อดีตถึงอนาคต “กาแฟไทย” จากมุมคิดของผู้ก่อตั้ง “Roots” หนึ่งในกลุ่มบุกเบิกการนำเมล็ดบนดอยมาสู่กรุง

ครบรอบ 10 ปีพอดีที่ร้าน “Roots” เริ่มนำ “เมล็ดกาแฟไทย” มาใช้ในร้าน เปลี่ยนมุมมองคนจิบกาแฟและช่วยส่งเสริมตลาดให้เกษตรกรไทย จากวันนั้นถึงวันนี้วงการร้านกาแฟไทยเปลี่ยนไปอย่างไร ร้านยังยืนหยัดและขยายสาขาในสภาวะ เรดโอเชียน ได้อย่างไร รวมถึงอนาคตของวงการกาแฟจะเป็นอย่างไรต่อไปในวิกฤต ภาวะโลกรวน’ แบบทุกวันนี้

Positioning มีโอกาสได้พูดคุยกับ “วรัตต์ วิจิตรวาทการ” และ “กรณ์ สงวนแก้ว” สองผู้ก่อตั้งร้านกาแฟ “Roots” ที่ปัจจุบันขยายสาขาไป 12 สาขาหลังเริ่มต้นสาขาแรกเมื่อ 10 ปีก่อน และเป็นร้านกาแฟสเปเชียลตี้เจ้าแรกๆ ที่กล้านำ “เมล็ดกาแฟไทย” มาใช้เสิร์ฟลูกค้าแบบ 100% ในยุคที่กาแฟไทยยังไม่ได้รับการยอมรับในหมู่คอกาแฟมากนัก

เราจะพาย้อนรอยเส้นทางของร้าน Roots ในการทำงานกับเกษตรกรไทยเพื่อให้ได้เมล็ดกาแฟที่ตอบโจทย์ตลาด มาจนถึงวันนี้ที่ธุรกิจร้านกาแฟเฟื่องฟูจนอาจจะเรียกได้ว่า ‘เฟ้อ’ ผสมกับวิกฤต ‘ภาวะโลกรวน’ ที่มีผลกระทบต่อการปลูกกาแฟทั่วโลก Roots จะฝ่าฟันไปได้อย่างไร?

(*หมายเหตุ: Roots เป็นธุรกิจร่วมลงทุนระหว่าง Kinnest Group และ กลุ่มบริษัทภิรัชบุรี ในอัตราส่วน 50:50)

 

เปลี่ยนมาใช้ “กาแฟไทย” เพราะแค่คำว่า “อร่อย” ยังไม่พอ

เริ่มแรกโรงคั่วกาแฟของ Roots ก็เป็นเหมือนทุกโรงคือเน้นใช้กาแฟจากเอธิโอเปียเป็นหลัก เพราะเป็นเมล็ดกาแฟที่ได้รับการยอมรับสูงสุดทั่วโลก ส่วนเมล็ดกาแฟไทยในขณะนั้นยังเป็น ‘ม้านอกสายตา’ เป็นเพียงกาแฟที่นำมาเบลนด์เป็นบางสูตรเท่านั้น

จนกระทั่งทีมงาน Roots ต้องการจะศึกษาเรื่องกาแฟย้อนกลับไปถึงแหล่งปลูก แต่จะให้บินไปถึงเอธิโอเปียก็ไกลเกินไป จึงเลือกติดต่อขอไปชมแหล่งปลูกกาแฟทางภาคเหนือของไทยแทน

Roots
แหล่งปลูกและตากกาแฟของเกษตรกรไทย (Photo: Roots)

“เราเปิดโลกมากในการไปเยือนแหล่งปลูก” วรัตต์กล่าวย้อนความประทับใจ “เกษตรกรเขาพยายามและตั้งใจมากจนเรารู้สึกอยากจะร่วมงานกับเขา”

ทริปนั้นทำให้ทีม Roots กลับมาคิดถามตัวเองว่า “นิยามของคำว่า ‘กาแฟดี’ คืออะไรกันแน่ ?” ถ้านิยามว่า ‘กาแฟดีคือกาแฟที่อร่อย’ แค่นั้นจะยังเพียงพออยู่หรือเปล่า ?

