เขาไม่เพียงแต่ทำให้ทรู คอร์ปอเรชั่น พลิกโฉมหน้าจากการเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน ไปสู่การเป็นบริการสื่อสารโทรคมนาคมแบบครบเครื่อง แต่ “ศุภชัย เจียรวนนท์” ยังทำมากกว่านั้น เขาได้สร้างโมเดลธุรกิจใหม่ โดยติดอาวุธรบทางการตลาด ที่เรียกว่า Convergence โดยอิงกับไลฟ์สไตล์ลูกค้าอย่างแนบแน่น
ภาพไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่มาใช้สินค้าบริการแบรนด์ “ทรู” ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน นับเป็นความตั้งใจของนักธุรกิจอย่าง “ศุภชัย เจียรวนนท์” ซีอีโอของบริษัททรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่มีต่อการกำหนดทิศทางธุรกิจของทรู
ผลคือคนจำนวนกว่า 8 แสนคน อยู่ในบ้านดูเคเบิลทีวี “ทรูวิชั่นส์” อีกกว่า 5 แสนคนเล่นอินเทอร์เน็ต “ทรูไฮสปีด” อีกกว่า 10 ล้านคนใช้โทรศัพท์มือถือ “ทรูมูฟ” หลายคนยังออกจากบ้านเดินเล่นในห้างหรูกลางเมือง หรือห้างชานเมืองบางแห่ง ก็สามารถใช้อินเทอร์เน็ตผ่าน “ทรู Wi-Fi” หรือหากอยากกินกาแฟสักแก้ว ก็เดินเข้าร้าน “ทรูไลฟ์” ที่กระจายอยู่ทั่วเมือง
หากนับตัวเลขอย่างคร่าวๆ คนเกือบ 20 ล้านคน ไม่ว่าจะทำอะไร ไปที่ไหน “ทรู” ก็เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวัน หลายคนใช้บริการ “ทรู” มากกว่า 1 บริการ และในบางครั้ง “ทรู” ก็เข้าไปอยู่อารมณ์ความรู้สึกอย่างไม่รู้ตัว จากรายการบันเทิงอย่าง “ทรู อะคาเดมี่ แฟนเทเชีย” หรือ AF รวมไปถึงเพลงหวานๆ จากค่าย Love is ของบอย โกสิยพงษ์ ที่ทรูฯเข้าไปเป็นเจ้าของ
“ไม่สามารถบอกได้ว่าทรูฯเป็นคนผลักดันให้เกิดไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ แต่เป็นความพอดีที่ทรูฯมีธุรกิจ มีความพร้อม ขณะที่คนรุ่นใหม่ก็มีความต้องการที่หลากหลาย ทรูฯจึงมาสนองความต้องการของผู้บริโภคมากกว่า ต้องบอกว่าทรูฯเป็นผู้ที่ทำให้ลูกค้าเข้าถึงสิ่งที่ต้องการได้ง่ายขึ้นดีกว่า”
นี่คือคำตอบสไตล์ของ “ศุภชัย” ที่ไม่ค่อยอยากจะโม้เท่าไหร่นัก เช่นเดียวกับการแถลงข่าวหลายครั้ง ที่หากยังไม่พร้อม “ศุภชัย” ก็ไม่อยากจะแถลงอะไรที่เกินจริงนัก
จากไลฟ์สไตล์ของคนที่ Convergence กันมากขึ้นทำให้กลยุทธ์ธุรกิจ Convergence ของทรูฯใช้ได้ผล
และแรงของ Convergence นี้เอง ที่ “ศุภชัย” บอกว่าทำให้ทรูฯเห็นโอกาสและมีบริการต่างๆ จะออกมาอย่างต่อเนื่อง อย่างที่เห็นกับนวัตกรรมล่าสุดอย่าง Touch Sim ซึ่งเป็นซิมโทรศัพท์มือถือทรูมูฟ ที่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือสัมผัสกับแท่นชำระเงิน เปรียบเสมือนกระเป๋าเงินที่ลูกค้าจะมีความสะดวกในการซื้อสินค้าบริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นดูหนัง และรับประทานอาหาร
นี่คืออีกจังหวะหนึ่งที่ “ศุภชัย” บอกว่า ภาพอนาคตของการใช้ชีวิตแต่ละวันของลูกค้าจะมีสีสัน เรียกได้ว่า “ไลฟ์สไตล์คนไทยจะเปลี่ยนแปลงไปมากแบบก้าวกระโดดเลยทีเดียว”
กลยุทธ์ Convergence ทำให้ภาพของธุรกิจทรูฯชัดขึ้น และภาพของ “ศุภชัย” ก็โดดเด่นมากยิ่งขึ้น ราวกับเป็นผู้ทรงอิทธิพลด้านไลฟ์สไตล์ของคนไปซะแล้ว?
