แบงก์เจอฤทธิ์ดิจิตอล ปิดสาขาเพิ่ม กรุงเทพฯ ปิดมากสุด

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า ธปท.ได้ประกาศข้อมูลจำนวนสาขาของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ซึ่งประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ 19 แห่ง และสาขาธนาคารต่างชาติ พบว่า ธนาคารพาณิชย์ทยอยปิดสาขาอย่างต่อเนื่อง และจำนวนสาขาลดลงในทุกพื้นที่

โดยธนาคารพาณิชย์ในระบบมีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 7,017 แห่งล่าสุด เดือน ต.ค. 59 ลดลงจากสิ้นปีก่อน 42 แห่ง โดยเป็นการลดลงในพื้นที่กรุงเทพฯ มากที่สุด 27 แห่ง ตามมาด้วยภาคกลาง 8 แห่ง ภาคใต้ 3 แห่ง ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ พื้นที่ละ 2 แห่ง

หากพิจารณาเป็นรายธนาคาร พบว่า ไทยพาณิชย์ มีการปิดตัวของสาขามากที่สุด 38 แห่ง ซึ่งเป็นการลดลงทั้งพื้นที่ภาคกลาง 15 แห่ง กรุงเทพฯ 9 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 แห่ง ภาคเหนือ 4 แห่ง และภาคใต้ อีก 3 แห่ง ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำนวนสาขาปิดตัว 31 แห่ง ซึ่งเป็นการลดลงทุกพื้นที่ กรุงเทพฯ มากที่สุด 16 แห่ง ภาคกลาง 9 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 แห่ง รวมถึงภาคเหนือ และภาคใต้ อย่างละ 1 แห่ง ธนาคารธนชาต ปิดสาขา 16 แห่ง เป็นการลดลงในเขตกรุงเทพฯ 10 แห่ง ภาคเหนือ 3 แห่ง ภาคใต้ 2 และภาคกลาง 1 แห่ง ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังมีจำนวนสาขาเท่าเดิม คือ 51 แห่ง

เช่นเดียวกับธนาคารกสิกรไทย จำนวนสาขาลดลง 5 แห่ง โดยเป็นการลดลงในภาคกลาง ภาคใต้ ภาคเหนือ 4 แห่ง 3 แห่ง และ 2 แห่ง ตามลำดับ ในกรุงเทพฯ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลดลงพื้นที่ละ 1 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีธนาคารยูโอบี มีจำนวนสาขาลดลง 2 แห่ง เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีบางธนาคารที่มีการเปิดสาขาเพิ่มขึ้น โดยธนาคารกรุงเทพ เปิดมากที่สุด 16 แห่ง เป็นกาเปิดเพิ่มขึ้นทั้งกรุงเทพฯ 7 แห่ง ภาคกลาง 6 แห่ง และในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคใต้ อย่างละ 1 แห่ง รองลงมาเป็นกรุงศรีอยุธยา 15 แห่ง ภาคกลางเปิดมากที่สุด 6 แห่ง ตะวันออกเฉียงเหนือ 4 แห่ง กรุงเทพฯ และภาคเหนือ อย่างละ 2 แห่ง ส่วนภาคใต้ 1 แห่ง ไทยเครดิต เพื่อรายย่อยมีสาขาเพิ่มขึ้น 12 แห่ง เป็นกรุงเทพฯ 7 แห่ง และภาคกลาง 5 แห่ง ส่วนทหารไทย เกียรตินาคิน ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) และสาขาธนาคารต่างชาติ มีจำนวนสาขาเพิ่มขึ้นอย่างละ 1 แห่ง

Digital Disruption

ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แม้ธนาคารพาณิชย์ยังคงปิดสาขาอย่างต่อเนื่อง และหันไปเน้นช่องทางบริการดิจิตอลมากขึ้น แต่บริการทางการเงินยังไม่แตกต่างในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ในปี 60 ที่จะมีบริการพร้อมเพย์ เริ่มใช้บริการ และเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) สมัยใหม่มากขึ้น ทำให้การเห็นธนาคารพาณิชย์จะปิดสาขาเพิ่มขึ้นในระยะต่อไปชัดขึ้น

ก่อนหน้านี้ วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ในปี 59 ถือเป็นปีแรกที่ ธปท.ได้รับคำขออนุญาตปิดสาขามากกว่าคำขอเปิดสาขาจากธนาคารพาณิชย์ สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสถาบันการเงินที่พยายามลดต้นทุนให้บริการ และเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่วนนี้ ธปท.เองก็มีเงื่อนไขว่า ถ้าจะปิดสาขาก็ต้องชี้แจงแนวทางการดูแลลูกค้าอย่างไรด้วย เพื่อไม่ให้กระทบผู้ใช้บริการ

ที่มา : http://m.manager.co.th/StockMarket/detail/9590000115261