“คาซ่า ลาแปง” ร้านกาแฟ อันหอมหวนของ JAS

ถึงแม้ธุรกิจร้านกาแฟจะได้ชื่อว่าแข่งขันกันดุเดือด มีทั้งแบรนด์ไทยแบรนด์นอกเข้ามาในตลาดไทย แต่ก็ยังเป็นธุรกิจที่หอมหวนสำหรับ บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) ที่ตัดสินใจเข้าซื้อหุ้น “คาซ่า ลาแปง” (Casa Lapin) ของบริษัท คอฟฟี่ โปรเจคท์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจกาแฟ ด้วยวงเงิน 42 ล้านบาท และร่วมกันจัดตั้งบริษัทใหม่ชื่อว่า บริษัท บีนส์แอนด์บราวน์ จำกัด โดย เจเอเอส แอสเซ็ท ถือครอง 60% และ คอฟฟี่ โปรเจคท์ 40%

เป้าหมายของการเข้าไปถือหุ้นครั้งนี้ เจเอเอสฯ ต้องการเปิดตลาดธุรกิจค้าปลีกประเภทอาหารและเครื่องดื่มอย่างเป็นทางการ จากจุดยืนของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในกลุ่มคอมมูนิตี้มอลล์

เจเอเอสฯ เป็นบริษัทลูกของ “บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน)” ผู้จัดจำหน่ายมือถือและอุปกรณ์เสริม ที่ทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จอย่างลอยลำ จนสามารถแตกกิจการไปสู่ธุรกิจติดตามเร่งรัดหนี้ และบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ “บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน)” และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ “บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน)”

ปัจจุบัน เจเอเอสฯ เป็นเจ้าของคอมมูนิตี้มอลล์ เดอะแจส วังหิน, เดอะแจส รามอินทรา แจสเออเบิร์น ศรีนครินทร์ และคอนโดมิเนียมนีเวร่า

บริษัทตั้งงบประมาณแต่ละปีไว้ 2 พันล้านบาท สำหรับการลงทุนทุกรูปแบบ ทั้งอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจบริหารพื้นที่เช่า รวมถึงธุรกิจใหม่ๆ ที่อยู่ในความสนใจของผู้บริโภค อย่างเช่น แฟชั่น และไลฟ์สไตล์ เป็นต้น โดยอยู่ระหว่างเจรจากับกลุ่มทุนหลายกลุ่ม ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ และการเข้าซื้อกิจการ คาซ่า ลาแปง ก็เป็นส่วนหนึ่งของการขยายการลงทุนแบบไม่มีลิมิตดังกล่าว

หนึ่งในเหตุผลของการเข้าซื้อธุรกิจกาแฟของ เจเอเอสฯ เพื่อลดความเสี่ยงในธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์ ที่สถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง จากสภาวะการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกที่ยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่สู้ดี

“ยังมีความเหนื่อยอีกมากสำหรับเดอะแจส” สุพจน์ วรรณา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) กล่าว

ในขณะที่ห้างค้าปลีก เดอะแจส ยังลุ่มๆ ดอนๆ การตัดสินใจซื้อธุรกิจกาแฟ คาซ่า ลาแปง มาจากการที่ผู้บริหารมองว่า ยังเป็นดาวรุ่งที่มีศักยภาพเติบโต โดยปัจจุบันตลาดรวมร้านค้าปลีกกาแฟมีมูลค่า 1.9 หมื่นล้านบาทในปี 2560 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากมูลค่าตลาด 1.7 หมื่นล้านบาทในปีก่อนหน้า และยังคงเติบโตทุกปี เฉลี่ยปีละ 10%

ขณะที่พฤติกรรมการบริโภคในช่วงหลายปีมานี้ อัตราการดื่มกาแฟของคนไทยยังไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ เช่น นอร์เวย์ และเดนมาร์ก ครองแชมป์ประเทศที่ดื่มกาแฟมากที่สุด เฉลี่ย 5 แก้วต่อคนต่อวัน รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา และแคนนาดา ดื่มกาแฟเฉลี่ย 3-5 แก้วต่อคนต่อวัน ขณะที่ไทยดื่มกาแฟเฉลี่ย 1.5 แก้วต่อคนต่อวัน

“คนยุคใหม่มีแนวโน้มดื่มกาแฟเพิ่มขึ้น และผู้บริโภคก็มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ทำให้เรามองเห็นโอกาสการเติบโตของค้าปลีกประเภทนี้” ซีอีโอ เจเอเอสฯ ระบุ

เป้าหมายของ คาซ่า ลาแปง คือการเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2563 มีความเป็นไปได้มากว่า เจเอเอสฯ อาจจะได้แรงบันดาลใจจากธุรกิจร้านขนม “อาฟเตอร์ ยู” (After You) ที่หลังจากเปิดตัวไปได้ไม่นาน ก็สามารถดันตัวเองเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ และกลายเป็นหุ้นม้ามืดในที่สุด

