เด็กเส้น-การเมือง ปัญหาหนักอกเจ้าจำปี

แจ่มศรี สุกโชติรัตน์ ถือเป็นลูกหม้อของการบินไทยโดยแท้จริง กว่า 31 ปีที่เธอทำงานภายใต้บริษัทแห่งนี้มาในตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน

เธอย้อนความทรงจำ ประสบการณ์ที่มีมากว่า 3 ทศวรรษให้ฟังว่า เธอเริ่มทำงานตั้งแต่เดือนเมษายน 2520 และก้าวเข้ามาทำงานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยตั้งแต่ปี 2532 โดยมีแรงผลักดันมาจากกรณี “ไล่แอร์แก่ลงกราวด์” จากนั้นเธอเริ่ม “อิน” กับความอยุติธรรม และมีบทบาทในการพิทักษ์สิทธิ์ของพนักงานและองค์กรเรื่อยมา

แม้เธอจะถูกการเมืองเล่นงานอย่างหนักในช่วงปี 2540-2545 จนทำให้เธอตัดสินใจลาออกจากการทำหน้าที่ของสหภาพฯ แต่ในปี 2551 นี้เธอกลับมาอีกครั้งด้วยการชนะการเลือกตั้ง และเป็นประธานสหภาพฯ คนล่าสุด

เรื่องราวมากมายในอดีตพรั่งพรูออกมาจากปากของเธออย่างแจ่มชัดประหนึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน

เด็กเส้น…ตราบาปของการบินไทย

“เกลียดระบบอุปถัมภ์มาก เป็นระบบที่น่ารังเกียจ แต่เส้นสายที่นี่ก็เลิกไม่ได้ ต่อต้านมาตลอด สู้มาหลายปี แต่ทุกวันนี้ก็มีคนต่อต้านมากขึ้น เรารู้ว่าแพ้ แต่ยังไม่ท้อ ตอนนี้ก็เบาขึ้น”

แจ่มศรีเล่าว่า ทุกวันนี้เปอร์เซ็นต์ของเด็กเส้นยังคงมีสัดส่วนใกล้เคียงกันกับอดีต แต่มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน

“สมัยก่อนถ้าเป็นเด็กเส้น แต่คุณสมบัติต้องครบ แบ็กกราวด์ดี ระยะหลัง คุณสมบัติไม่ครบก็เอา ส่วนสูงไม่ต้องถึงเกณฑ์ก็ได้ กาดอกจันดันสุดฤทธิ์ เริ่มเป็นในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา แรงจนน่ารังเกียจ”

ปัญหาประการหนึ่งที่แจ่มศรีบอกว่าเป็นปัญหาหลักที่สำคัญกว่าราคาน้ำมันผันผวนและควรแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ Sense of Belonging ของคนในองค์กรลดต่ำลง คนสมัยก่อนเริ่มต้นสร้างการบินไทยจากศูนย์ มีสำนึกต่อองค์กรสูง แต่ไม่ได้ถ่ายทอดส่งผ่านไปให้กับคนรุ่นใหม่ คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่เข้ามาเพราะคิดว่าได้ท่องเที่ยว ได้ตั๋วฟรี

ทำให้องค์กรขนาดใหญ่แห่งนี้ดูไร้ทิศทาง และการบริหารจัดการที่ชัดเจนก็คือ การขาดสำนึกในการเป็นบุคลากรที่ดีตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงจนถึงพนักงานระดับปฏิบัติการ

“ตำแหน่งระดับสูงวิ่งนักการเมืองหนักขึ้นทุกวัน ขาดสำนึก ขาดความละอาย ได้ตำแหน่งเพื่อความสบาย ล้มก็ล้มบนฟูก ทำให้การวิ่งเต้นเป็นเรื่องปกติ เป็นการร่วมมือที่ทำให้องค์กรแย่ลง”

