พฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อการทำตลาดของแบรนด์เป็นอย่างมาก ในกลุ่มสินค้า FMCG หรือสินค้าอุปโภคบริโภคก็พบว่า ผู้บริโภคมีพฤติกรรมในการซื้อสินค้าบริโภคนอกบ้านมากขึ้น ไม่ใช่ซื้อของเพื่อตุนใช้ในบ้านอย่างเดียวอีกต่อไป
ทาง “กันตาร์ เวิร์ลพาแนล” จึงมองเห็นโอกาสดังกล่าว จึงทำการวิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการใช้จ่ายนอกบ้าน หรือ Out of Home จากเดิมได้ทำการวิจัยพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคที่ทำการซื้อของเข้าบ้าน หรือ Take Home เพียงอย่างเดียวมายาวนาน 15 ปี การซื้อสินค้านอกบ้านในที่นี้หมายถึง การซื้อสินค้า และรับประทานระหว่างวันในทันที ไม่ใช่การซื้อสินค้าเพื่อตุนไว้ที่บ้านแล้วรับประทานที่บ้าน
ผลวิจัยดังกล่าวจะช่วยให้นักการตลาดมองเห็นโอกาส หรือช่องว่างในตลาดของสินค้ามากขึ้น ทำให้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแพ็กไซส์ การสื่อสารช่วงเวลา การขยายฐานกลุ่มลูกค้า หรือเพิ่มความถี่ในการซื้อ
กลุ่มตัวอย่างของงานวิจัยครั้งนี้ได้ใช้ทั้งหมด 2,000 คน อาศัยอยู่ในเขตเมือง มีอายุระหว่าง 15-49 ปี เป็นการเก็บข้อมูลโดยผ่านแอปพลิเคชั่น Panel Smart ทำการบันทึกการซื้อสินค้าที่ทำการซื้อนอกบ้านตลอดทั้งวัน ครอบคลุมช่องทางทั้งซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ คอฟฟี่ช็อป ฟูดคอร์ท หรือร้านค้าริมทาง เบื้องต้นทำการศึกษาสินค้ากลุ่มเครื่องดื่ม และขนมขบเคี้ยว
ผลสำรวจพบว่าในช่วง 1 เดือนผู้บริโภคมีการซื้อของบริโภคนอกบ้านรวม 344 ล้านครั้ง หรือ 11.8 ล้านครั้ง/วัน ความถี่ในการซื้อสินค้าประเภทเครื่องดื่ม และขนมขบเคี้ยวอยู่ที่ทุกๆ 1.5 วัน และมียอดการซื้ออยู่ที่ 29 บาทต่อครั้ง โดยส่วนใหญ่ทำการซื้อ 3 ช่องทาง เช่น ร้านสะดวกซื้อ โชห่วย และร้านกาแฟริมทาง
เมื่อแยกตามกลุ่มสินค้า และเปรียบเทียบระหว่างการซื้อนอกบ้าน กับซื้อของเข้าบ้าน พบว่ากลุ่มเครื่องดื่มสปอร์ตดริ้งค์, ชาพร้อมดื่ม, กาแฟพร้อมดื่ม, เครื่องดื่มชูกำลัง, น้ำผลไม้พร้อมดื่ม, น้ำอัดลม, ขนม, ไอศกรีม, ขนมปังกรอบ, หมากฝรั่ง ลูกอม และช็อกโกแลต เป็นกลุ่มสินค้าที่มากกว่า 70% มีการซื้อทานนอกบ้าน ส่วนกลุ่มนมถั่วเหลือง นมยูเอวที รังนก และซุปไก่ มีสัดส่วนน้อยกว่า 50% ที่ซื้อทานนอกบ้าน ส่วนใหญ่จะซื้อเข้าบ้านมากกว่า
สำหรับความถี่ในการซื้อ มี 3 กลุ่มสินค้าที่เป็นคนไทยซื้อเยอะมากที่สุด ได้แก่ น้ำอัดลม มีอัตราการซื้อเฉลี่ยอยู่ที่ 91% มีความถี่การซื้อทุก 10 วัน ชาพร้อมดื่ม 89.8% และน้ำดื่ม 85.2% ส่วนกลุ่มเครื่องดื่มสปอร์ตดริ้งค์ กับเครื่องดื่มชูกำลังมีอัตราการซื้อน้อย แต่ว่ามีโอกาสสูง เพราะมีความถี่ในการซื้อสูงมากขึ้น ถ้ามีการสื่อสารทำการตลาดที่ดีอาจจะช่วยให้มีการซื้อสูงขึ้นได้
อิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้จัดการด้านพัฒนาธุรกิจ บริษัท กันตาร์ เวิร์ลพาแนล (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า “นักการตลาดอาจจะทำให้เปลี่ยนกลยุทธ์ในการสื่อสารได้จากแต่ก่อนที่คิดแค่ว่าทำการโฟกัสกลุ่มเป้าหมายกลุ่มไหน เป็นใคร แต่ปัจจุบันช่วงเวลาก็มีส่วนในการซื้อสินค้า การสื่อสารว่าช่วงเวลาไหนควรบริโภคสินค้าจะช่วยเพิ่มโอกาสในการขายได้ดีขึ้น จากผลสำรวจก็มีผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าจากรถเข็นข้างทาง ก็เป็นอีกช่องทางที่ทำให้นักการตลาดต้องคิดหาวิธีที่จะทำตลาดจากช่องทางนี้“