คนอร์สลัดทิ้งผงชูรส

นับเป็นอุปสรรคไม่น้อยสำหรับคนอร์ ที่จะขยายฐานกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ไปยังกลุ่มแม่บ้านทันสมัยหรือ Modern Mom ที่ดูแลใส่ใจ พิถีพิถันในการเลือกสรรวัตถุดิบในการปรุงอาหารให้กับลูกน้อย สาเหตุหลักมาจากภาพลักษณ์ที่สวนทางกับสุขภาพมาโดยตลอด โดยเฉพาะส่วนผสมของ “ผงชูรส” ที่นับว่าเป็นยาเบื่อกับคนยุคใหม่

แม้คนอร์โฉมใหม่จะยังคงสัดส่วนของผงชูรสเท่าเดิม แต่ก็ได้ตัดส่วนผสมไม่พึงประสงค์บางส่วนออก คือ วัตถุกันเสีย และเพิ่มวัตถุดิบที่ทำมาจากธรรมชาติ เช่น สารสกัดจากเนื้อหมู เนื้อไก่ แท้ๆ และเกลือไอโอดีน เป็นต้น พร้อมสื่อสารผ่านแพ็กเกจจิ้งอย่างชัดเจน

ขณะที่เจอโรม ชาราโชน รองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจอาหารและไอศกรีม บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด ตอบคำถามเรื่องผงชูรสสั้นๆ ว่า “ผงชูรส คือ สารสกัดจากธรรมชาติ”

ทั้งนี้การปรับสูตรและแพ็กเกจจิ้งด้วยสีเหลืองและสีเขียว เพื่อสื่อถึงความเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติและความสดใสของคนอร์เกิดขึ้นเฉพาะคนอร์ซุปก้อน ซึ่งเป็นเซ็กเมนต์ที่คนอร์เป็นผู้นำเท่านั้น

โดยครั้งนี้นับเป็นแคมเปญครั้งใหญ่ที่สุดของคนอร์ในรอบ 30 ปี ที่ทำตลาดในเมืองไทย ด้วยงบกว่า 150 ล้านบาท และจะยังคงเน้น In-store promotion อย่างหนักเช่นเคย เพราะเป็นช่องทางที่จะเข้าถึงและมีโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายได้ทดลองชิมมากที่สุด เพราะเจอโรมเชื่อว่า “Testing is Believing”

1 ล้านคน คือ เป้าหมายของคนอร์ที่คาดว่าจะเข้าถึงผู้บริโภคจากการชงชิม ตามกลยุทธ์ Education + Sampling

ทั้งนี้ก่อนที่จะเปิดตัวการพลิกโฉมของคนอร์ในครั้งนี้ ได้มีการส่ง Teaser Ad ด้วยการตั้งกล่องขนาดยักษ์เพื่อสื่อสารถึงคอนเซ็ปต์ “เก็บธรรมชาติมาใส่กล่อง”

“เราคาดว่าพ่อแม่ ผู้ปกครอง จะทำซุปให้เด็กๆ ทานมากขึ้น จากการปรับโฉมครั้งสำคัญของคนอร์ ขณะที่ปัจจุบันมี Penetration ประมาณ 50% เท่านั้น” เจอโรมบอก

กระนั้น คนอร์ ซุปก้อนยังคงมีอุปสรรคในเรื่องของพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมาย Modern Mom ที่เก่งกาจไปเสียทุกเรื่อง รวมถึงความเชื่อมั่นในฝีมือการทำอาหารของตัวเองอย่างยิ่งยวด ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญที่คนอร์จะต้องเปลี่ยน Consumer Perception อันจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต่อไป

Did you know?

ผงชูรส (Monosodium Glutamate : MSG) เกิดขึ้นครั้งแรกที่ญี่ปุ่น และมีการขายเชิงพาณิชย์
เป็นครั้งแรกภายใต้ชื่อว่า “อายิโนโมโต๊ะ” และในประเทศไทย ผงชูรสใช้วัตถุดิบหลักเป็นแป้งมันสำปะหลังและกากน้ำตาล

1.มูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์ปรุงรส 2,100 ล้านบาท (by type)
แบบก้อน 700 ล้านบาท
แบบผง 1,400 ล้านบาท

2.ส่วนแบ่งการตลาดผลิตภัณฑ์ปรุงรสแบบก้อน (by brand)
คนอร์ 96%
อื่นๆ 4%

3.ส่วนแบ่งการตลาดผลิตภัณฑ์ปรุงรสแบบผง (by brand)
รสดี 90%
คนอร์ 10%