โลกของสื่อกำลังปั่นป่วนเมื่อสำนักข่าววอลล์สตรีทเจอร์นอล เผยแพร่รายละเอียดในเอกสารสัญญาลับ ซึ่งระบุว่า เฟซบุ๊ก (Facebook) ได้ตกลงจ่ายเงินให้เหล่าเซเลบริตีผู้มีชื่อเสียง และสำนักข่าว รวมมากกว่า 140 ฉบับ เพื่อให้ทุกรายถ่ายวิดีโอสดด้วยบริการไลฟ์ (Facebook Live) ตลอดปีนี้ถึงปีหน้า เบื้องต้นผู้บริหารเฟซบุ๊กอธิบายว่า สัญญานี้เป็นเพียงความต้องการเชิญให้ทุกคนมาใช้งาน Facebook Live ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่า เฟซบุ๊กกำลังใช้เงินต่อเงินเพื่อดัน Facebook Live ให้แจ้งเกิดโดยเร็ว
ย้อนไปเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน สำนักข่าววอลล์สตรีทเจอร์นอล รายงานว่า เฟซบุ๊กได้เซ็นสัญญากับบริษัทสื่อทั้งซีเอ็นเอ็น (CNN) นิวยอร์กไทม์ส (New York Times) และบัซฟีด (BuzzFeed) รวมถึงอีกหลายบริษัทผู้สร้างคอนเทนต์ออนไลน์
นอกจากนี้ ยังมีเซเลบฯ ผู้มีชื่อเสียงหลายคน ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นนักแสดงเจ้าบทบาท กอร์ดอน แรมซีย์ (Gordon Ramsey) นักแสดงตลก เควิน ฮาร์ต (Kevin Hart) และนักเขียนผู้โด่งดังที่เคยมาบวชในเมืองไทย ทีปัก โจปรา (Deepak Chopra) ยังมีนักกีฬาอเมริกันฟุตบอล หรือ เอ็นเอฟแอล รุสเซล วิลสัน (Russell Wilson) รวมอยู่ด้วย
ทั้งหมดนี้ตกลงสร้างวิดีโอถ่ายทอดสดด้วยบริการ Facebook Live ซึ่งเป็นคุณสมบัติล่าสุดที่ทำให้ชาวเฟซบุ๊กสามารถถ่าย หรือชมภาพบรรยากาศเหตุการณ์น่าสนใจที่ตัวเองกำลังพบอยู่ได้ด้วยโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียว
เบ็ดเสร็จแล้ว WSJ สรุปว่า สัญญาทั้งหมดนับรวมได้กว่า 140 ฉบับ คิดเป็นเงินมากกว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,753 ล้านบาท มูลค่าเฉลี่ยประมาณ 350,000 เหรียญต่อสัญญา (ราว 12 ล้านบาท) โดยผู้ที่ได้รับเงินมากที่สุด คือ BuzzFeed (3.05 ล้านเหรียญสหรัฐ) New York Times (3.03 ล้านเหรียญสหรัฐ) และ CNN (2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ)
เม็ดเงิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐนี้ถูกวิจารณ์ว่า เป็นการลงทุนในบริการ Live ที่ได้ชื่อว่า เพิ่งตั้งไข่ และยังไม่สามารถทำเงินได้ในตลาดโฆษณาออนไลน์อย่างจริงจัง ดังนั้นจุดประสงค์หลักของเฟซบุ๊กในการปูพรมทำสัญญาครั้งนี้ จึงอยู่ที่การมัดใจผู้ใช้ที่มีจำนวนมากกว่า 1,650 ล้านคนต่อเดือน ให้ได้เสียก่อน
ผลจากสัญญานี้ผู้ใช้เฟซบุ๊กจะได้เห็นวิดีโอของดาราดัง Gordon Ramsay บนฟีด Facebook ปรากฏอยู่ใกล้กับภาพงานแต่งงานของเพื่อนสมัยมัธยม รวมถึงยังมีอีกหลายวิดีโอหาชมยากจากผู้มีชื่อเสียงคนอื่น ซึ่งจะเพิ่มมนต์ขลังให้ Facebook Live แน่นอน
ความเคลื่อนไหวนี้ถือว่า ตรงกันข้ามกับทวิตเตอร์ (Twitter) ซึ่งเปิดตัวแอปพลิเคชันชื่อ “เอ็นเกจ” (Engage) แอปพลิเคชันนี้ได้ชื่อว่าสร้างขึ้นมาสำหรับเซเลบฯ โดยเฉพาะ เพื่อให้บุคคลที่มีชื่อเสียงสามารถส่งข้อความทวิตได้อย่างปลอดภัย แต่เฟซบุ๊กกลับเลือกที่จะดึงเซเลบฯ เหล่านี้ให้ลงมาอยู่ข้างคนธรรมดา ซึ่งผลพลอยได้อาจจะเป็นเม็ดเงินโฆษณาที่จะไหลกลับเข้ากระเป๋าเฟซบุ๊กในที่สุด
แนวคิดเบื้องหลังสัญญาที่เกิดขึ้นทั้งหมด คือความนิยมชมชอบในวิดีโอของชาวออนไลน์ ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เฟซบุ๊กจะมองว่า หากทุกคนสามารถรับข่าวสารพร้อมอัปเดตความเคลื่อนไหวของเซเลบฯ ที่ชื่นชอบได้จากที่เดียวกัน ทุกคนก็จะไม่ปิดเฟซบุ๊ก เรียกว่าจะต้องเสียเวลาคลิกที่เว็บไซต์ข่าวอย่างนิวยอร์กไทมส์ดอทคอม หรือเว็บไซต์ของเซเลบฯ ทำไม ในเมื่อคนเหล่านี้จะต้องเข้ามาหาผู้ชมในเฟซบุ๊กอยู่แล้ว
เมื่อชาวโลกใช้เวลาบนหน้าฟีดเฟซบุ๊กนานขึ้น สายตาที่จะชมโฆษณาบนเฟซบุ๊กก็จะมีมากขึ้น เมื่อนั้นเฟซบุ๊กก็จะมีข้อมูลสำหรับติดตามเพิ่มขึ้น กลายเป็นเม็ดเงินมหาศาลที่จะไหลเข้ามาหล่อเลี้ยงเฟซบุ๊กต่อเนื่อง
แน่นอนว่าเฟซบุ๊กแบ่งรับแบ่งสู้กับเรื่องนี้ โดย นายจัสติน โอซอฟสกี้ (Justin Osofsky) รองประธานฝ่ายพันธมิตรสื่อ และปฏิบัติการระดับโลกของเฟซบุ๊ก อธิบายในอีเมลกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า เฟซบุ๊กต้องการเชิญพันธมิตรที่หลากหลายทั่วโลกให้มาร่วมทดลองใช้บริการ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เฟซบุ๊กได้รับเสียงตอบรับจากองค์กรหลากประเภท และจะสามารถประเมินได้ว่าคุณสมบัติใดที่ควรต้องปรับปรุง
ที่มา: http://www.manager.co.th/cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000065703