สื่อมะกันเผย Trending Topic ของเฟซบุ๊กยังทำงานผิดพลาด

ภาพจาก AFP

วอชิงตันโพสต์ สื่อยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาจับไม่ปล่อย กับกรณีการนำอัลกอริธึมมาดูแลส่วนงาน Trending Topics แทนทีมบรรณาธิการของเฟซบุ๊ก (Facebook) โซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ หลังพบว่า ในช่วงหกสัปดาห์หลังจากที่เฟซบุ๊กไล่พนักงานออกและนำอัลกอริธึมมาดูแลแทนนั้น ได้มีความผิดพลาดเกิดขึ้นแล้วถึง 5 ครั้ง

โดยวอชิงตันโพสต์พบว่าในบรรดาข่าวที่ถูกเลือกโดยอัลกอริธึมเพื่อแสดงในหมวด Trending Topics นั้น มีอย่างน้อย 5 ข่าวที่เป็น “ข่าวปลอม” เช่น การดึงข่าวของ Faking News ที่เขียนล้อเลียนแอปเปิลในอีเว้นท์เปิดตัวไอโฟนว่า Siri จะออกมาจากโทรศัพท์และช่วยทำงานบ้านต่าง ๆ ให้ มาแชร์เป็นข่าวบน Trending Topics และมีผู้ใช้งานบางส่วนเข้ามาอ่านข่าวนั้นโดยระบุว่าเขาเจอลิงค์มาจาก Trending Topics ของเฟซบุ๊กด้วย

หรือการบอกว่าเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย Clemson ได้ไล่เตะผู้ชายที่กำลังสวดมนต์รายหนึ่งออกจากแคมปัส (ซึ่งเป็นเรื่องไม่จริง และทำให้ทางสถาบันเสียหาย) เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม นอกจากนั้นยังมีกรณีที่ไปดึงลิงค์จากข่าวแท็บลอยด์ที่ว่าเหตุการณ์ 9/11 นั้นเป็นการรื้อถอนตึกที่อยู่ภายใต้การควบคุมมาโพสต์เช่นกัน

สำหรับการสำรวจโดยวอชิงตันโพสต์ในครั้งนี้ได้เลือกทำการมอนิเตอร์จากแอคเคาน์ของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กจำนวน 4 ราย ในช่วงเวลาทำงาน ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 22 กันยายนที่ผ่านมา

วอชิงตันโพสต์ยังได้สัมภาษณ์อดีตพนักงานจากส่วน Trending Topics รายหนึ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว และเขาให้ความเห็นว่า เขาไม่แปลกใจเลยที่อัลกอริธึมดึงข่าวปลอมไปเป็นข่าวกระแส เพราะมันเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้น

โดยเขามองว่างานนี้แท้จริงแล้วต้องการประสบการณ์ในการติดตามข่าวสารมายาวนาน ไม่ใช่แค่ใช้ซอร์สโค้ดก็สามารถทำแทนได้ แต่รายงานจากวอชิงตันโพสต์ระบุว่าอดีตพนักงานเฟซบุ๊กรายนี้เซ็นสัญญาห้ามเปิดเผยข้อมูลจึงไม่สามารถเผยชื่อได้นั่นเอง

พร้อมกันนี้ ทางวอชิงตันโพสต์ยังเผยว่า ข่าวที่เฟซบุ๊กรายงานผิดพลาดอาจมีมากกว่านี้ เนื่องจากเฟซบุ๊กได้เปลี่ยนมาสู่ระบบการเลือกข่าวแบบ Personalize ให้ตรงตามความต้องการของผู้อ่านแต่ละราย จึงทำให้ข้อมูลที่ปรากฏในส่วน Trending Topics ของผู้ใช้งานแต่ละรายนั้นแตกต่างกันไป

อย่างไรก็ดี สำหรับวอชิงตันโพสต์แล้ว การเสนอข่าวผิดพลาดของเฟซบุ๊กเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจาก 40 เปอร์เซ็นต์ของอเมริกันชนในปัจจุบันเสพข่าวสารผ่านทางโซเชียลมีเดียแล้วนั่นเอง ดังนั้น หากข่าวสารที่นำไปแชร์ไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอ ก็จะเกิดความเสียหายอย่างมากได้

ที่มา : http://manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000103015