แม้จะมีประเด็นทางสังคมมาเกี่ยวข้อง จนหน่วยงานรัฐบางแห่งต้องสั่งห้ามเล่น กสทช.ถึงกับต้องออกมาจัดโซนนิ่ง และจำกัดเวลาเล่นก็ตาม แต่ Pokemon Go (โปเกมอน โก) ก็ยังโด่งดังแบบฉุดไม่อยู่จริงๆ
หลังจากที่ได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ที่ผ่านมา ยังคงสร้างกระแสการจับโปเกมอนไปทั่วเมือง รวมถึงจุดที่เป็นแลนด์มาร์กต่างๆ ของกรุงเทพฯ ได้กลายเป็นจุดรวมพลให้คนมาจับโปเกมอนได้ทั้งวัน และก็เป็นไปตามคาดที่เหล่าบรรดาสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านเสริมความงาม หรือศูนย์การค้าต่างเกาะกระแสเกมนี้เข้าให้แล้ว
จุดต่างๆ ที่ว่าที่สาวกจะมาจับโปเกมอนเยอะๆ ขึ้นอยู่กับเสา PokeStop หรือ Gym ที่ใช้ในการประลองโปเกมอนกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดวงใครดวงมันว่าสถานที่ไหนจะมี PokeStop อยู่ใกล้ ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะอยู่ตามสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญรวมถึงวัด ศาลพระภูมิต่างๆ ซึ่งเสานี้จะมีไอเท็มเด็ดๆให้เหล่าเทรนเนอร์ และมีโปเกมอนตัวเจ๋งๆ ซ่อนอยู่
แต่ที่บอกว่าขึ้นอยู่กับดวงว่าจะมีเจ้า PokeStop หรือไม่นั้น ก็เพราะว่า PokeStop ได้อิงจากสถานที่ในเกม Ingress เป็นเกมแรกของผู้พัฒนา Niantic ที่พัฒนาเกม Pokemon Go เช่นกัน แต่ในเกม Ingress จะเรียกว่า “พอร์ทัล” ซึ่งจะผูกกับ Google Maps เมื่อทาง Niantic ได้พัฒนาเกมโปเกมอน ก็อิงจากระบบเดิม เพื่อไม่เป็นการเสียเวลาพัฒนาระบบใหม่
สิ่งที่นักการตลาดหรือผู้ประกอบการจะทำได้ก็คือมองหาว่าบริเวณร้านมีเสา PokeStop หรือไม่ แล้วทำการซื้อไอเท็มที่เรียกว่า Lure Module ที่จะมีลักษณะเหมือนกลีบดอกซากุโปรยลงมารอบๆ เสา จะมีไอเท็ม และโปเกมอนตัวเจ๋งๆ ที่จะดึงให้เหล่าเทรนเนอร์นักล่าโปเกมอนมาได้ แต่ถ้าไม่มีก็ยังไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะยังไม่มีการซื้อพื้นที่เพื่อติดตั้งเสานี้แต่อย่างใด
วิธีซื้อก็เพียงแค่เข้าไปที่ Shop ในเกม แล้วเลือก Lure Module จะมีราคา 100 เหรียญ แต่ถ้าซื้อ 8 ชิ้นจะเหลือราคา 680 เหรียญ แต่ทั้งนี้ต้องทำการซื้อเหรียญโปเกมอนในเกมเสียก่อน ราคาจะเริ่มต้นตั้งแต่ 100 เหรียญเท่ากับ 35 บาท ไปจนถึง 14,500 เหรียญ ราคา 3,500 บาท เมื่อซื้อแล้วก็นำไปติดตั้งที่เสา PokeStop ซึ่งระยะเวลาในการใช้ Lure Module จะมีเวลา 30 นาทีต่อ 1 ครั้ง ผู้ประกอบการต้องทำการโปรโมตผ่านสื่อ หรือโซเชียลมีเดียว่าจะทำการปล่อยช่วงเวลาไหน
ในตอนนี้เริ่มมีแบรนด์ดังทั้งร้านอาหาร และศูนย์การค้าต่างใช้ไอเท็ม Lure Module เพื่อล่อนักล่าโปเกมอนมากมายแล้ว ทั้งศูนย์การค้าสยามพารากอน, ร้านอีฟแอนด์บอย และร้านอาหารอื่นๆ ที่มีการโปรโมตอย่างเต็มที่ว่ามีการปล่อย Lure Module ในช่วงเวลาไหน เพื่อเป็นการดึงดูดให้ลูกค้ามาช่วงเวลานั้นได้ ซึ่งบางที่อาจจะมีเพียงแค่การโพสต์ว่ามีโปเกมอนตัวเจ๋งๆ ปรากฏ ให้รีบมาจับ หรือมีการทำแคมเปญร่วมในการจับโปเกมอน และโพสต์ภาพลงโซเชียลมีเดียเพื่อลุ้นของรางวัล
บาร์บีคิวพลาซ่ากับกระแสโปเกมอน โก
มาดูในกรณีของบาร์บีคิวพลาซ่าที่ขึ้นชื่อเรื่องการทำเรียลไทม์มาร์เก็ตติ้งในครั้งนี้ก็มีการทำคอนเทนต์เพื่อรับกับกระแสนี้เช่นกัน
บุณย์นุช บุญบำรุงทรัพย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แบรนด์บาร์บีคิวพลาซ่า บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด กล่าวว่า “แนวทางของแบรนด์เราก็คือการรีเฟรชแบรนด์ให้ทันสมัย มีการเกาะกระแสทำเรียลไทม์มาร์เก็ตติ้งอยู่ตลอด เกมโปเกมอนก็นเป็นกระแสที่เข้ากับทิศทางของแบรนด์ เราก็มีการทำคอนเทนต์ล้อไปกับกระแสเพื่อให้เห็นว่าแบรนด์อินเทรนด์ไปกับทุกกระแส
แต่ในการทำการตลาด ถ้าบริเวณหน้าร้านเรามีจุด PokeStop ก็ดีไป มีคนมาจับเต็มหน้าร้าน แต่คงไม่ถึงขั้นซื้อไอเท็ม Lure Module เพื่อดึงดูดให้คนเข้าร้านเพื่อมาจับโปเกมอน ซึ่งเรายังอยากคงคอนเซ็ปต์ของแบรนด์ที่ว่า ทำมื้อนี้ให้ดีที่สุด ให้โฟกัสที่อาหารอยู่ตรงหน้า โฟกัสที่คนรอบข้างมากกว่าก้มหน้าเล่นโทรศัพท์ แค่อาจจะมีการโพสต์ว่าสาขาไหนมีจุด PokeStop บ้างเพื่อเป็นกิมมิกเล็กๆ
เรามองว่ากระแสที่เข้ามาทุกกระแสมันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เราก็ต้องมาชั่งน้ำหนักดูว่าอันไหนควรทำ หรือไม่ควรทำ ซึ่งกระแสของเกมนี้มันยังมีข่าวแง่ลบอยู่บ้าง เราไม่อยากทำอะไรเป็นการส่งเสริม หรือชี้นำให้คนเล่นมากจนเกินไป ซึ่งก็มีหลายแบรนด์ที่ปล่อยไอเท็ม Lure Module ก็ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ และที่สำคัญคือเหมาะสมกับแบรนด์หรือไม่ อะไรที่มันมากไปก็ไม่ดี และต้องมีจริยธรรมในการทำด้วย”