แม้จะไม่อยากพูดถึง ”การเมือง” และ ”การทุจริต” ที่แทรกแซงหยั่งรากลึก จนเป็นปัญหาเรื้อรังในการบินไทยมานาน แต่ ”เรืออากาศโท อภินันทน์ สุมนะเศรณี“ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือดีดี ของการบินไทย ก็บอกได้อย่างเต็มที่ว่ามีผลงานชิ้นโบแดงตลอด 3 ปี ในตำแหน่ง คือ “การปราบทุจริต”
แต่ยังมีหลายอย่างที่เขาตั้งใจจะทำโดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร ในท้ายที่สุดก็ค้นพบว่ายังทำได้ไม่ดีดั่งใจ ซึ่งในฐานะดีดีตระหนักดีว่าเวลายิ่งผ่านไปมากเท่าไหร่ หากการบินไทยยังไม่ปรับตัว คือการเดินไปสู่สถานภาพที่ง่อนแง่นของการบินไทย โดยเฉพาะอย่างอย่างเมื่อเจอกับวิกฤตน้ำมันครั้งล่าสุด
ในช่วงหลายเดือนมานี้ การบินไทยต้องเจอกับอะไรบ้าง ทำไมถึงต้องยอมเฉือนเนื้อ ยอมรับความหมดสภาพและ ”หยุดบิน” เส้นทางกรุงเทพ-นิวยอร์ก เพื่อแก้ไขปัญหาขาดทุน และอีกหลายเหตุผลกับสภาพ ”การบินไทย” ปัจจุบัน POSITIONING มีทุกคำตอบจาก ”ดีดี”
POSITIONING : ราคาน้ำมันส่งผลต่อการบินไทยมากเพียงใดแล้วบ้าง
ดีดี : หากเราจะมองย้อนกลับไปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องก็จริง แต่ว่าการปรับราคาแต่ละครั้งก็มักจะเว้นช่วง อาจจะเว้น 1-3 เดือน ทำให้ธุรกิจการขนส่งและธุรกิจต่างๆ ที่ใช้น้ำมันสามารถปรับตัวได้ทัน
แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันกลับแตกต่างจนถึงขั้นวิกฤต ไม่เพียงราคาจะขึ้นถี่เท่านั้น แต่ยังสูงด้วย ดังนั้นสายการบินไหนไม่มีมาตรการหรือมีโครงสร้างการทำงานที่ไม่รองรับวิกฤตน้ำมันก็ต้องล้มละลายไป
เมื่อเดือนที่แล้ว สายการบินทั้งโลกล้มไปแล้ว 28 สายการบิน โดยเฉพาะสายการบินที่เรียกตัวเองว่า “โลว์คอสต์แอร์ไลน์” เพราะเขาทำธุรกิจโดยประหยัดค่าใช้จ่ายอื่น เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถซื้อตั๋วโดยสารในราคาถูกได้ แต่น้ำมัน ไม่สามารถจะลดหรือหลีกเลี่ยงราคาที่แท้จริงได้ ต้องซื้อราคาน้ำมันในราคาที่เท่ากันกับสายการบินอื่นๆ ดังนั้นสายการบินต้นทุนต่ำจึงได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะหากราคาน้ำมันขึ้น นั่นหมายถึงราคาค่าตั๋วโดยสารจะขึ้นทันทีด้วย
อย่างการบินไทยเอง ถึงแม้จะการปรับค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้น แต่หลังจากประกาศว่าจะปรับราคาจริงๆ ต้องใช้เวลาอีก 4-6 สัปดาห์ในการบังคับใช้จริง เพราะต้องผ่านขั้นตอนการขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และในแต่ละประเทศก็มีขั้นตอนการควบคุมการขึ้นค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย ทำให้ช่วงเวลาระหว่างนั้นก็ลำบากพอสมควร
POSITIONING : สิ่งที่การบินไทยลงมือทำเพื่อรับมือกับปัญหาราคาน้ำมันแพง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวคืออะไร
ดีดี : หยุดบินและลดเที่ยวบิน เริ่มจากการตัดสินใจหยุดบินในเส้นทางกรุงเทพ-นิวยอร์ก เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า ยิ่งเครื่องบินบินไกลเท่าไร ค่าใช้จ่ายน้ำมันก็ยิ่งแพงขึ้น
เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เราเคยเติมน้ำมันเครื่องบินที่สนามบินดอนเมือง ราคาจะอยู่ที่ตันละ 6,000 บาท ซึ่งปกติหากเป็นเครื่องบินพิสัยกลางหรือบินไม่ไกลมากจะเติมน้ำมันอยู่ที่ 30-40 ตัน ขณะที่เครื่องบินพิสัยไกลหรือบินในเส้นทางไกลๆ โดยเฉพาะยุโรปอย่างจัมโบ้ ซึ่งบินเกิน 12 ชั่วโมงบิน จะเติมน้ำมันที่ 150-160 ตัน
แต่เครื่องบินที่ใช้บินจากกรุงเทพฯ ไปนิวยอร์ก ถือเป็นเครื่องบินพิสัยไกลที่ออกแบบพิเศษให้สามารถบินได้ไกลถึง 18 ชั่วโมงโดยไม่แวะพักที่ไหน หนึ่งเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ ไปนิวยอร์กนั้นต้องเติมน้ำมัน 160 ตัน บวกน้ำมันสำรองอีก 10 ตัน หากเป็นเมื่อก่อนน้ำมันตันละ 6,000 บาท หากเติม 150 ตัน ทำให้ต้นทุนค่าน้ำมันอยู่ที่เที่ยวละ 900,000 บาทเท่านั้น
เมื่อเปรียบเทียบกับที่นั่งโดยสารซึ่งอยู่ที่ 200 ที่นั่งในเครื่องบินโดยสารแบบพิเศษนี้ เมื่อหารแล้วคนซื้อหนึ่งที่นั่ง การบินไทยจะเสียค่าต้นทุนน้ำมันที่ 4,500 บาทต่อที่นั่ง และเมื่อบวกต้นทุนด้านอื่นๆ แล้วทำให้การบินไทยสามารถขายตั๋วโดยสารได้ในราคา 3-4 บาทแล้วแต่แบบของที่นั่ง
วิกฤตราคาน้ำมันตั้งแต่ต้นปี ราคาค่าน้ำมันต่อตันที่การบินไทยใช้เติมน้ำมันที่สนามบินสุวรรณภูมิอยู่ที่ตันละ 40,000 บาท ดังนั้นใช้น้ำมัน 150 ตัน ทำให้เครื่องหนึ่งลำที่ต้องบินไปนิวยอร์ก ต้องเติมน้ำมันมากถึง 6,000,000 บาท เมื่อนำมาหารกับจำนวนที่นั่ง 200 ที่นั่ง ต้นทุนเฉพาะค่าน้ำมันต่อที่นั่งมากถึง 30,000 บาท แล้วการบินไทยจะขายตั๋วโดยสารได้อย่างไรถึงจะคุ้ม
หากราคาน้ำมันขึ้นสูงขึ้นเรื่อยๆ แบบนี้ เราก็ไม่อาจมองเห็นหนทางที่จะทำให้เส้นทางนี้กลับมาทำกำไรได้อีก และนี่เป็นจุดที่การบินไทยต้องตัดสินใจยกเลิกเที่ยวบินนี้ แม้ Load Factor หรือจำนวนผู้โดยสารต่อเที่ยวก่อนตัดสินใจบินเที่ยวบินนี้จะมากถึง 90% ก็ตามที
นอกเหนือจากนี้การบินไทยยังเปลี่ยนการบินแบบบินตรงจากกรุงเทพฯ ไปลอสแองเจลิสให้เป็นแบบแวะพักโดยแวะพักที่โอซากา ประเทศญี่ปุ่นก่อน ซึ่งจะเริ่มในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ หลังจากที่ทำการลดเที่ยวบินมาแล้วตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และยังเตรียมลดความถี่ของเที่ยวบินอื่นๆ ลงอีก อาทิ กรุงเทพ-โอ๊กแลนด์ นิวซีแลนด์ ซึ่งบิน 9 ชั่วโมง ตามรอยสายบินอื่นๆ ทั่วโลกซึ่งทยอยปรับลดเที่ยวบินลงแล้ว 20% โดยการบินไทยจะเพิ่มมาตรการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามราคาน้ำมันที่ลดหรือเพิ่ม และจะไม่แบกภาระให้กับผู้โดยสารให้ 100%