สุดท้ายแล้วทีมงานตกตะกอนร่วมกันว่า “กาแฟที่ดี แค่อร่อยคงไม่พอ” แต่ต้องมีความหมายว่า “ดีต่อทุกคนในซัพพลายเชน”

Roots
“วรัตต์ วิจิตรวาทการ”

Roots จึงมีเป้าหมายใหม่ที่จะนำเมล็ดกาแฟไทยมาใช้ โดยขอเข้าไปพัฒนาร่วมกันกับเกษตรกรเพื่อให้คุณภาพกาแฟดีขึ้นและทำราคาได้

คำว่าเข้าไปพัฒนาของ Roots หมายถึงเข้าไปบอกโจทย์ว่าตลาดกำลังต้องการกาแฟคาแรกเตอร์แบบไหน และช่วยกันกับเกษตรกรเพื่อหาวิธีที่จะทำให้ได้ รวมถึงเป็นผู้ลงทุนโรงตากและอุปกรณ์ให้สำหรับทดลองโปรเจ็กต์กาแฟแบบที่ร้านต้องการ

Roots
“กรณ์ สงวนแก้ว”

ด้วยแนวคิดว่า “ร้านไม่ได้มาติดต่อแค่ซื้อมาขายไป แต่มาสร้างความสัมพันธ์กับเกษตรกร” ทำให้ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ปลูกและทำการค้ากับ Roots แล้วทั้งหมด 18 ราย จาก 12 พื้นที่ปลูก รวมทั้งหมด 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน ตาก และระนอง

ที่สุดแล้วพวกเขาจึงได้ลงไปประคบประหงมจนถึงแหล่งปลูก เหนือกว่าที่ตั้งใจไว้ครั้งแรกว่าจะเพียงแค่ไปศึกษาดูงานเท่านั้น

 

คอกาแฟไทยยอมรับไม่ยาก หากมี ‘storytelling’

ฟากปลายทางคนจิบกาแฟคิดอย่างไร? กรณ์เล่าให้ฟังว่าร้าน Roots เปลี่ยนแปลงการใช้เมล็ดกาแฟเร็วมาก เริ่มนำมาใช้ประมาณ 25% ของร้านอยู่ราว 4-5 เดือน จากนั้นก็เปลี่ยนมาใช้กาแฟไทยแบบ 100% ทันที

แน่นอนว่ามีนักดื่มกาแฟบางคนที่อาจจะ ‘ซีเรียส’ ว่าเมล็ดกาแฟที่ใช้ต้องนำเข้าจากเอธิโอเปียและได้คะแนนสูงเท่านั้น Roots ต้องยอมเสียลูกค้ากลุ่มนี้ แต่กลุ่มใหญ่ของร้านสามารถยอมรับกาแฟไทยได้

“ผมว่าสำคัญที่สุดคือน้องหน้าร้านซึ่งเป็นคนขาย น้องต้องไม่มีข้อลังเลสงสัยก่อนว่าเราขายอะไร เมล็ดมาจากใคร เมื่อเขาเล่าเรื่องราวและส่งต่อไปถึงลูกค้าได้ เราก็จะขายกาแฟไทยได้” กรณ์กล่าว “อย่างเช่น เรามีกาแฟพี่โสภา แหล่งปลูกของพี่เขาเป็นสหกรณ์ที่สมาชิกเป็น ‘ผู้หญิง’ หมดเลย สตอรี่แบบนี้ทำให้คนนึกถึงคนปลูกและอยากจะสนับสนุน”

Roots
กาแฟพี่ศรี ตัวอย่าง Storytelling ของร้าน (Photo: Roots)

“เรื่องราว” ของกาแฟจากบนดอยคือสิ่งที่ Roots นำเสนอให้ลูกค้าเสมอมา เห็นได้จาก “ชื่อ” เมล็ดกาแฟหลายตัวจะตั้งชื่อตามเกษตรกรที่ปลูก เช่น “กาแฟพี่โสภา” “กาแฟพี่ศรี” “กาแฟหนุ่ยและอ้อย” เป็นต้น

