คอนเทนต์ด้าน VR อาจไม่ประสบความสำเร็จดังคาด หลังพบตัวเลขว่า นอกจากกลุ่มเกม และธุรกิจบันเทิงแล้ว คอนเทนต์ด้าน VR ยังไม่สามารถทำเงิน หรือประสบความสำเร็จในตลาดอื่นเลย
โดยความจริงที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก็คือ กลุ่มเกม และกลุ่มคอนเทนต์เพื่อความบันเทิงนั้น เป็นกลุ่มที่ผู้บริโภคพร้อมจะตอบรับในกระแส VR อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีการสนับสนุนในด้านตัวเงิน และโครงการต่างๆ มากมาย ทำให้นักผลิตคอนเทนต์ VR มากฝีมือต่างหันไปจับงานในตลาดดังกล่าวกันอย่างคึกคัก ส่วนตลาดอื่นที่ไม่ได้รับการสนับสนุนมากพอนั้น จะพบว่า พัฒนาได้แต่คอนเทนต์ VR คุณภาพต่ำ และไม่สามารถแข่งขันได้ในทางการตลาด จนบรรดาผู้ผลิตต่างเริ่มถอนตัวออกจากเทคโนโลยี VR กันไปแล้วหลายราย
หรือหากไม่อยากออกจากอุตสาหกรรมนี้ก็ต้องหาเงินเพิ่มให้ได้ ด้วยเหตุนี้ทำให้บริษัทผู้ผลิตคอนเทนต์ VR บางแห่งต้องแปลงร่างจากสตูดิโอเป็นเอเจนซี่รับงานผลิตคอนเทนต์ไปด้วยในตัว เพื่อหาเงินมาซัปพอร์ตงานผลิตคอนเทนต์ VR ในฝัน โดยที่บริษัทยังตั้งอยู่ได้ เช่น บางแห่งหันไปรับงานผลิตคอนเทนต์ให้กับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ที่เริ่มมีการนำเทคโนโลยี VR เข้ามาให้ผู้สนใจได้ทดลองชมห้องตัวอย่างก่อน เป็นต้น
อีกปัญหาหนึ่งที่พบตามการรายงานของ VentureBeats ก็คือ เทคโนโลยีดังกล่าวยังอยู่ในช่วงของการพัฒนา ซึ่งหลักๆ แล้วเป็นการพัฒนาในด้านฮาร์ดแวร์ ส่วนของซอฟต์แวร์นั้นยังไม่มีมากนัก และหลายรายก็เริ่มมีการเปิดตัวโปรดักต์ใหม่ๆ ตัดหน้ากัน รวมถึงการตัดราคาแข่งกันด้วย เพื่อให้อุปกรณ์ VR ของตนเองได้ครองใจ และครองเงินจากผู้บริโภคให้ได้เร็วที่สุด ผลก็คือ ผู้ผลิตคอนเทนต์ต้องทำงานแข่งกับเวลามากขึ้น เพื่อให้คอนเทนต์ของตัวเองเสร็จทันการวางจำหน่ายของฮาร์ดแวร์ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการทำเงินนั่นเอง
แม้รายงานของ VentureBeats จะมองว่า ผู้ที่ได้ประโยชน์จากปัญหานี้มากกว่าใคร คือ ผู้บริโภค แต่บางทีแล้วอาจไม่ใช่ใครเลยก็เป็นได้ เพราะการเลือกซื้อแว่น VR ในขณะที่เทคโนโลยียังไม่เสถียรนั้น เป็นความเสี่ยงไม่ใช่น้อย ส่วนเมื่อซื้อมาแล้ว คอนเทนต์สำหรับรับชมก็มีไม่มาก หรือมีแต่ยังไม่ดีพอ ก็เท่ากับเป็นการเสียเงินทิ้งเปล่าๆ นั่นเอง
ที่มา : http://manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000106282