อาจกล่าวได้ว่าเดือนกรกฎาคมที่กำลังจะจบลงนี้เป็นเดือนแห่งการรวบรวมโศกนาฏกรรมครั้งสะเทือนใจทั่วโลกเอาไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์วัยรุ่นชาวอัฟกันอายุ 17 ปีใช้ขวานและมีดเล่นงานผู้โดยสารในขบวนรถไฟที่แล่นระหว่างเมือง Treuchlingen กับ เวือร์บวร์ก ในรัฐบาวาเรีย เยอรมนี จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส 3 ราย หรือเหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในเมืองมิวนิกของเยอรมนีซึ่งมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และเหตุการณ์ระเบิดฆ่าตัวตาย ของผู้ลี้ภัยชาวซีเรียที่บาร์แห่งหนึ่งในเมืองอันสบาค ทางตอนใต้ของเยอรมนี เมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 24 กค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บนับสิบคน
แต่ที่น่าเศร้าสลดที่สุดอาจเป็นการใช้หุ่นยนต์กู้ภัยในฐานะ “มือสังหาร” ปลิดชีวิตชายชุดดำในเมืองดัลลัส สหรัฐอเมริกา เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา และทำให้ “สหรัฐอเมริกา” ถูกจารึกว่าเป็นประเทศแรกของโลกที่มีการปลิดชีพมนุษย์โดยใช้หุ่นยนต์ไปแล้ว ถึงแม้ทางหน่วยงานต้นสังกัดจะออกมาให้ความเห็นว่า การใช้หุ่นยนต์ดังกล่าวก็เพื่อ ปกป้องชีวิตของเจ้าหน้าที่ไม่ให้ต้องเสี่ยงอันตรายก็ตาม
โดยหลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ฝ่ายที่ไม่ต้องการให้ชื่อของสหรัฐอเมริกาถูกบันทึกในลักษณะนั้นได้หยิบยกเหตุผลว่า มีการใช้หุ่นยนต์ปลิดชีพมนุษย์ในการสงครามเกิดขึ้นมากมายก่อนหน้านี้ แต่ฝ่ายที่เห็นค้านระบุว่า เหตุการณ์ในดัลลัสก็มีปัจจัยที่แตกต่างจากสถานการณ์ในสมรภูมิรบมากมาย อีกทั้งในภาวะสงคราม ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ผู้เห็นเหตุการณ์ หรือผู้ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงแต่ต้องเสี่ยงจะโดนลูกหลงไปด้วยนั่นเอง
แต่ก็ต้องยอมรับว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มนุษย์สามารถพัฒนาหุ่นยนต์จนทำหลายสิ่งหลายอย่างแทนมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์นั้นกำลังจะถูกแปรเปลี่ยนไปสู่การใช้งานหุ่นยนต์ในงานที่มี “ชีวิต” ของมนุษย์เป็นเดิมพัน
นั่นจึงเป็นไปได้ว่า เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของเจ้าหน้าที่และประชาชนทั่วไป เราอาจได้เห็นการใช้งานหุ่นยนต์ ในลักษณะเดียวกับกรณี ดัลลัสอีกในอนาคต ซึ่งหากมองว่า การนำหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่เจ้าหน้าที่ใน สถานการณ์ตึงเครียด และสามารถลดการสูญเสียชีวิตเจ้าหน้าที่หรือพลเรือนที่อยู่ใกล้เคียงลงได้ ก็น่าจะถือว่า เป็นการใช้งานหุ่นยนต์อย่างเกิดประโยชน์
Sean Bielat อดีตนาวิกโยธิน ซึ่งปัจจุบันเป็นซีอีโอของบริษัทผู้พัฒนาหุ่นยนต์ Endeavor Robotics เผยว่า “สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ถูกฝึกมา เมื่อพบว่ามีปืนเล็งมาที่เขา เจ้าหน้าที่จะไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยิงตอบโต้กลับ”
