“ต้องอยู่บนเฟซบุ๊กสถานเดียว” มาตรการใหม่ห้ามใส่ลิงก์ในคลิปวิดีโอ

ภาพจากรอยเตอร์

หลายคนที่ใช้บริการเฟซบุ๊ก (Facebook) โซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ในการติดตามข่าวสารคงเริ่มสังเกตได้ในระยะหลังๆ ว่า เมื่อคลิกเข้าไปในลิงก์ที่สนใจที่มีการแชร์กันบนหน้า Feed จะสามารถอ่านเนื้อหาของเพจหรือชมคลิปนั้นๆ ได้เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถคลิกลิงก์อื่นๆ ได้อีก

เหตุที่เป็นเช่นนั้น บีบีซีนิวส์ได้มีการรายงานแล้วว่า เฟซบุ๊กได้ยกเลิกความสามารถในการฝังลิงก์ลงในคลิป หรือคอนเทนต์ที่เผยแพร่บนเฟซบุ๊ก เพื่อควบคุมให้ผู้ใช้งานอยู่บนแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กแต่เพียงสถานเดียว ซึ่งความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนำมาซึ่งความวิตกกังวลว่า เฟซบุ๊กจะเข้าครอบงำการรับข้อมูลข่าวสารของผู้ใช้บริการกว่า 1.5 พันล้านคนด้วยนั่นเอง

โดยที่ผ่านมา มีตัวเลขว่า กลุ่มวัยรุ่น และคนยุคใหม่ติดตามข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูป และทวิตเตอร์มากกว่าสื่ออย่างทีวีไปแล้ว ซึ่งตัวเลขการใช้งานเฟซบุ๊กยังสูงมากหากเจาะเฉพาะกลุ่มที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปีด้วย

โดยบีบีซี ระบุว่า ได้สังเกตุพบว่า ฟังก์ชัน CTA (Call to Action) ซึ่งเป็นฟังก์ชันที่ผู้ผลิตคอนเทนต์นิยมใช้เพื่อฝังลิงก์ลงในคลิปที่เผยแพร่บนเฟซบุ๊กนั้น ใช้การไม่ได้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมาแล้ว แต่เพิ่งได้รับการยืนยันว่า นั่นไม่ใช่บั๊กก็หลังจากนั้น 12 วันถัดมา

ทั้งนี้ ผู้ผลิตคลิปที่ต้องการอัปโหลดวิดีโอขึ้นบนเฟซบุ๊กยังสามารถใส่ลิงก์เพื่อเชื่อมต่อไปยังเว็บไซต์ของตนเองได้ แต่ต้องโพสต์ลงในกล่องข้อความที่ปรากฏอยู่ด้านล่างของคลิป ซึ่งเป็นไปได้ว่า ผู้ใช้งานอาจไม่ได้สังเกตเห็น เนื่องจากกล่องข้อความนี้ก็จะไม่ถูกแสดงในกรณีที่วิดีโอนั้นๆ กำลังเล่นอยู่

แต่ข้อดีก็คือ การตัดความสามารถดังกล่าวออกไปทำให้พื้นที่ในการแสดงผลคลิปนั้นกว้างมากขึ้น

ด้าน Roy Greenslade ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อจาก City University London และอดีตบรรณาธิการของ Daily Mirror และ Sunday Times เผยว่า เขารู้สึกกังวลกับการพัฒนาครั้งนี้ของเฟซบุ๊ก ซึ่งถือเป็นแพลตฟอร์มสื่อที่มีอิทธิพลสูงอย่างมาก เนื่องจากก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊กได้ยึดสื่อประเภทหนังสือพิมพ์ไปได้แล้วเป็นผลสำเร็จ ตอนนี้ก็อาจถึงคราวของกลุ่มทีวีบ้างก็เป็นได้

ซึ่งหากเปรียบเทียบกับโซเชียลมีเดียที่เกิดในยุคเดียวกันอย่าง ทวิตเตอร์ (Twitter) แล้ว ฟังก์ชัน CTA บนทวิตเตอร์ยังใช้การได้อยู่

ด้านโจชัว เบนตัน (Joshua Benton) ผู้อำนวยการของ the Nieman Journalism Lab แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เผยว่า ในสายสัมพันธ์กับสื่อต่างๆ นั้น เฟซบุ๊กมีอิทธิพลเหนือกว่า เนื่องจากเฟซบุ๊กมีผู้ใช้งานที่จงรักภักดีอยู่ในมือเป็นจำนวนมากนั่นเอง

ที่มา: http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000062195