แต่สามารถฟ้องร้องต่อศาลแพ่งได้

นายฐากร กล่าวอีกว่า สำหรับการตรวจสอบพฤติกรรมของบริษัทนั้น กทค.เห็นว่า เมื่อพิจารณาตามกรอบของกฎหมายยังไม่พบเหตุที่จะเป็นความเสียหายที่ทำให้รัฐ เสียประโยชน์หรือมีการสมยอมราคา ทั้งนี้การพิจารณาทั้งหมดไม่เกี่ยวกับกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานอื่น อย่างไรก็ดีหากหน่วยงานอื่นจะนำรายงานไปใช้เพื่อประโยชน์กสทช.ก็พร้อมจะเปิดเผยรายงานผลการตรวจสอบ

‘การทำงานของคณะทำงานพิจารณาความเสียหายแจสทำมา 2 เดือน ผลสรุปมาว่าต้องคิดค่าเสียหายเพียง 131 ล้านบาท แต่กทค.เห็นต่างว่าควรคิดค่าประมูลและดอกเบี้ยผิดนัดชำระด้วย หากแจสไม่พอใจก็สามารถมาอุทรณ์ได้ แต่หากเอดับบลิวเอ็นมาจ่ายเงินก่อน 30 มิ.ย. กสทช.ก็จะมีเงินจากดอกเบี้ยที่แจสจ่ายคืนให้เอดับบลิวเอ็น ด้วย หากจ่ายทีหลัง แจสก็ต้องถูกคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระต่อไปอีก’

ที่มา: http://manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000055094