4 ค่ายเครือข่ายสังคมอเมริกัน อย่าง Facebook, Twitter, Microsoft และ YouTube ประกาศข้อตกลงพร้อมเปิดเผย และแบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวกับการก่อการร้าย หากพบบนแพลตฟอร์มตัวเอง เป้าหมายหลัก คือ การปิดทางไม่ให้คอนเทนต์ที่ส่งเสริมการก่อการร้ายมีโอกาสได้ประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง
ความเคลื่อนไหวนี้มาพร้อมเสียงวิจารณ์ว่า ที่ผ่านมา บริษัทยักษ์ใหญ่โลกไอทีอย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไมโครซอฟท์ และยูทูป ไม่ได้ลงดาบดึงบทความ ภาพ หรือเนื้อหาที่ส่งเสริมการก่อการร้ายออกไปในเวลาที่รวดเร็วพอ โดยทั้งหมดนี้ถือเป็นการต่อยอดจากข้อตกลงลบภาพ และวิดีโอ ที่เข้าข่ายโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มก่อการร้ายที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา
สำหรับโครงการใหม่ ทั้งหมดระบุว่า จะร่วมกันทำฐานข้อมูลกลางเพื่อระบุตัวตนดิจิตอล หรือ “unique digital fingerprints” ซึ่งจะช่วยให้ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไมโครซอฟท์ และยูทูป สามารถตรวจพบวิดีโอ หรือภาพที่เข้าข่ายได้อย่างอัตโนมัติ
ฐานข้อมูลกลางที่บริษัททั้ง 4 จะใช้ร่วมกันนี้เกิดขึ้นได้ เพราะทุกค่ายจะแบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน โดยที่ผ่านมา ยักษ์ใหญ่เว็บไซต์ทั้ง 4 ปฏิเสธไม่ให้รัฐบาล หรือหน่วยงานภายนอกเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเก็บข้อมูล กระทั่งถูกรัฐบาลหลายประเทศกดดันจนทำให้เกิดความร่วมมือเพื่อกำจัดเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มก่อการร้ายในที่สุด
สำหรับข้อตกลงดั้งเดิมที่เกิดขึ้นช่วงกลางปีที่ผ่านมา เกิดขึ้นเพราะคำสั่งจากคณะกรรมการสหภาพยุโรป กดดันให้ผู้ให้บริการออนไลน์ลบข้อความที่แสดงความเกลียดชัง หรือ Hate Speech ซึ่งรวมถ้อยคำเหยียดผิว และดูหมิ่นชาติพันธุ์ หลังจากที่กลุ่มก่อการร้าย ISIS ใช้โซเชียลมีเดียเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อจนสามารถรับสมัครนักรบเข้าร่วมกลุ่ม ISIS ได้มากขึ้นสำเร็จ
ที่มา : http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000121645