POSITIONING : มาตรการอื่นๆ ในการลดค่าใช้จ่ายเพื่อประหยัดน้ำมันมีอะไรบ้าง
ดีดี : จริงๆ แล้วการบินไทยได้ริเริ่มมาตรการลดค่าใช้จ่ายมานานหลายปี โดยเฉพาะค่าน้ำมัน ในปีแรกๆ นั้นเราก็ลดค่าน้ำมันได้ราว 5% และเพิ่มขึ้นเป็น 6-7% ในปีถัดมาซึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนของต้นทุนค่าน้ำมัน เช่น ปีหนึ่งเคยเสียค่าน้ำมันปีละ 60,000 ล้านบาท หากการบินไทยสามารถประหยัดน้ำมันได้ 5% จะประหยัดได้ถึงปีละ 3,000 ล้านบาท
ปัจจุบันการบินไทยเพิ่มมาตรการการประหยัด โดยระบุระเบียบปฏิบัติในการบินของนักบิน หรือมาตรการประหยัดน้ำหนัก จำพวกอุปกรณ์ที่ใช้งานอยู่บนเครื่องบิน เช่น เส้นทางกรุงเทพฯ ไปยังลอนดอนหากบรรทุกของเกินขึ้นมา 1 กิโลกรัมเครื่องบินจะต้องเผาน้ำมันทิ้งไป 60-70% ของน้ำมัน 1 กิโลกรัม หรือแม้แต่มีการเก็บสถิติการใช้น้ำในเครื่องบินในแต่ละเที่ยวบิน เพื่อลดจำนวนการเติมน้ำลงในถัง แต่ขณะนี้มาตรการเหล่านี้ พูดได้เลยว่าการบินไทยทำถึงที่สุดแล้ว เพราะหากทำมากไปกว่านี้ ก็จะทำให้ไม่ปลอดภัยในระหว่างการบิน
POSITIONING : มีคนมองว่าการที่การบินไทยมีเครื่องบินหลายแบบ ทำให้ต้นทุนสูง
ดีดี : ไม่หรอก ผมว่าอยู่ที่การนำเครื่องบินเหล่านั้นมาใช้ในเส้นทางที่เหมาะสม เพราะเครื่องบินหลากหลายจะรองรับเส้นทางที่แตกต่างกันออกไป อาทิ เครื่องบินแบบ 734 เครื่องเล็กแบบนี้เหมาะกับที่การบินไทยจะใช้บินไปเชียงใหม่ หากใช้เครื่องใหญ่กว่านี้ก็ขาดทุน เพราะที่นั่งมากเกินไป ผมยังเชื่อว่าการบินไทย สามารถใช้เครื่องบินได้เหมาะสมกับเส้นทางแล้ว
POSITIONING : การบินไทย Hedge น้ำมันอย่างไรบ้าง
ดีดี : ทุกวันนี้การบินไทย Hedge น้ำมันอยู่ราว 20% ของปริมาณน้ำมันที่ใช้ แต่การ Hedge น้ำมันบางครั้งก็ขึ้นอยู่กับช่วงของการราคาน้ำมันนั้นๆ ด้วย โดยมากแล้วการบินไทยจะไม่ยอม Hedge ถึง 30-40% เพราะถือว่าเป็นความเสี่ยงจนเกินไป
POSITIONING : ในฐานะลูกหม้อของการบินไทยมานาน มองปัญหา ”การเมือง” ทั้งในและนอกการบินไทยอย่างไร
ดีดี : ถ้าจะให้พูดถึงเรื่องการเมือง ผมว่ามันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ผมพอจะบอกได้ว่าปัญหาที่แท้จริงของการบินไทยคือความยุ่งยากในการบริหารจัดการ เพราะเมื่อเทียบกับแอร์ไลน์อื่นแล้ว การบินไทยเป็นหน่วยงานที่รัฐถือหุ้นเกิน 50% ในเวลาเดียวกันยังเป็นบริษัทมหาชนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ดังนั้นสิ่งที่การบินไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ ต้องทำตามระเบียบข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทุกประการ เช่นเดียวกันกับต้องปฏิบัติตามกฎของรัฐวิสาหกิจทุกประการด้วย
