“ฮั้ว” ข้ามชาติถูกปรับหมื่นล้าน

คดีที่กำลังสร้างความหวั่นระทึกให้กับคนการบินไทยขณะนี้ ต้องยกให้คดีที่ถูกผู้ใช้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศ 35 ราย ฟ้องอียู และศาลแพ่งอเมริกา ให้จ่ายค่าปรับ เพราะไปร่วมกับ 35 สายการบิน “ฮั้ว” ข้ามชาติกับค่าธรรมเนียมน้ำมัน และค่าธรรมเนียมเสี่ยงภัย งานนี้หากการบินไทยแพ้ มีหวัง “เจ๊ง” 2 เด้ง เพราะทั้งขาดทุน เงินสดในกระเป๋าเริ่มลดลงแล้ว ยังต้องจ่ายอีกเป็นหมื่นล้านบาท

ในรายงานประจำปี 2550 ของการบินไทย ระบุถึงหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นในภายหน้า จากกรณีที่การบินไทยถูกกลุ่มผู้ใช้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศ 35 ราย ร่วมกันฟ้องร้องต่อศาลแพ่งนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2550 ว่าการบินไทยร่วมกับสายการบินอื่นรวม 38 สายการบิน กำหนดราคาค่าธรรมเนียมพิเศษเพื่อชดเชยค่าน้ำมัน (Fuel Surchage) ค่าธรรมเนียมการเสี่ยงภัย (War Risk Surchage) และค่าธรรมเนียมอื่นๆ ซึ่งละเมิดต่อกฎหมายป้องกันการค้าที่ไม่เป็นธรรมของอเมริกา (Sherman Act or Antitrust Law) และกฎหมายประชาคมยุโรป (EU Law) ซึ่งทำให้กลุ่มผู้ใช้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศได้รับความเสียหาย และขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้การบินไทย และสายการบินอื่นชดใช้ค่าเสียหาย

กรณีนี้มีข่าวแพร่สะพัดมาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ว่าการบินไทยอาจต้องจ่ายค่าปรับถึงเกือบ 20,000 ล้านบาท เพราะก่อนหน้านี้มีสายการบินอื่นใน 38 สายการบินยอมจ่ายไปแล้วคือบริติช แอร์เวย์ส และโคเรียน แอร์ไลน์ส ยอมจ่ายไปแล้วเกือบรายละ 10,000 ล้านบาท หรือประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อศาลสหรัฐเมื่อปีที่แล้ว และยังมีข่าวล่าสุดอีกว่าแอร์ฟรานซ์ และเคแอลเอ็มยอมจ่ายแล้ว 500 ล้านเหรียญสหรัฐ

ด้าน “เรืออากาศโทอภินันท์ สุมนะเศรณี” ดีดีการบินไทย ยืนยันกับ POSITIONING ว่าค่าปรับจะไม่ถึง 20,000 ล้านบาท แต่ยังไม่สามารถบอกตัวเลขได้ว่าจะเสียเท่าไหร่ เพราะยังอยู่ระหว่างการต่อสู้คดี และสิ่งที่การบินไทยยืนยันให้การต่ออียูมาตลอด คือ นโยบายของบริษัทการบินไทยไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่เรียกว่า “ฮั้ว” และไม่ละเมิดต่อกฎหมายการค้าที่ไม่เป็นธรรม

แม้ดีดีการบินไทยจะพยายามชี้แจงถึงความโปร่งใสของบริษัท แต่หลักฐานที่พบคืออีเมล และเอกสาร ที่สำนักงานการบินไทยในซูริก สวิส และแฟรงก์เฟิร์ต เยอรมนี ค่อนข้างชัดเจนว่าพบการกระทำที่ไม่ถูกต้อง หลักฐานมัดแน่นยากที่จะดิ้นได้หลุด

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 การบินไทยยังแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกด้วยว่า บริษัทฯ ได้รับหนังสือโต้แย้งการกระทำและแจ้งการเริ่มดำเนินคดี (Statement of Objections and Initiation of Proceedings) ของคณะกรรมาธิการประชาคมยุโรป (Commission of the European Communities) หรือชื่อย่อคือ EC กล่าวหาในการกระทำผิดเดียวกัน ซึ่ง EC กำลังดำเนินการตรวจสอบและพิจารณากำหนดค่าเสียหาย และในการดำเนินการครั้งนี้ EC ได้ดำเนินการต่อบริษัทฯ พร้อมกันกับสายการบินอื่นๆ อีก 25 สายการ

อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่สรุปว่าการบินไทยต้องจ่ายเท่าไหร่ แค่นี้ก็ยังทำให้การบินไทยไม่เป็น “สุข” และมีต้นทุนเพิ่ม ทั้งค่าทนาย ค่าดำเนินการต่างๆ โดยบอร์ดการบินไทยเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2551 อนุมัติให้ฝ่ายบริหารใช้เงินเบื้องต้นกว่า 100 ล้านบาท จัดจ้างบริษัททนายทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อเป็นตัวแทนรวบรวมเอกสารหลักฐานสู้คดี และทำใจยอมรับว่าเมื่อมีสายการบินอื่นยอมรับผิด อย่างบริติช แอร์เวย์ส และโคเรียนท์ แอร์ไลน์ส ยอมจ่ายค่าปรับการบินไทยก็อาจต้องจ่ายเช่นกัน

ขณะนี้ฝ่ายบริหารการบินไทยได้จ้าง บริษัททนายต่อสู้คดีแล้วใน 4 ประเทศ ในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ยุโรปโดยมี บริษัท สำนักงานกฎหมายสากล สยามพรีเมียร์ จำกัด เป็นแกนหลัก

นอกจากนี้ ระหว่างการต่อสู้คดี การบินไทยจะต้องจ่ายค่าบริการทางกฎหมายตามอัตราสากลที่สำนักงานกฎหมายสากล สยามพรีเมียร์ จำกัด เสนอ คือ รายชั่วโมง แก่ทนายแต่ละทีม มี 4 คน คือ Partners 10,200-14,000 บาท/ คน/ชั่วโมง Associates 1,700-10,200 บาท/คน/ชั่วโมง Paralegal 1,650 บาท/ คน/ชั่วโมง และ Translator 3,300-3,850 บาท/คน/ชั่วโมง

งานนี้ดูเหมือนว่าการบินไทยจะเจอศึกหนัก เพราะทั้งขาดทุน ทั้งถูกปรับ และยังต้องมาเสียชื่อเสียงอีกในคดีระดับโลกอีก