วันนี้คุณสมบัติสแกนม่านตาหรือ Iris scanning กลายเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นในสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่จากซัมซุง “Samsung Galaxy Note7” สิ่งที่อาจตามมานับจากนี้คือเทคโนโลยีสแกนม่านตามีโอกาสที่จะถูกนำมาใช้ในสินค้าไอทีอื่นมากขึ้นในอนาคต ทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และพีซี เพื่อให้ผู้ใช้ไม่ต้องวุ่นวายกับการตั้งหรือใช้พาสเวิร์ดรหัสผ่านอีกต่อไป
การเปิดตัว Note7 แสดงว่าฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพื่อการสแกนม่านตานั้นพร้อมที่จะถูกนำมาใช้อุปกรณ์พกพาอย่างเต็มตัว เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเปิดใช้งานเครื่องได้เร็วขึ้นขณะเดินทาง หลักการทำงานของระบบสแกนม่านตานั้นไม่ยุ่งยาก เพราะอุปกรณ์สแกนจะยิงแสงอินฟราเรด เพื่อตรวจสอบม่านตาของผู้ใช้ที่อยู่ตรงหน้า ก่อนที่จะยืนยันตัวบุคคล เพื่ออนุญาตให้ผู้ใช้เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวที่ถูกเก็บในเครื่อง
แม้จะถูกวิจารณ์ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะบังคับสายตาให้สู้แสงที่จะถูกฉายมาที่ดวงตา แต่การเปิดตัวเทคโนโลยีนี้ใน Galaxy Note7 ถือว่าเป็นบันไดขั้นสำคัญ เพราะผู้เชี่ยวชาญล้วนลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า ระบบสแกนม่านตามีความปลอดภัยมากกว่าระบบสแกนลายนิ้วมือ ซึ่งสามารถทำปลอมขึ้นมาได้
หากย้อนประวัติกลับไปช่วงก่อนหน้านี้ Galaxy Note7 ไม่ใช่สมาร์ทโฟนแรกที่มีเทคโนโยีสแกนม่านตา เพราะสมาร์ทโฟนของฟูจิตซึ Fujitsu Arrows NX F-04G และไมโครซอฟท์ Microsoft Lumia 950 XL ล้วนมีคุณสมบัติสแกนม่านตาแล้ว โดยทั้งคู่ถูกเปิดตัวเมื่อปีที่ผ่านมา
สำหรับสินค้าสุดฮิตของแอปเปิลอย่าง iPhone นักวิทยาศาสตร์ชีวภาพแห่งสถาบัน Hoyos Labs นาม “อาเซม ออธแมน” (Asem Othman) มีข้อมูลว่าระบบสแกนม่านตาจะมาใน iPhone แน่นอนช่วงปี 2018
ไม่ว่าอย่างไร ขณะนี้ เทคโนโลยีสแกนม่านตาถูกไมโครซอฟท์ผลักดันให้เป็นหนึ่งในวิธีลงชื่อเพื่อใช้งานคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการ Windows 10 ผ่านระบบ Windows Hello ที่ไมโครซอฟท์สร้างสรรค์มาเพื่อให้ผู้บริโภคลดการใช้งานรหัสผ่าน โดย Windows Hello รองรับการสแกนนิ้วมือด้วยเช่นกัน
สำหรับ Note7 เทคโนโลยีสแกนม่านตาถือเป็นเพียงหนึ่งในจุดขายของอุปกรณ์เท่านั้น โดย Note7 ยังยึดจุดขายเรื่องการกันน้ำ ความสามารถในการใช้งานที่ยืดหยุ่นหลากหลายขยายได้เห็นชัด รวมถึงการตอบโจทย์การใช้งานเทคโนโลยีเสมือนจริงหรือ VR ที่จะมีบทบาทต่อชาวโลกอย่างยิ่งใหญ่ในอนาคต
ที่มา: http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000076867