วิกฤตสายการบิน

“ธุรกิจการบิน” ที่เคยเฟื่องฟูทั้งในแง่รายได้บริษัท และชีวิตที่เริดหรูของพนักงาน กำลังพลิกมาอยู่ในด้านของความยากลำบาก เพราะ “วิกฤตราคาน้ำมัน” เป็นตัวแปรสำคัญ หลังทำ “นิวไฮ” ทุบสถิติใหม่ทุกวัน จาก 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเมื่อปี 2548 ขึ้นมาเกือบ 150 เหรียญสหรัฐในเดือนกรกฎาคม 2551 พา “ธุรกิจสายการบิน” ที่มีน้ำมันเป็นต้นทุนหลักต้องซวนเซกันเป็นแถว

เป็นวิกฤตที่สายการบินต่างต้องเจอ หลายสายการบินทั้งสายการบินปกติ และสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Airline) ถ้าไม่ยกเลิกเส้นทาง ลดเที่ยวบิน และปลดพนักงาน

ภายในครึ่งปีแรก คนของธุรกิจสายการบินทั่วโลกตกงานไปแล้วนับหมื่นคน เกือบ 100 สายการบินทั่วโลกกำลังโคม่า และเฉพาะที่อเมริกาปิดตัวไปแล้วกว่า 20 สายการบิน ขณะเดียวกันผู้ถือหุ้นสายการบินที่เหลืออยู่ก็แทบอยากเทขายทิ้ง เพราะราคาดิ่งลงมาถึง 30-60%

เป็นการ “Landing” อย่างรวดเร็ว และไม่นิ่มนวลแม้แต่น้อย

ที่ประเทศไทยมีสภาพไม่ต่างจากประเทศอื่น และดูเหมือนอาการจะหนักยิ่งกว่า โดยเฉพาะ “การบินไทย” สายการบินแห่งชาติที่ก่อตั้งมาแล้ว 48 ปี

48 ปีที่ผ่านมา การบินไทยมีทั้งขาขึ้นและขาลง แต่ไม่มีสักช่วงที่รักษาเพดานบินในระดับที่ดี เพราะความ “เรื้อรัง”ในการบินไทย จาก “เหลือบ” เข้ามาคอรัปชั่น หารายได้จากทุกส่วนตั้งแต่มะนาวไปจนถึงเครื่องบิน ทำให้ ณ วันนี้ “การบินไทย” ที่เคยเป็นหน่วยงานความภูมิใจของคนไทยต้องย่ำแย่

“ความอ่อนแอ” ของการบินไทยสะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดี จากกรณีล่าสุดคือการเปิดเส้นทางบิน “กรุงเทพ-นิวยอร์ก” เมื่อปี 2548 ทั้งที่ไม่เห็นจุดคุ้มทุน แต่เพราะรัฐบาลขณะนั้นต้องการซื้อเครื่องบินรวมเกือบ 2 หมื่นล้านบาท เวลาผ่านไป 3 ปี ขาดทุนนับหมื่นล้านบาท จนต้อง “หยุดบิน” พร้อมโละขายเครื่องบินแบบขาดทุน

การซื้อเครื่องบินเพื่อกรุงเทพ-นิวยอร์ก ไม่ใช่ครั้งแรกของประวัติศาสตร์การบินไทย แต่เป็นมาซ้ำๆ ทุกครั้งที่มีรัฐบาลใหม่ รัฐมนตรีใหม่ ประธานบอร์ด และดีดีใหม่ ที่เป็น “แก๊ง” เดียวกันมาร่วมกันจัดซื้อเครื่องบิน จนฝูงบินของการบินไทยมีเครื่องบินมากแบบ มากเครื่องยนต์ ทำให้มีต้นทุนเพิ่ม ทั้งอะไหล่ที่ต้องสำรองเพิ่ม นักบินที่ต้องมีพอๆ กับแบบเครื่องบิน และโรงซ่อมเฉพาะ คือการลงทุนถึงหลักพัน หลักหมื่นล้านบาท

