TCDC เดินตามรอย “รัชกาลที่ ๙” จุดประกายผู้ประกอบการไทยใช้ความคิดสร้างสรรค์ “เพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ” ผ่าน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ เกษตรและอาหาร หัตถกรรม บริการ ไลฟ์สไตล์ และกีฬา
อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เผยว่า เพื่อเป็นการดำเนินรอยตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะที่ทรงเป็น “กษัตริย์นักคิด นักพัฒนา” TCDC ในฐานะหน่วยงานที่ส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการต่างๆ ภายในประเทศ ให้นำความคิดสร้างสรรค์มาประยุกต์กับทุนทางวัฒนธรรมและสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการ ให้มี “มูลค่า” ได้จัดทำนิทรรศการ “Baht & Brain” ในระหว่างวันที่ 19-23 ต.ค.ที่ผ่านมา ณ ไบเทคบางนา เพื่อนำเสนอตัวอย่างความสำเร็จของผู้ประกอบการ 5 กลุ่มธุรกิจที่สามารถนำความคิดสร้างสรรค์มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการได้ ได้แก่
1.กลุ่มเกษตรและอาหาร (Agriculture and Food) ประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านการเกษตรและอาหารติดอันดับต้นๆ ของโลก เมื่ออาศัยความได้เปรียบด้านภูมิประเทศและภูมิอากาศเป็นทุนเดิม และทำการเพิ่มเติมนวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิตอลที่ทันสมัยต่างๆ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์และบริการในกลุ่มธุรกิจนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จะทำให้ประเทศไทยสามารถทยานสู่การเป็นที่ 1 ในธุรกิจเกษตรและอาหาร และกลายเป็น “แหล่งอาหารของโลก” จากผลผลิตท้องถิ่นที่มีมูลค่าและเป็นที่ต้องการระดับโลก
โดยตัวอย่างของความคิดสร้างสรรค์ที่ประยุกต์ใช้กับกลุ่มธุรกิจนี้และประสบผลสำเร็จ คือ สมาร์ทฟาร์ม ระบบเทคโนโลยีวิเคราะห์สภาพภูมิอากาศและอุตุนิยมวิทยาเพื่อกำหนดรูปแบบการเพาะปลูกที่เน้นเพิ่มผลผลิต และประหยัดทรัพยากรไปในเวลาเดียวกัน
2. กลุ่มหัตถกรรม (Craft) หนึ่งในธุรกิจที่เกิดขึ้นจากศิลปวัฒนธรรมไทยที่กลายเป็นที่รู้จักระดับโลก โดยธุรกิจงานฝีมือและหัตถกรรมเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของงานออกแบบและงานศิลปะของไทย จึงเป็นแหล่งรวมของแรงงานสร้างสรรค์ที่มีมากกว่า 323,000 คนทั่วประเทศ (ที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติ)
การนำนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดข้อจำกัดในการผลิตงานฝีมือ ทั้งในด้านการเพิ่มปริมาณการผลิต และสร้างความเป็นไปได้ในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ที่จะต่อยอดงานหัตถกรรมแบบดั้งเดิมให้ทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ในปัจจุบันมากขึ้น และมีมูลค่าสูงขึ้นตามลำดับ
ตัวอย่างความสำเร็จของนักออกแบบในกลุ่มนี้ อาทิ การผลิตผ้าทอจากเส้นใยสเตนเลส ที่นำเสนอความแปลกใหม่ และสามารถนำไปใช้ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เสื้อผ้าดีไซน์แปลกใหม่ กระเป๋าถือป้องกันคลื่นรบกวน และวัสดุบุผนังป้องกันคลื่นรบกวน
3. กลุ่มบริการ (Service) กลุ่มธุรกิจบริการโดยเฉพาะการท่องเที่ยว เป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศ และประเทศไทยเป็นยังได้รับเลือกให้เป็น “เป้าหมายของการท่องเที่ยวระดับโลก” (World’s top travel destination) หากสามารถประยุกต์แนวคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวในยุคปัจจุบัน และใช้เทคโนโลยีเป็นตัวอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มเป้าหมายที่กระจายอยู่ทั่วโลก จะทำให้เกิดรายได้จากธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ
โดยตัวอย่างความสำเร็จ คือ แพลตฟอร์มทัวร์ชุมชน ที่เน้นวิเคราะห์ความต้องการของนักท่องเที่ยวในแต่ละกลุ่ม และประสานงานกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับความเป็นไทยอย่างแท้จริง ด้วยความสะดวกและสบายไปในขณะเดียวกัน
4. กลุ่มไลฟ์สไตล์ (Life style) หนึ่งในธุรกิจใหม่ที่สร้างรายได้ และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในยุคปัจจุบัน ผ่านการถ่ายทอดวัฒนธรรมและวิถีความเป็นไทยสู่กิจกรรมบันเทิงต่างๆ เช่น การแสดงดนตรี ภาพยนตร์และแอนิเมชัน และรายการเกมโชว์ สู่สายตาผู้ชมทั่วโลก ใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงโลกให้สามารถเข้าถึงสารจากทั่วทุกมุมโลกผ่านอินเทอร์เน็ต กระจายกลิ่นอายความเป็นไทย และเปลี่ยนเป็นมูลค่าเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง
ตัวอย่างสำเร็จในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ อาทิ การขายลิขสิทธิ์รายการเกมโชว์ของบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ วงดนตรีหมอลำที่สร้างชื่อเสียงระดับโลก เดอะพาราไดซ์บางกอก (The Paradise Bangkok Molam International Band) และภาพยนตร์แอนนิเมชั่นที่ประสบความสำเร็จในเวทีนานาชาติจาก The Monk Studios
5. กลุ่มกีฬา (Sport) กีฬาไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่าง “มวยไทย” เป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก มีค่ายฝึกที่ขึ้นทะเบียนกับสภามวยโลกกระจายอยู่ใน 128 ประเทศทั่วโลก แต่ปัญหาหลักคือหลักสูตรขาดมาตรฐาน สภามวยไทยโลกจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานมวยไทยไอกล้าขึ้นเพื่อจัดทำหลักสูตรออนไลน์ (iGLA Muaythai Animation Education System – iMAES) ผ่านการประยุกต์นวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้มวยไทย กลายเป็น “ทรัพย์สินทางปัญญาประจำชาติ” ที่ถ่ายทอดผ่านหลักสูตรการสอนที่ได้มาตรฐานแบบออนไลน์ แอนิเมชัน และเกม ที่เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงของชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