ในมุมของ Bielat จึงมองว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดความสูญเสีย (ชีิวิต) นี้สามารถลดลงได้ ด้วยการเพิ่มระยะห่าง ระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ต้องหา ด้วยการส่งหุ่นยนต์เข้าไปแทนที่ เมื่อมีช่องว่างมากขึ้น เจ้าหน้าที่ไม่รู้สึกตึงเครียด หรือกังวลว่าชีวิตตนเองกำลังตกอยู่ในอันตราย โอกาสที่จะเจรจากับฝ่ายตรงข้ามได้สำเร็จก็มีสูงขึ้น
ไม่เพียงเท่านั้น เขายังมองว่า เหตุการณ์ที่ต้องใช้หุ่นยนต์ตำรวจเข้ามารับหน้าที่จัดการกับผู้ต้องหานั้น คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้บ่อยนัก เนื่องจากต้นทุนในการพัฒนาหุ่นยนต์ที่ยังสูงมาก บางตัวมีราคาสูงถึง 100,000 เหรียญสหรัฐ เว้นเสียแต่ว่าจะมีการนำเอาเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติเข้ามาใช้งาน เพื่อลดต้นทุนการผลิตลง
โดยในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการเปิดเผยสถิติการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ว่าจะมีการ เสียชีวิต 1 รายทุก ๆ 61 ชั่วโมง ซึ่งทำให้งานตำรวจจัดเป็นงานที่เสี่ยงภัยระดับสูงมากงานหนึ่ง แต่ที่น่าตกตะลึง กว่านั้นก็คือ ในทุก ๆ วันจะมีประชาชนถูกปลิดชีพโดยตำรวจถึง 3 คนเลยทีเดียว (อ้างอิงจาก BusinessInsider)
นั่นจึงแสดงให้เห็นว่า ในบางพื้นที่ หากเกิดความไม่ลงรอยกันอย่างมากระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฏร์ กับประชาชน การนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้เป็นสื่อกลางก็อาจเป็นเรื่องที่จำเป็น
อย่างไรก็ดี การใช้งานหุ่นยนต์ตำรวจก็ไม่ได้จำกัดว่าจะใช้ในลักษณะของการเป็นมือสังหารเสมอไป เมื่อในหลาย ๆ ประเทศก็มีการพัฒนาหุ่นยนต์อย่างสร้างสรรค์และนำมาใช้งานแทนการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น
1. Griffin
หุ่นยนต์กริฟฟินกับความสูงเพียง 12 นิ้ว และมีล้อ 6 ล้อพร้อมสายพานเพื่อการเคลื่อนที่ได้อย่างสะดวก ได้เข้ามาช่วยเหลืองานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในคลีฟแลนด์ กริฟฟินพัฒนาโดยวิทยาลัยชุมชนคูยาโฮกา (Cuyahoga Community College) ซึ่งติดตั้งกล้อง และไฟหน้าให้มันเพื่อให้ตำรวจได้ใช้วิเคราะห์สถานที่เกิดเหตุ ข้อดีของกริฟฟินคือมีน้ำหนักเบา ขนย้ายได้ง่าย และสามารถปฏิบัติการได้ทันที
2. โดรนสกั๊งค์สลายฝูงชน
ตำรวจในเมือง Uttar Pradesh ของอินเดียได้ใช้โดรนสกั๊งค์ พัฒนาโดยบริษัท Desert Wolf ในแอฟริกาใต้ในการปล่อยพริกไทย – เพนท์บอลลงใส่ฝูงชนที่ชุมนุมประท้วง โดยโดรนสกั๊งค์นี้มาพร้อมกล้อง HD และไมโครโฟน ทั้งยังสามารถยิงเพนท์บอลได้ถึง 20 ลูกต่อวินาที ซึ่งเหมาะสำหรับใช้จัดการกับหัวหน้าผู้ชุมนุม ซึ่งมักอยู่บนเวทียกพื้น ที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไม่ถึงตัว
3. หุ่นยนต์ควบคุมนักโทษ