“เราคิดว่าคนไทยมีความเชื่อมั่นในกาแฟไทยมากขึ้น และคนไทยเข้าถึงกาแฟไทยที่ดีได้แล้ว เราว่าถ้าจะวัดความสำเร็จในข้อนี้เราก็คงทำภารกิจนี้สำเร็จแล้ว แต่คิดว่าเราจะไปได้มากกว่านี้อีก” วรัตต์กล่าว

เราคิดว่าคนไทยมีความเชื่อมั่นในกาแฟไทยมากขึ้น และคนไทยเข้าถึงกาแฟไทยที่ดีได้แล้ว เราว่าถ้าจะวัดความสำเร็จในข้อนี้เราก็คงทำภารกิจนี้สำเร็จแล้ว แต่คิดว่าเราจะไปได้มากกว่านี้อีก

การต่อสู้ของ Roots ในยุคที่ “ร้านกาแฟ” มีทุกหัวถนน

การสร้าง “Purpose” หรือวัตถุประสงค์ให้กับร้าน Roots เป็นรากฐานที่ดีมากในการสร้างแบรนด์ แต่เท่านั้นยังไม่เพียงพอที่จะฝ่าสมรภูมิเรดโอเชียนในธุรกิจร้านกาแฟแน่นอน

กรณ์มองว่า ถ้าจะให้สรุปกลยุทธ์ของ Roots ที่ทำให้ร้านยังอยู่รอดมานาน 10 ปีกับ 12 สาขาวันนี้ เป็นเพราะ 2 เรื่องหลักคือ “ความสม่ำเสมอ” และ “การเทรนนิ่งคน”

“ความสม่ำเสมอ” หมายถึงร้านอยู่ในเซ็กเมนต์ไหนก็จะอยู่ในเซ็กเมนต์นั้นเสมอ อย่างร้าน Roots ที่อยู่ในกลุ่มตลาด B+ จะไม่มีการดันตัวเองขึ้นไปอยู่ในเกรด A และไม่ลดระดับตัวเองให้ไปเข้าตลาด B ทำให้ลูกค้าไม่สับสน

ส่วนเรื่อง “การเทรนนิ่งคน” ถือเป็นหัวใจของร้าน Roots มีการลงทุนกับพนักงานสูงและสร้างระบบที่จะทำให้พนักงานทุกคนได้มาตรฐานเดียวกันในการทำงาน หลังผ่านโปรเบชันแล้วจะยังมีเทรนนิ่งให้ทุก 2 เดือนเพื่อให้บาริสตาตามให้ทันนวัตกรรมใหม่ๆ และมีทริปให้ไปเยี่ยมแหล่งปลูกกาแฟทุกปีเพื่อให้ทุกคนสามารถเล่าเรื่องราวจากเกษตรกรได้จากใจจริง รวมถึงสร้างความสัมพันธ์เพื่อให้อัตราเทิร์นโอเวอร์ต่ำ และมีโอกาสให้พนักงานเติบโตไปเป็นระดับผู้จัดการสาขาได้

บาริสตา หัวใจสำคัญของร้าน (Photo: Roots)

นั่นคือฐานการบริหารของ Roots แต่ในบางแง่มุมก็ต้องปรับกลยุทธ์บ้างเพราะสถานการณ์ธุรกิจวันนี้กลายเป็นยุคที่มีร้านกาแฟเต็มเมือง

“ร้านกาแฟที่จะอยู่รอด จะต้องเป็น ‘ร้านประจำ’ ของคนกินให้ได้” วรัตต์กล่าว “วิธีเป็นร้านประจำเมื่อก่อนคือต้อง ‘อยู่ใกล้’ ทำให้เราพยายามจะพาตัวเองไปให้ถึงทุกคนในกรุงเทพฯ แต่วันนี้ตลาดมันเปลี่ยน โมเดลแบบเดิมอาจจะยังขยายต่อได้ในบางพื้นที่ แต่เราก็ต้องมองหานวัตกรรมใหม่ด้วยถ้าอยากจะโตต่อ”