ไม่เพียงแต่การ “กินเครื่องบิน” เท่านั้น แม้แต่ “โลโก้” การบินไทย ก็เอื้อประโยชน์สร้างคอมมิชชั่น อย่างโครงการ “อายตนะ” 1.4 หมื่นล้านบาท ลงทุนสีโลโก้ เปลี่ยนอุปกรณ์ในเครื่องบินตั้งแต่ช้อนส้อมไปจนถึงผ้าห่ม คือสิ่งที่การบินไทยละลายหายไปในอากาศ แคมเปญ “คุณคะ” ที่พยายามสร้างแบรนด์ขึ้นมาใหม่ในปี 2551 กลับยิ่งสะท้อนความย่ำแย่ในการบินไทย

ปัญหาการบินไทยที่ฝังตัวมานานจนไม่เหลือภูมิคุ้มกัน เมื่อเจอกับโรคแทรกที่รุนแรงอย่าง “ราคาน้ำมัน” การบินไทยจึงออกอาการโคม่าทันที จนคาดว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 จะเห็นตัวเลขขาดทุนเกือบถึงหลักหมื่นล้านบาท หลังจาก 3 เดือนแรกของปี 2551 กำไรลดลงไปแล้ว 52% ต่างจาก “สิงคโปร์แอร์ไลน์ส” สายการบินคู่แข่งของการบินไทยมีกำไรเพิ่ม 40%

ล่าสุด การบินไทยถูกศาลอเมริกาและอียู ฟ้องเรื่องการ “ฮั้ว” ค่าธรรมเนียมแบบข้ามชาติ ที่เสี่ยงถูกปรับเป็นหมื่นล้านบาท

นี่คือความยากลำบากที่ “คน” ของการบินไทยต้องเผชิญ และ “นางฟ้า” อาชีพใฝ่ฝัน ต้องตกสวรรค์ เพราะรายได้ลดลง แถมยังต้องทำงานหนักกว่าเดิม “นักบิน” หลายคนต้องรอ Standby เพราะเที่ยวบินลดลง และคนอีกจำนวนหนึ่งเลือกยอมถูกจ้างออก

ภาวะนี้ “แจ่มศรี สุกโชติรัตน์” ที่ทำงานในการบินไทยมานานกว่า 30 ปี ยอมรับว่าความเจ็บปวดของการบินไทยวันนี้ คือพิษร้ายของระบบอุปถัมภ์ เด็กเส้น และการโกงกิน และถึงเวลาที่ต้องทบทวน และ “หยุด อวดดี”

ที่สำคัญไปกว่านั้น “เรืออากาศโทอภินันท์ สุมนะเศรณี” ดีดี ที่เติบโตมาจากนักบิน เป็นลูกหม้อที่เห็นความเป็นไปในสายการบินแห่งชาตินี้มานาน ให้สัมภาษณ์กับ POSITIONING ว่า “การปราบทุจริต” คือผลงานที่เขาคิดว่าทำได้ในช่วงที่เป็น “ดีดี” มา 3 ปี แม้ทุจริตยังไม่หมด แต่ก็คือการทำดีที่สุดแล้ว

วันนี้จากความอ่อนแอของ “การบินไทย” และวิกฤตน้ำมันที่ซ้ำเข้ามา จึงเป็นความท้าทายของคนที่ยังอยู่ในสายการบินแห่งชาตินี้ และหากยัง “ไม่เลิกโกง” ความคิดยัง “ไม่เปลี่ยน” ก็คงยากที่การบินไทยจะเทกออฟได้อีกครั้ง

ทางด้านของโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ที่เคยเป็นดาวรุ่งของธุรกิจสายการบิน เมื่อเจอ “น้ำมันแพง” ก็กำลังพิสูจน์ให้เห็นว่าใครคือ “ผู้ที่จะรอด” ในธุรกิจนี้ เพราะสูตรการทำธุรกิจแบบเดิมอาจไม่เพียงพอ

“โลว์คอสต์แอร์ไลน์” เกิดได้ด้วย Positioning ที่ชัดเจน คือความเป็นสายการบินที่ราคาตั๋วถูก โดยลดต้นทุนทุกอย่าง ตั้งแต่การออกตั๋ว การจ้างพนักงานให้น้อยที่สุด ให้ลูกค้าจองทางอินเทอร์เน็ต ไม่เสิร์ฟอาหาร น้ำ และให้แย่งที่นั่งกันเอง

