Zume Pizza แห่งเมาท์เทนวิว แคลิฟอร์เนียโชว์ความสำเร็จจากการนำหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่เชฟแล้วอย่างเป็นทางการ พร้อมอ้างว่าสามารถประหยัดค่าแรงได้กว่าครึ่ง โดยได้นำเงินที่ประหยัดได้นั้นมาเพิ่มคุณภาพของวัตถุดิบแทน
“สิ่งที่เราทำคือการหันไปใช้งานระบบออโตเมชัน และหุ่นยนต์ในการผลิตพิซซ่าที่ดีขึ้นสู่ผู้บริโภค” จูเลีย คอลลินส์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Zume Pizza กล่าว
โดยพิซซ่ายี่ห้อนี้ไม่มีหน้าร้านให้นั่งรับประทาน และจ้างพนักงานเพียงไม่กี่ตำแหน่งเท่านั้น (ซูเชฟ กับวิศวกรซอฟต์แวร์) เมื่อเทียบกับแบรนด์พิซซ่าอื่น ๆ อย่างไรก็ดี พนักงานที่จ้างเข้ามานั้นจะได้รับเงินเดือน และผลตอบแทน รวมถึงหุ้นของบริษัทอย่างเต็มที่ โดยมีการจ้างงานครั้งแรกเมื่อ 8 กันยายนปีที่แล้ว (บริษัทมีพนักงาน 50 คน เป็นพนักงานในระดับที่ไม่ต้องมีทักษะสูงนัก 32 คน ส่วนที่เหลือเป็นวิศวกรและผู้บริหาร) และจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครลาออกจากบริษัท ซึ่งถือเป็นเรื่องที่แปลกมากหากเทียบกับร้านอาหารทั่วไป
คอลลินส์เผยว่า สภาพการทำงานของ Zume Pizza เป็นลักษณะ Co-bot หรือก็คือมนุษย์ทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ ซึ่งค่อนข้างตอบโจทย์ความต้องการของบริษัทได้ดีกว่า
ด้วยเหตุนี้ สภาพการทำงานแบบ Co-bot จึงอาจก้าวขึ้นมาเป็นโมเดลในการทำงานของหลาย ๆ อุตสาหกรรมในอนาคตและทำให้มนุษย์บางส่วนต้องตกงานได้ ดังเช่นที่ฟอร์เรสเตอร์ได้เคยคาดการณ์เอาไว้ว่า งานในอาชีพบริการ การขับแท็กซี่ การขับรถบรรทุก จะถูกแย่งโดยหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติถึง 6 เปอร์เซ็นต์ของตำแหน่งงานทั้งหมด
ด้านงานของครัว Zume จะยกภาระงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ ให้กับหุ่นยนต์ เช่น การทาซอสมะเขือเทศลงบนแป้งพิซซ่า และการยกถาดพิซซ่าเข้าเตาอบอุณหภูมิ 800 องศาที่เกิดขึ้นหลายร้อยครั้งต่อวัน โดยคอลลินส์มองว่า การยกงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ รวมถึงงานที่อาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์ให้หุ่นยนต์ทำเป็นเรื่องที่เหมาะสมดีแล้ว
มากไปกว่านั้นคือ พิซซ่ายี่ห้อดังกล่าวยังมาพร้อมนวัตกรรมที่สร้างความแตกต่างให้กับบริษัทด้วยการเก็บข้อมูลการสั่งซื้อของลูกค้า ทำให้ทราบว่า หากเป็นออเดอร์พิซซ่าในคืนที่มีการแข่งขันฟุตบอล ลูกค้าแต่ละหลายจะสั่งอะไร รวมถึงสามารถโหลดแป้งมาเตรียมไว้ได้ก่อนที่จะมีออเดอร์เข้ามาด้วย
สำหรับหุ่นยนต์จากร้านพิซซ่า Zume พัฒนาโดยบริษัท ABB ซึ่งทางบริษัทสั่งผลิตแบบแยกชิ้นส่วนและมาประกอบเอง รวมถึงมีสิทธิบัตรด้วย โดยต้นทุนของหุ่นยนต์นั้นอยู่ที่ 25,000 – 35,000 เหรียญสหรัฐต่อตัว ส่วนซอฟต์แวร์นั้นพัฒนาโดยบริษัท L2F ในซิลิคอนวัลเล่ย์
จะเห็นได้ว่า นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการลงทุนพัฒนาหุ่นยนต์ขึ้นใช้งานแทนมนุษย์ที่มีเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา โดยข้อมูลจาก CB Insights พบว่ามีการนำหุ่นยนต์เข้ามาทำงานมากกว่า 120 ดีลในช่วงปี 2015 เพิ่มขึ้นจากปี 2013 ที่มีแค่ 50 ดีลเท่านั้น และในปีนี้ (2016) ก็มีดีลเกิดขึ้นแล้วกว่า 100 ครั้ง
ที่มา: http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000098350