คาซ่า ลาแปง ถูกกำหนดแผนธุรกิจเอาไว้อย่างชัดเจน โดยภายในปี 2560 นี้ จะเปิดให้ครบ 10 สาขา จากที่มีอยู่เดิมแล้ว 7 สาขา และตั้งเป้ารายได้ไว้ 60 ล้านบาท

  • ปี 2561 เปิดอีก 10 สาขา ตั้งเป้ารายได้ 180 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว
  • ปี 2562 เปิดอีก 10 สาขา ตั้งเป้ารายได้ 270 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.5 เท่าตัว
  • ปี 2563 เปิดอีก 10 สาขา ตั้งเป้ารายได้ 360 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.33 เท่าตัว

เมื่อเข้าสู่ปี 2563 คาซ่า ลาแปง จะมีจำนวนสาขาทั้งหมด 40 แห่ง (ถ้าทำได้ตามเป้าหมาย) มูลค่าการลงทุนสาขาละ 7-10 ล้านบาท ขนาดพื้นที่ 120-300 ตารางเมตร

โมเดลการลงทุนมี 2 แบบ คือ บริษัทฯ ลงทุนเอง 100% 2. การร่วมทุนกับแลนด์ลอร์ดหรือผู้ที่สนใจ แต่ยังไม่มองการขยายตัวในระบบแฟรนไชส์

เมื่อแต่งองค์ทรงเครื่องพร้อมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ และเดินหน้าขยายกิจการในต่างประเทศต่อไป โดยมีเป้าหมายอยู่ที่เมืองใหญ่ๆ อย่างโตเกียว โซล ฮ่องกง ไทเป และสิงคโปร์

เพราะฉะนั้นจากนี้ไป แทนที่เราจะได้เห็นแต่เชนธุรกิจกาแฟต่างชาติแห่เข้าไทย ต่อไปเราจะได้เห็นกาแฟสายพันธุ์ไทยบุกไปเปิดตลาดต่างชาติมากขึ้น

สรุปว่า โอกาสของเจเอเอสฯ หลังตัดสินใจซื้อหุ้นร้านกาแฟ คาซ่า ลาแปง คือ

  1. เพิ่มพอร์ตธุรกิจ เจเอเอสฯ ให้แข็งแรงขึ้น ในก้าวจังหวะที่ เดอะแจส คอมมูนิตี้มอลล์ ยังขยายตัวไม่ได้เต็มที่ และอัตราการเติบโตยังไม่น่าพอใจ ตามสูตร อย่าเก็บไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียวกัน
  2. สร้างรายได้ ลดรายจ่าย ดันรายได้รวมบริษัทให้เข้าเป้า แทนที่จะมาอดทนรอให้รายได้จากอสังหาริมทรัพย์ฟื้น
  3. เรียนรู้โนว์ฮาวธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เอามาต่อยอดในอนาคต
  4. เพิ่มชั่วโมงบินในกิจการค้าปลีกของรุ่นที่ 2
  5. คาซ่า ลาแปง จะเป็นธุรกิจดันดารา อันดับที่ 4 ของอาณาจักรธุรกิจในเครือเจมาร์ท ที่โตแล้วต้องแตกตัวในตลาดหลักทรัพย์ฯ
  6. การเปิดตลาดต่างประเทศ ถ้าทำสำเร็จ จะเป็นอีกจุดเปลี่ยนของอาณาจักรธุรกิจใต้ปีกเจมาร์ท

สำหรับ คาซ่า ลาแปง ร้านกาแฟแบรนด์ไทย เริ่มเปิดสาขาแรกในจังหวัดเชียงใหม่ อีก 1 เดือนต่อมา ก็ขยายมาเปิดสาขาแรกในกรุงเทพฯ ที่ซอยทองหล่อ สามารถทำรายได้ต่อเดือน 2 ล้านบาท จากนั้นขยายออกไป 7 สาขา จัดประเภทเป็นร้านกาแฟแบบ specialty coffee ตกแต่งร้านสไตล์บ้านกระต่าย เน้นรูปแบบ และแสงสีภายในร้าน ที่สื่อถึงความอบอุ่น จับกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ในเมือง ที่มีไลฟ์สไตล์เฉพาะตัว และชื่นชอบงานดีไซน์

แน่นอนว่า คาซ่า ลาแปง เอง เมื่อได้หุ้นส่วนเข้ามา ก็จะมีเงินทุนมาต่อยอด ขยายสาขาเพิ่มขึ้นปีละ 10 สาขา และปรับโหมดโมเดลการหารายได้ จากปัจจุบัน Casa Lapin มีโครงสร้างรายได้ 70% จากการกาแฟและเครื่องดื่มประเภทอื่นๆ และอีก 30% จากอาหารและเบเกอรี่ ในอนาคตเพิ่มรายได้จากการขายสินค้าของที่ระลึก คาดว่าภายในปีหน้าสัดส่วนรายได้จากเมอร์ชันไดส์จะเป็น 20% ส่วนกาแฟและเครื่องดื่มจะลดลงมาเหลือ 65% ส่วนอาหารและเบเกอรี่อยู่ที่ 15%.