“ตลาดยากขึ้นจริง วิธีขยายแบบ copy+paste ทำไม่ได้แล้ว เราต้องพยายามให้มากขึ้นที่จะสร้างยอดขาย” กรณ์กล่าวเสริม

บรรยากาศร้าน Roots สาขา 111 ประดิษฐ์มนูธรรม

กาแฟแพงขึ้นทุกวันเพราะ “ภาวะโลกรวน”

ร้านกาแฟมีเยอะขึ้น คนกินกาแฟเยอะขึ้น แต่ราคากาแฟก็แพงขึ้นอย่างน่าตกใจเหมือนกัน ทุกวันนี้ร้านกาแฟสเปเชียลตี้ตั้งราคาแก้วละ 150 บาทกลายเป็นเรื่องปกติใหม่ที่ผู้บริโภคพบเจอ ซึ่งราคากาแฟกำลังสะท้อนต้นทุนที่กำลังแพงขึ้นจริงๆ เพราะ “ภาวะโลกรวน”

“โลกร้อนมีผลกระทบแน่นอนเพราะทำให้ฝนตกเพี้ยนไปจากปกติถี่มากขึ้น เมื่อก่อน 6-7 ปีจะวนมาสักปีหนึ่งที่อากาศผิดปกติ แต่ตอนนี้แทบจะเกิดขึ้นปีเว้นปี ซึ่งภาวะแบบนี้ทำให้ผลผลิตกาแฟออกน้อยลง” กรณ์กล่าว

“ถ้ายังหาทางออกไม่ได้ ไม่แน่ต่อไปกาแฟอาจจะไม่ใช่เครื่องดื่มในชีวิตประจำวันแต่กลายเป็นของฟุ่มเฟือย สมมติว่ากาแฟราคาพุ่งไปที่ละแก้วละ 500 บาท เราก็คงได้กินกันแค่เดือนละครั้ง” วรัตต์เสริม

แล้วทางออกคืออะไร? ในมุมของ Roots กำลังคิดอยู่ 2 ทาง ทางแรกคือการเริ่มทดลองการทำงานกับกาแฟพันธุ์ “โรบัสต้า” ซึ่งปลูกอยู่แล้วทางภาคใต้ของไทยและเป็นพันธุ์กาแฟที่ทนร้อนทนโรคได้มากกว่า “อาราบิก้า” ที่ปลูกทางเหนือ แต่ปกติโรบัสต้ามักจะไม่ได้รับการยอมรับเพราะรสชาติที่ถูกมองว่าด้อยกว่า

นั่นทำให้ Roots เริ่มโครงการวิจัยวิธีการโปรเซส คั่ว และชงกาแฟโรบัสต้าอย่างไรให้อร่อยขึ้น ฐานคิดจะเชื่อมโยงกับเครื่องดื่ม “กาแฟไทยโบราณ” ที่คนไทยรู้จัก แต่นำมาพัฒนาให้อร่อยและได้รับการยอมรับจากนักดื่มรุ่นใหม่ โดย Roots คาดว่าจะแตกแบรนด์ใหม่ในชื่อ “Kopi Lab” วางทำเลแรกย่านเอกมัย เปิดในช่วงปลายปีนี้

ส่วนทางที่สอง คืออาจจะต้องเริ่มขยายการหาแหล่งปลูกกาแฟในระดับภูมิภาค เช่น เวียดนาม ลาว โดยเข้าไปทำงานกับเกษตรกรในแบบเดียวกับที่ไทย เพื่อกระจายความเสี่ยงในด้านแหล่งรับเมล็ดกาแฟด้วย

ภาวะโลกรวนที่ส่งผลสะท้อนกลับมาถึงธุรกิจกาแฟ ทำให้ทั้งกรณ์และวรัตต์เห็นตรงกันว่า ธุรกิจร้านกาแฟควรจะต้องมีภารกิจใหม่ร่วมกันอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือการคิดหาทางรักษา “ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม” แก้โจทย์เรื่อง “แพ็กเกจจิ้ง” ไม่ให้ทำลายโลกไปมากกว่าวันนี้