“ศุภชัย” หัวเราะกับคำเปรียบเทียบนี้ บอกแต่เพียงว่า “อย่างนั้นเหรอครับ เอาเป็นว่าผมทำให้คนเข้าถึงไลฟ์สไตล์ที่ชอบ ง่ายขึ้นดีกว่า”
“ศุภชัย” เป็นบุตรชายหนึ่งใน 3 คน จากจำนวนบุตรธิดาทั้งหมด 5 คน ของเจ้าสัว “ธนินท์ เจียรวนนท์” เขามีโอกาสพิสูจน์ฝีมือให้ “บิดา” มั่นใจได้ว่าธุรกิจสื่อสารในเครือซีพี ภายใต้ชื่อเทเลคอมเอเชีย คอร์ปอเรชั่น หรือทีเอ ในเวลานั้น จะทำให้ความฝันของเจ้าสัวเป็นจริง แม้ว่าต้องเผชิญกับช่วงตกต่ำสุดขีดหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ทีเอมีหนี้เกือบแสนล้านบาท
จากลูกเจ้าสัวที่ไม่ต้องเจอกับความลำบาก เพราะทุกอย่างมีพร้อม แม้จะมีความกดดันบ้าง เพราะต้องพัฒนาตนเองเพื่อไม่ให้บิดาผิดหวัง แต่เมื่อต้องเจอกับหนี้แสนล้านความกดดันนี้มหาศาลยิ่งกว่า
“ช่วงนั้นผมแทบจะไม่ได้ทำอะไรเลย วันวันมีแต่เจอเจ้าหนี้ เพื่อเจรจายืดหนี้เท่านั้น”
สีหน้าและแววตาของเขาให้ความรู้สึกเล่าราวกับเหตุการณ์ยังคงเพิ่งเกิดขึ้นไม่นานแม้ว่าสถานการณ์นั้นจะผ่านมาประมาณ 10 ปีแล้วก็ตาม
ความยากคือการคุยกับเจ้าหนี้ ที่ไม่มีใครอยากคุยด้วย เพราะเจ้าหนี้คือผู้ที่มีอำนาจต่อรองเหนือกว่า ท่ามกลางภาวะที่ไม่มีใครมั่นใจว่าทีเอจะไปรอด เพราะอนาคตธุรกิจที่เห็นเวลานั้นมีเพียงธุรกิจโทรศัพท์พื้นฐานเท่านั้น ขณะที่โทรศัพท์มือถือที่ทีเอไม่มีกำลังเป็นดาวรุ่งที่มาแรง แต่ความแข็งแกร่งของซีพี และการแสดงความเชื่อมั่นของ “ศุภชัย” และทีมผู้บริหารเวลานั้นต่ออนาคตของทีเอ ว่าจะทำให้เจ้าหนี้ได้เงินคืนแน่นอน ทำให้ผ่านพ้นการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ได้สำเร็จ
งานหินสำหรับ “ศุภชัย” ในวัยเพียงประมาณ 30 ต้นๆ เวลานั้น กลายเป็นวิทยายุทธ์ที่ทำให้เขาได้ฝึกปรือจนเข้าขั้นจอมยุทธ์
กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จ ต่างชาติที่เคยถือหุ้นในทีเอตั้งแต่เริ่มต้นถอยออกไป ทีเอเริ่มมีธุรกิจใหม่ตั้งแต่การเป็นผู้ให้บริการเคเบิลทีวีรายเดียวจากการเทกโอเวอร์มาจากกลุ่มชินวัตร มีธุรกิจโทรศัพท์มือถือ มีธุรกิจอินเทอร์เน็ต ภาพของทีเอเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าผลประกอบการยังไม่กระเตื้องนัก แต่ความมีชีวิตชีวากลับมีมากขึ้น
เมษายน 2547 ทีเอเปลี่ยนชื่อบริษัท เปลี่ยนโลโก้ เป็น “ทรู คอร์ปอเรชั่น” ว่ากันว่า ในกลุ่มผู้บริหารบางคนไม่ค่อยเห็นด้วยกับชื่อ “ทรู” เท่าไรนัก แต่ “ศุภชัย” ขอเลือกเอง และโน้มน้าวจนผู้หลักผู้ใหญ่ในซีพียอม
Sense ของ “ศุภชัย” ไม่พลาด “ทรู” มาพร้อมกับกลยุทธ์ Convergence ที่สามารถนำบริการต่างๆ ในเครือมาผสมผสาน เสนอเป็นแพ็กเกจให้ลูกค้า จนดูเหมือนว่าใช้บริการในเครือทรูฯได้ของแถมมากกว่าค่ายอื่น ภายใน 3 ปี Convergece ทำให้ “ทรู” ทิ้งระยะห่างจากคู่แข่ง ลูกค้าจดจำแบรนด์ “ทรู” ใหม่ว่า ไม่ได้เป็นเพียงบริษัทสื่อสารเท่านั้น แต่วาง Positioning และสื่อได้ชัดเจนว่าคือผู้นำด้านคอนเวอร์เจนซ์ ไลฟ์สไตล์ (Convergence Lifestyle)
แต่ความซับซ้อนของ Convergence ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ “ศุภชัย” จะทำเองทุกเรื่อง การเลือกผู้บริหารแบบถูกที่ ถูกงาน ยังสามารถสะท้อนให้เห็นว่าเขาไม่ได้มีเพียงทักษะการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ และ Sense การตลาดสร้างแบรนด์ทรูฯเท่านั้น แต่ความสามารถในการเลือกผู้บริหาร และการเข้าถึงใจพนักงานระดับล่าง ทำให้ “ศุภชัย” สามารถดัน “ทรู”ให้วิ่งได้เต็มที่