เรือนจำ Pohang ของเกาหลีใต้มีการใช้หุ่นยนต์ Robo-Guard คอยตรวจความเรียบร้อย โดยหุ่นยนต์ดังกล่าวมีความสูงถึง 5 ฟุต มาพร้อมกล้อง 3 มิติ และซอฟต์แวร์ตรวจจับพฤติกรรมของผู้ต้องขังได้ โดยมันสามารถรายงานเมื่อพบสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นภายในเรือนจำ เช่น มีการต่อสู้ หรือมีผู้ต้องขังนอนอยู่ที่พื้น ซึ่งเมื่อพบสิ่งผิดปกติ เจ้าหน้าที่ผู้คุมเรือนจำจะสื่อสารกับนักโทษผ่านไมโครโฟนที่ตัวหุ่่นได้อย่างสะดวกนั่นเอง
4. DoGo หุ่นยนต์สายพานสัญชาติอิสราเอล
DoGo เป็นหุ่นยนต์สายพานจากอิสราเอล น้ำหนัก 26 ปอนด์ สูง 11 นิ้ว พัฒนาโดยบริษัทเจเนรัล โรโบติกส์ (General Robotics) โดยหุ่นยนต์ตัวนี้เหมาะสำหรับการลอบเข้าไปในบ้านแบบเงียบ ๆ แถมยังขึ้นบันไดได้ ข้ามสิ่งกีดขวางได้ ตำรวจสามารถใช้หุ่นยนต์ DoGo นี้สื่อสารกับคนร้าย หรือถ้าต้องเกิดการต่อสู้ขึ้น หุ่นก็สามารถพ่นพริกไทย หรือเปิดแสงใส่ตา เพื่อให้คนร้ายแสบตาระยะหนึ่งได้ด้วย
5. โดรนตำรวจญี่ปุ่นสำหรับจับ “โดรน”
โดรนตำรวจที่มาพร้อมตาข่ายลำนี้เป็นผลงานการพัฒนาของตำรวจญี่ปุ่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสกัดโดรนอื่น ๆ ไม่ให้บินเข้ามายังพื้นที่หวงห้าม หรือพื้นที่ของทางราชการ และการใช้ตาข่ายขนาดยักษ์จับแทนที่จะใช้กระสุน หรืออาวุธชนิดอื่นก็ช่วยให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย
6. เอมิลี่ หุ่นยนต์กู้ภัยสำหรับผู้อพยพ
บ่อยครั้งที่ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปต้องรับเรือผู้อพยพชาวซีเรียไว้ด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรม แต่หลายครั้งเช่นกันที่เรือเหล่านั้นแล่นมาไม่ถึงฝั่ง ทั้งจากปัญหาบรรทุกเกิน มีชูชีพไม่พอกับจำนวนคนบนเรือที่แออัด ฯลฯ จึงมีการพัฒนาหุ่นยนต์นามเอมิลี่ (Emily) หรือมาจากชื่อของ Emergency Integrated Lifesaving Lanyard ผลงานการพัฒนาของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Texas A&M ไว้คอยช่วยเหลือผู้อพยพเหล่านั้น โดยเอมิลี่จะทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่กู้ภัย และเข้าช่วยผู้ที่ยังลอยคอได้ในน้ำ เนื่องจากตัวหุ่นยนต์มีลักษณะเป็นเรือที่ลอยน้ำได้ ส่วนเจ้าหน้าที่กู้ภัยจะได้มีเวลาไปช่วยผู้ที่จมน้ำรายอื่น ๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือมากกว่านั่นเอง
จะเห็นได้ว่า นอกจากการใช้งานหุ่นยนต์ตำรวจในเหตุรุนแรงเพื่อป้องกันเหตุร้ายและการก่ออาชญากรรมแล้ว ในอีกด้านหนึ่งก็มีการใช้งานหุ่นยนต์ตำรวจเพื่อประโยชน์ในด้านมนุษยธรรมด้วย คุณค่าที่แท้จริงของหุ่นยนต์ตำรวจจึงขึ้นอยู่กับ “แนวคิด” ในการใช้งานของหน่วยงานนั้น ๆ และในฐานะประชาชนเอง การหันมาเคารพ และให้ความสำคัญกับสังคมส่วนรวมอาจดีกว่าแก่งแย่งเห็นแต่ตัว จนสถานการณ์เลวร้ายให้ต้องพึ่งพาหุ่นยนต์ตำรวจให้ปฏิบัติภารกิจแทนมนุษย์อย่างเช่นทุกวันนี้ก็เป็นได้
ที่่มา: http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000075658