บางครั้งก็กลายเป็นจุดดีจุดด้อย จุดดีคือ มีรัฐกำกับ จุดด้อยก็คือขั้นตอนการทำงานที่อาจจะไม่ทันกับการแข่งขัน เพราะทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าธุรกิจต่างๆ นั้นได้เปลี่ยนแปลงไป แต่ก่อนนั้นหลายคนมองเพียงแต่การควบคุมคุณภาพสินค้า แต่ทุกวันนี้ อยู่ที่การชิงไหวชิงพริบ บริษัทไหนออกบริการอะไรก่อนก็กลายเป็นบริษัทที่นำหน้าและได้เปรียบ
หลายต่อหลายครั้งมักมีการนำเรื่องของการบินไทยไปอภิปรายในเวทีการเมือง และนำการบินไทยไปเปรียบเทียบกับสิงคโปร์แอร์ไลน์ส ซึ่งในความเป็นจริงแล้วผมว่ามันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น เพราะการบินไทยไม่ได้มีเส้นทางบินเฉพาะในต่างประเทศเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเส้นทางในประเทศอีกด้วย Fleet เครื่องบินจึงต่างกัน การเทียบรายได้ที่เกิดจากการมีเส้นทางบินที่แตกต่างกันแบบนี้ดูไม่สมเหตุสมผลนัก ดังนั้นหากจะเทียบก็ให้มองถึง Profit Margin มากกว่า เพราะแทบจะไม่แตกต่างกันเลยคืออยู่ราวๆ 6-7%
POSITIONING : การบินไทยจะมีสภาพอย่างไรนับจากนี้
ดีดี : สำหรับผมว่าสถานภาพของการบินไทยได้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตที่สุดมาแล้ว และช่วงต่อไปนี้ถือว่าจะเป็นช่วงที่วิกฤติได้บรรเทาเบาบาลลง เมื่อราคาน้ำมันปรับลดลง เชื่อว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ
แม้ตัวเลขการเปรียบเทียบระหว่างปีที่แล้วกับปีนี้อาจจะยากหน่อย เพราะปีนี้ถือเป็นปีแรกที่การบินไทยเปลี่ยนมาใช้รอบบัญชีสิ้นสุด ณ เดือนธันวาคม แทนการเปรียบเทียบสิ้นสุด ณ เดือนกันยายน อย่างที่ผ่าน และเป็นความแปลกใหม่ที่การบินไทยไม่เคยทำมาก่อนตลอดระยะเวลา 48 ปีที่ผ่านมาของการบินไทย
POSITIONING : หากนับเวลาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ดีดีนั้นอยู่ในตำแหน่งมาเกิน 3 ปีแล้ว และจะครบวาระใน 11 เดือนข้างหน้า ก่อนถึงวันนั้น ดีดี อยากจะเห็นการบินไทยเป็นอย่างไรบ้าง
ดีดี : ผมมีสิ่งที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่เริ่มมารับตำแหน่งดีดี โดยเฉพาะเรื่องของวัฒนธรรมองค์กร การทำงานของพนักงานและองค์กรทั้งหมด แต่สุดท้ายผมก็พบว่ามันคงต้องใช้เวลา อาจจะไม่เห็นผลในช่วงเวลาของผมก็จริง แต่อย่างน้อยก็ภูมิใจว่าผมได้เริ่มทำอะไรขึ้นมาบ้างและหวังว่าสิ่งที่อยากจะเห็น จะเกิดขึ้นในอนาคต
POSITIONING : ตลอดระยะเวลาที่นั่งอยู่ในตำแหน่งนี้ ดีดีมองว่าผลงานชิ้นโบแดงของตนเองคืออะไร
ดีดี : การปราบทุจริต ผมว่าผมทำได้เยอะพอสมควร ผมพยายามจะชี้ให้เห็นว่าเราไม่ต้องการพนักงานที่ไม่สุจริตหรือไม่มีความสามารถในการทำงาน องค์กรไหนจะแข็งแกร่งต้องอยู่ที่ผู้บริหารและพนักงานเท่านั้น ผมอยากจะย้ำแบบนี้ ดังนั้นหากผู้บริหารและพนักงานมีความสามารถ ซื่อสัตย์ สุจริต ผมว่าองค์กรนั้นก็จะก้าวหน้า ผมเชื่อแบบนั้นนะ