เมืองไทยขาด “โชห่วย” ไม่ได้ แนะแบรนด์ใช้ดิจิทัลช่วยขยาย

เอคเซนเชอร์ บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการ และบริหารเทคโนโลยี ระบุถึงแนวโน้มในการทำธุรกิจในสินค้าอุปโภคบริโภค โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการกระจายสินค้า เน้นช่องทางเทรดิชันนอล หรือร้านโชห่วยที่ยังคงเป็นช่องทางสำคัญในต่างจังหวัด

ตลาดประเทศไทยเป็นตลาดปราบเซียนในเรื่องค้าปลีก และมีความโดดเด่นมากที่สุดในอาเซียน ทั้งในเรื่องตลาดที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการใช้โมบายล์มากขึ้น ส่งผลให้นักการตลาดต้องปรับตัวเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

ปัจจุบันตลาดค้าปลีกในไทยมีสัดส่วนรายได้ของร้านค้าแบบโมเดิร์นเทรด 50% และเทรดิชันนอลเทรด 50% จากที่ประเทศอื่นมีสัดส่วนเทรดิชันนอลเทรดอยู่ 70% และโมเดิร์นเทรดเองก็มีหลายฟอร์แมตด้วยกันทั้งไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายส่ง เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคให้ความสนใจในตลาดประเทศไทยเป็นพิเศษ รวมถึงปัจจัยเรื่องโมบายล์เป็นตัวผลักดันให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น

เทรดิชันนอลเทรด หรือร้านโชห่วยยังมีส่วนสำคัญ มีการประเมินว่าในประเทศไทยมีร้านโชห่วยอยู่ทั่วประเทศรวม 8 แสน – 1 ล้าน ร้านค้า ส่วนใหญ่อยู่ในต่างจังหวัด โดยเฉพาะตามหมู่บ้าน ตามซอกซอยที่โมเดิร์นเทรดเข้าไม่ถึง ซึ่งร้านโชห่วยเหล่านี้ส่วนใหญ่จะซื้อสินค้าผ่านยี่ปั๊ว หรือดิสทริบิวเตอร์ของแบรนด์ ซึ่งก็ยังพบอุปสรรคในเรื่องกระจายสินค้าอยู่ดี ยังไม่มีใครที่สามารถกระจายสินค้าได้ครบ 100%

จากข้อมูลการสำรวจพบว่ามีผู้ผลิตรายใหญ่เพียง 2 ราย ที่เข้าถึงร้านค้าได้ 5 แสนร้าน รองลงมาสามารถเข้าถึงได้ 2 แสนร้านค้า ส่วนที่เหลือเข้าถึงได้เพียงหลักหมื่นร้านค้าเท่านั้น เนื่องจากยังไม่มีเครือข่าย และทีมงานมากพอ

ขณะที่เอคเซนเซอร์มองว่าร้านโชห่วยยังมีสำคัญมาก เพราะว่ายังคงสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกพื้นที่ ในขณะที่โมเดิร์นเทรดอยู่เฉพาะในเมือง และถนนใหญ่ ในช่วงที่ผ่านมามีการอิ่มตัวด้วย ส่วนทางด้านของผู้ผลิตเองก็สนใจขยายไปช่องทางนี้มากขึ้นเช่นกัน เพราะกลุ่มผู้ค้าโมเดิร์นเทรดมีการต่อรองเรื่องราคาสูง ในขณะที่ร้านโชห่วยเป็นรายย่อยไม่มีการต่อรองเท่าไหร่ และใกล้ตัวผู้บริโภคมากกว่า มีโอกาสในการเติบโตสูงอยู่

ผู้ประกอบการจึงควรนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในเรื่องการจัดการจริงๆ แล้ว เอคเซนเซอร์มีบริการสำหรับช่วยแก้ปัญหาทั้งในส่วนของพนักงานขายและส่วนของร้านค้าเป็นในรูปแบบแอปพลิเคชั่นในการขายสะดวกขึ้น

ไดวท์ ฮัชชินส์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจ การวางกลยุทธ์ บริษัท เอคเซนเชอร์ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่าช่องทางร้านโชห่วยยังเป็นสิ่งสำคัญสำหรับค้าปลีก เพราะยังเข้าถึงผู้บริโภคได้ในทุกพื้นที่ แต่แบรนด์ผู้ผลิตสินค้ายังไม่สามารถเข้าถึงร้านค้าได้ครบทั่วประเทศ การมีเครื่องมือหรือใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจึงทำให้สื่อสารได้ง่ายขึ้นทั้งในส่วนของพนักงานขาย และร้านค้าโดยตรง มีข้อมูลของร้านค้าและผู้บริโภคโดยตรง จะส่งผลช่วยในการเพิ่มยอดขายได้ เพราะช่วยในเรื่องจัดการสต็อกสินค้าได้ ทำให้ลดต้นทุนได้

ไดวท์ยังเสริมอีกว่า เทคโนโลยีไม่ได้เป็นข้อจำกัดแก่กลุ่มร้านค้าโชห่วยแล้ว ปัจจัยในด้านของผู้บริโภคก็มีส่วนสำคัญ เพราะผู้บริโภคมีรายได้ระดับกลางขยายตัวมากขึ้นปัจจุบันมีสัดส่วน 30% ของประชากร คนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มคนสำคัญที่มีอำนาจในการซื้อ เลือกสินค้าที่ดีขึ้น มียี่ห้อ มีพัฒนาการในการซื้อสินค้า และมีพฤติกรรมในการใช้โมบายล์สูงมาก  เอคเซนเซอร์ได้คาดการณ์ว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้จะเพิ่มมูลค่าในการซื้อสินค้ามากขึ้น 20% ในอนาคต