หนึ่งในทีมผู้บริหารระดับสูงรอบข้างของ “ศุภชัย” มีคนหนึ่งเก่งในการเจรจาต่อรองด้วยสไตล์ความชัดเจน และค่อนข้างดุดัน อีกคนหนึ่งเป็นนักเจรจา ประนีประนอมและนุ่มนวล อีกคนหนึ่งละเอียดรอบคอบ ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ และมักท้าทายตัวเองในสิ่งที่คิดว่าทำไม่ได้ และอีกคนเรียกได้ว่าเป็นมือจัดการทำในสิ่ง “ศุภชัย” ไม่อยากลงมือเอง ไม่ว่าจะเป็นการเร่ง จี้ กดดันเพื่อให้ได้งาน
“ศุภชัย” สำหรับพนักงานทั่วไปแล้ว เขาคือผู้บริหารที่น่ารัก เพราะนอกจาการรูปร่างหน้าตาแล้ว การพูดคุยกับพนักงานทั่วไปอย่างเป็นกันเองเมื่อมีโอกาส ยังทำให้หลายคนบอกว่า “ปลื้ม” กับผู้บริหารคนนี้
หากถามว่าผู้บริหารระดับธุรกิจแสนล้านนี้ มีมุมไลฟ์สไตล์ส่วนตัวอย่างไร “ศุภชัย” บอกว่าชอบออกกำลังกาย เพราะทำงานหนักและเหนื่อย ต้องออกกำลังกายคลายเครียด แม้จะมีเสียงถามว่า ไม่รู้สึกว่าเสียเวลาหรือกับการออกกำลังอย่างน้อย 1 ชั่วโมง “ศุภชัย” บอกว่า ไม่รู้สึกว่าเสียเวลา เพราะถ้าสุขภาพไม่ดีคุณก็ทำงานไม่ได้
กีฬาโปรดของ “ศุภชัย” คือชกมวย ยกน้ำหนัก และวิ่ง โดยมีสถานที่ประจำคือโปโล สปอร์ตคลับ
และหากใครจะนัดแนะ “ศุภชัย” เพื่อดินเนอร์ เจรจางานใดๆ ในวันศุกร์ เขาอาจไม่ว่างสำหรับใคร เพราะเย็นวันศุกร์คือวันที่เขามีไว้ให้กับครอบครัว ซึ่งบางครั้งอาจเห็นเขาเดินในสยามพารากอนเพื่อทานอาหารสักมื้อกับภรรยา และเลือกซื้อยีนส์ตัวโปรดสักตัว
สำหรับร้านอาหารโปรดในนาทีนี้ เขาบอกว่า “ผมชอบที่วานิลา การ์เด้นท์ (เอกมัย ซอย 10) เพราะบรรยากาศสบายๆ มีอาหารหลายอย่างให้เลือก และภรรยาผมก็ชอบ”
ในมุมของความสนุกสนานแล้ว “ศุภชัย” บอกว่า ชอบไปเที่ยวดิสนีย์แลนด์ ไปกับลูกๆ และก็เล่นเครื่องเล่นเกือบทุกอย่างพร้อมกับลูกๆ ด้วย นี่ยังไม่นับการเป็นพี่ของน้องๆ หลายคนในมินิโฮม ของเว็บไซต์ทรูไลฟ์ ที่ “ศุภชัย” ปลอมตัวเข้าไปแต่งบล็อกแบบเอาต์ดอร์มานานกว่า 2 ปีแล้ว
เรียกได้ว่า “ศุภชัย” ที่ไม่เพียงแต่ Convergence ธุรกิจเพื่อลูกค้าของทรูฯได้จนกลายเป็นธุรกิจที่มีอิทธิพลต่อลูกค้าจำนวนมากเท่านั้น แต่สีสันในชีวิตการทำงานและส่วนตัว ถือได้ว่า Convergence ได้อย่างลงตัวไม่แพ้กัน
Profile
Name : ศุภชัย เจียรวนนท์
Age : 41 ปี
Education :
มัธยมศึกษา โรงเรียนอัสสัมชัญ
ปริญญาตรี สาขาบริหารธุรกิจ (การเงิน) Boston University, USA
Career Highlights :
2532 เริ่มทำงาน เป็น Management Trainee บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด
2536 เริ่มงานที่บริษัทเทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในตำแหน่ง ผู้อำนวยการฝ่ายห้องปฏิบัติการ (Operation Room) เรียนรู้งานในหลายแผนก และตำแหน่ง จนปี 2540 เป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสด้านปฏิบัติการ
ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่/ประธานคณะผู้บริหาร ในบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทรู มูฟ จำกัด, ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด
Hobby : อ่านหนังสือ เล่นกีฬา