แต่เมื่อ “น้ำมัน” กลายเป็นค่าใช้จ่ายที่คุมไม่อยู่ เพราะตัดต้นทุนไม่ได้ “โลว์คอสต์แอร์ไลน์” จึงต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ ด้วยความพยายามที่จะลดค่าใช้จ่ายลงอีก และหารายได้เพิ่ม และอาจถึงขั้นอยู่รอดได้ยาก

กรณีของ “นกแอร์” อยู่ในสภาพปีกหักไปแล้วข้างหนึ่ง เพราะต้องหยุดบิน และลดเส้นทางไปแล้วเกือบ 50% ลดการใช้เครื่องบินจาก 9 เหลือ 3 ลำ ลดเงินเดือนตัวเองและพนักงาน เพิ่มอาชีพให้แอร์โฮสเตสไปขายประกัน แต่ยังไม่มีคำตอบว่าจะอยู่รอดได้แค่ไหน หากน้ำมันยังพุ่งสูงขึ้นไปอีก

ส่วน “วันทูโก” ของโอเรียนท์ไทยแอร์ไลน์ ที่ “แพ้ภัยตัวเอง” ด้วยการบริหารจัดการที่ซิกแซกจนถูกพักใบอนุญาตบิน เมื่อเจอวิกฤตน้ำมันจึงต้อง “เจ๊ง” และปลดพนักงานแล้วอย่างน้อย 500 คน ส่วนที่เหลืออีกกว่าครึ่ง ยังไม่รู้ชะตากรรม

ในต่างประเทศ ความสำเร็จและบินได้อย่างนุ่มนวลต้องยกให้ “เซาท์เวสต์ แอร์ไลนส์” ที่นอกจากการบริหารจัดการได้อย่างครบสูตรโลว์คอสต์แล้ว ยังสามารถวางแผนเรื่องการใช้น้ำมัน ด้วยการ “Hedge” ซื้อประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน ทั้งปริมาณการซื้อเกือบ 90% และซื้อล่วงหน้าถึง 3 ปี จึงไม่บาดเจ็บแม้แต่น้อย

ส่วนในไทย “ไทยแอร์เอเชีย” อาศัยความเป็นเครือข่าย “แอร์เอเชีย” ที่ Hedge น้ำมัน 100% แต่ไม่ได้ซื้อล่วงหน้านาน และจุดบินที่ครอบคลุมจากการขยายธุรกิจจากมาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซีย ลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ “ไทยแอร์เอเชีย” จึงมีลุ้นมากที่สุด

ขณะที่สายการบิน “บูติก” อย่าง “บางกอกแอร์เวย์ส” สามารถวาง Positioning ตัวเองได้ชัดเจน จับลูกค้าระดับบน และนักท่องเที่ยวต่างชาติไฮเอนด์ได้อยู่หมัด ต่อยอดฐานธุรกิจเดิมที่แข็งแกร่ง คือการเป็นเจ้าของสนามบิน “สมุย” แต่กระนั้นก็ยังได้รับผลกระทบไม่น้อย จนกระทั่งประกาศปิดรูท กรุงเทพ-กระบี่ กรุงเทพ-เสิ่นเจิ้น และเตรียมปิดรูทบินที่ขาดทุนอย่าง กรุงเทพ-ฟูกูโอกะ เสียมเรียบ-ฮ่องกง สมุย-ฮ่องกง ที่แม้จะมีผู้โดยสารเต็มแทบทุกเที่ยวบิน แต่กลับไม่ Cover ต้นทุนที่มี ขณะเดียวกันรัดเข็มขัดด้วยการไม่รับพนักงานเพิ่ม

ณ ต้นเดือนสิงหาคม 2551 แม้ “ราคาน้ำมัน” มีแนวโน้มลดลง และนักคาดการณ์น้ำมันเริ่มออกมาพูดถึงระดับราคาต่ำกว่า 100 เหรียญต่อบาร์เรลบ้างแล้ว แต่ช่วงเลวร้ายกับราคาเกือบ 150 เหรียญต่อบาร์เรลในช่วงพฤษภาคม-มิถุนายนที่ผ่านมา ก็เพียงพอกระตุ้นเตือนให้ “ธุรกิจสายการบิน” รู้ว่า ต้องปรับตัว ระวัง และไม่ประมาท เพื่อให้เป็น “ตัวจริง” ที่เหลืออยู่ และไม่ต้องคอยบอกกับผู้โดยสารว่า “หยุดบินค่ะ” อีกต่อไป