อินโดนีเซียใช้ยาแรง ใครอยากขายสมาร์ทโฟนต้องตั้งโรงงานผลิตในประเทศ 30%

อินโดนีเซีย ใช้ยาแรง หวังกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้กระเตื้องจากธุรกิจสมาร์ทโฟน ด้วยการออกกฎหมายใหม่ เริ่มใช้วันที่ 1 มกราคมปีหน้า บังคับให้บริษัทที่ต้องการจำหน่ายสมาร์ทโฟนในอินโดนีเซียนั้น ต้องมาตั้งโรงงานผลิตจากภายในประเทศอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ของสมาร์ทโฟนทั้งหมด

โดย 30 เปอร์เซ็นต์ที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมายดังกล่าวนั้น หมายถึงส่วนของฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ หรือจะมาตั้งโรงงานผลิตทั้งสองอย่างรวมกันก็ได้

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวได้ถูกร่างในปี 2015 ที่ผ่านมา และจะมีผลในวันที่ 1 มกราคมปีหน้า ซึ่งทำให้ตลาดสมาร์ทโฟนอินโดนีเซีย ในฐานะ Emerging Market ของธุรกิจสมาร์ทโฟนในปัจจุบันกลายเป็นฝันร้ายของบริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนหลายค่ายไปแล้ว โดยทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และการแสดงความวิตกกังวลจาก หน่วยงานด้านการค้าของสหรัฐอเมริกาอย่าง American Chamber of Commerce ว่า อาจทำให้เกิดผลเสียต่ออินโดนีเซียมากกว่าจะเป็นผลดี เนื่องจากจะทำให้บริษัทผู้ผลิตบางรายตัดสินใจไม่เข้าทำตลาดในอินโดนีเซีย แทนที่จะตัดสินใจมาตั้งโรงงาน

พร้อมกันนั้น ตัวแทนจากสหรัฐอเมริกา ยังได้อ้างเหตุผลว่า การตั้งโรงงานในอินโดนีเซียอาจเจอกับความไม่พร้อมหลายๆ ประการ เช่น เรื่องของซัปพลายเชนในการผลิตสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ที่อาจมีไม่เพียงพอต่อความต้องการขึ้นมา สร้างความวิตกกังวลให้กับบรรดาผู้ผลิตสมาร์ทโฟนด้วย

อย่างไรก็ดี ผู้ที่สามารถคว้าโอกาสนี้ได้ก่อนใครอาจไม่ใช่บริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจากสหรัฐอเมริกา แต่อาจเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจากเกาหลีใต้ ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาแบตเตอรี่อย่างซัมซุง (Samsung) นั่นเอง เนื่องจากมีรายงานของวอลล์สตรีทเจอร์นัล เผยว่า ซัมซุงได้เริ่มเดินสายการผลิตสมาร์ทโฟนในอินโดนีเซียแล้วตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา โดยโรงงานตั้งอยู่ในเมือง Cikarang แถมยังเป็นโรงงานผลิตสมาร์ทโฟน 4G ที่ตั้งเป้าว่าจะผลิตให้ได้เดือนละ 1.5 ล้านเครื่องด้วย

ทั้งนี้ การเดินแผนของซัมซุงที่เร็วกว่าใครนั้น เป็นเพราะซัมซุง ระบุว่า เห็นสัญญาณการเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟนในอินโดนีเซีย การตั้งโรงงานผลิตในประเทศจึงเกิดขึ้นเพื่อลดต้นทุนในการจำหน่ายสินค้านั่นเอง

ที่มา : http://manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000106276