บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งวงการเครื่องสำอาง “ลอรีอัล” (L’Oreal) เผยแนวทางการแก้ปัญหาผมร่วงแบบใหม่ด้วยการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติในการสร้างรูขุมขน พร้อมขอเวลาสามปีเป็นอย่างน้อยในการปรับปรุงกระบวนการ
Jose Cotovio ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมของลอรีอัลเผยว่า “หากเราสามารถพัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์ชีวภาพ (Bio-print) ให้สร้างรูขุมขนขึ้นได้ จะทำให้เรามีองค์ความรู้เกี่ยวกับชีววิทยาของเส้นผม และเข้าใจถึงความลับของการงอกของเส้นผม รวมถึงการหลุดร่วงด้วย”
พร้อมกันนั้นเขายังเผยว่า รูขุมขนที่สร้างขึ้นจากเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิตินั้นจะถูกนำไปใช้ในการทดสอบโปรดักซ์ใหม่ ๆ ได้อีกต่างหาก
“ปัญหาผมหลุดร่วงมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ หากเราประสบความสำเร็จในการหาต้นตอของปัญหา ก็ถือเป็นการปฏิวัติวงการครั้งใหญ่เลยทีเดียว และอาจนำไปสู่ขั้นตอนต่อไป นั่นก็คือ การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อว่าจะเป็นไปได้หรือไม่”
โดยเทคนิคที่ลอรีอัลคาดว่าจะนำมาใช้นั้นเป็นการใช้เลเซอร์เป็นตัวช่วยในกระวนการพิมพ์แบบชีวภาพ ซึ่งเป็นเทคนิคที่พัฒนาโดยบริษัท Poietis โดยเริ่มจากการสร้างแผนที่ดิจิตอลที่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าเซลล์ที่ยังมีชีวิตอยู่ในบริเวณใด และเนื้อเยื่อส่วนใดที่สามารถแทนที่ได้ด้วยโครงสร้างเนื้อเยื่อใหม่ที่สร้างขึ้นมา
จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการพิมพ์โดยยิงแสงเลเซอร์ออกมาผ่านเลนส์ เมื่อเลเซอร์กระทบกับแถบผ้าหมึกที่ประกอบด้วย Bio-ink ก็จะเกิดละอองขนาดเล็กจิ๋วตกลงบนพื้นที่ที่ต้องการ ซึ่งการสร้างเนื้อเยื่อนั้น จะสร้างขึ้นจากละอองขนาดเล็กนี้นั่นเอง โดยสามารถสร้างได้ที่ประมาณ 10,000 หยดต่อวินาที
จากนั้นก็ต้องให้เวลากับเนื้อเยื่อที่สร้างขึ้นสักระยะเพื่อให้มีความสมบูรณ์แข็งแรง ก่อนที่จะพัฒนาเป็นรูขุมขนต่อไป ซึ่ง Poietis เผยว่า ปัจจุบันได้มีการใช้เทคนิคดังกล่าวนี้ในการสร้างกระดูกอ่อนแล้วเช่นกัน
ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว เวลาที่ใช้ในการพิมพ์ผิวหนังขนาดกว้าง 1 ซม. และหนา 0.5 มิลลิเมตรอยู่ที่ประมาณ 10 นาที แต่รูขุมขนเป็นโครงสร้างที่ซับซ้อนกว่าเซลล์ผิวหนังมาก แถมยังประกอบด้วยเซลล์ชนิดต่าง ๆ ถึง 15 ชนิด จึงอาจใช้เวลาที่นานกว่านั้น
สำหรับบริษัท Poietis ไม่ได้เป็นบริษัทเดียวที่พัฒนาเกี่ยวกับเทคโนโลยีการพิมพ์ชีวภาพ แต่อาจถือได้ว่าเป็นบริษัทเดียวที่พัฒนาโดยใช้เลเซอร์ในการสร้างเนื้อเยื่อ ขณะที่บริษัทอื่นพัฒนาโดยใช้หัวฉีด ซึ่งบริษัท Poietis ให้ความเห็นว่า การใช้เลเซอร์เป็นเทคนิคที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดความเสียหายให้กับเซลล์ได้มากกว่าการใช้หัวฉีด กระนั้น Fabien Guillemot ซีอีโอของบริษัทก็ยังเผยว่า การพัฒนาเทคนิคและองค์ความรู้ที่มีอยู่เดิมมาใช้สร้างรูขุมขนนั้นเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก
“มันเป็นโครงสร้างที่ซับซ้อนมากกว่าโปรเจ็คการพิมพ์โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพที่เราเคยทำมามาก” Guillemot กล่าว
ส่วน Alopecia UK องค์กรการกุศลที่ให้การสนับสนุนและคำแนะนำด้านปัญหาผมร่วงเองก็เผยว่ามีความรู้สึกที่หลากหลายต่อการพัฒนาครั้งนี้
“การได้รู้ว่าบริษัทอย่างลอรีอัลลงทุนในเทคโนโลยีที่อาจช่วยขจัดปัญหาผมร่วงได้ในอนาคตเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก” Amy Johnson โฆษกของ Alopecia UK กล่าว พร้อมทิ้งท้ายว่า “อย่างไรก็ดี เราคิดว่านี่เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น หรือหากเทคโนโลยีใหม่นำไปสู่หนทางแห่งการรักษาได้จริง แต่มาพร้อมค่าใช้จ่ายมหาศาล จะมีผู้บริโภคสักกี่คนที่สามารถจ่ายค่ารักษานั้นได้”
ที่มา: http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000098345