ยุคเฟื่องฟูสุดๆ ของการบินไทยในความคิดเห็นของแจ่มศรี คือยุคที่ฉัตรชัย บุญยะอนันต์ เป็น ดีดี เพราะมาจากด้านการตลาด และยุคของธรรมนูญ หวั่งหลี ที่เป็นนักประสาน เข้าได้กับทุกฝ่ายและพนักงานทุกระดับ

เนื้อร้ายหยั่งรากลึก

ขณะที่ยุคราคาน้ำมันแพงแถมผันผวนชนิดที่เรียกว่าไม่ต้องเดากันเลย เป็นยุคที่เธอบอกว่าตกต่ำถึงขีดสุด แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นเธอบอกว่าเพราะความ “อวดดี” และ “ประมาท” ของพนักงาน ไม่เฉพาะผู้บริหาร แต่เป็นเพราะ Spoiled System ไม่มีใครตระหนักถึงอันตรายของการเติบโตอย่างไร้ทิศทาง

นอกจากนี้ระบบอุปถัมภ์ยังก่อให้เกิดรูปแบบการรับพนักงานของการบินไทยที่ไม่เหมือนที่ใดในโลก

“เอาคนเข้ามาก่อน Jop Description เกิดขึ้นทีหลัง มีระดับ Manager, Director เป็นร้อยๆ คน แต่หลายคนไม่มีลูกน้องซักคนเลยนะ”

นับเป็นเรื่องแปลกแต่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นแล้วที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

“ทุกคนจะคิดว่าการบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่ล้มหรอก เพราะมีรัฐบาลค้ำอยู่ แต่ลืมไปว่าการบินไทยต่างจากการไฟฟ้า หรือประปา เพราะไม่ใช่สาธารณูปโภค เราอยู่ในธุรกิจที่ต้องแข่งขันอย่างเสรี และเป็นการแข่งขันที่สูงมาก…น่าเสียดาย…คนไทยก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเจ้าของแล้ว พูดแล้วขนลุก ไม่นึกว่าวันนั้นจะมาถึงเร็วขนาดนี้”

แจ่มศรีเอ่ยต่อไปอย่างสะเทือนใจว่า “มีคนไทยกี่เปอร์เซ็นต์ที่อยากจะเข้ามาโอบอุ้ม เพราะรู้สึกว่าไม่มีการบินไทยก็ไม่เป็นไร การเป็น Flag Carrier ไม่มีอีกแล้ว สิ่งนี้น่าเป็นห่วง การบินไทยสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับประชาชนยากเพราะเราอวดดี

ผู้บริหารไม่จริงจังในการบริหารแบบมืออาชีพ ไม่กล้าพูดความจริง กลัวส่งผลกระทบต่อหุ้น กลัวอายคู่แข่ง ตัวเองก็อยู่บนกองเงินกองทอง ส่วนพนักงานเคยได้อย่างไรก็อยากได้อย่างนั้น ลืมไปว่ามันหมดสมัยแล้ว ไม่หรูหราฟู่ฟ่าอีกแล้ว พนักงานเอาเวลาบริษัทไปทำงานอื่น…น่าละอาย ไม่มีใครคิดจะร่วมกันอุดรอยรั่วของการบินไทยเลย ไม่มีผู้บริหารซักคนที่จะเรียกสำนึกของพนักงานให้กลับมาได้ ไม่มีเลย”

ปัญหาที่เกิดขึ้นฉายภาพเด่นชัดตั้งแต่การบินไทยเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปี 2535 สำนึกหายไปเพราะระบบอุปถัมภ์ ทุกคนชื่นชมกับมัน ไม่คิดว่ามันทำลายองค์กร มันทำลายคนเก่ง คนดี คนกล้าไปเรื่อยๆ ทำให้คนดีหมดกำลังใจ อยู่เฉยๆ รอออกจากงาน Early Retire มา 2 ครั้ง คนดีก็ทยอยออกหมด

“นี่คือสิ่งที่แย่ที่สุด แต่การมี HR ที่ดี การบริหารบุคลากรที่ดี ปัญหาน้ำมันจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ทุกแอร์ไลน์เจอหมด ดังนั้นนี่คือการแข่งขันของผู้นำแต่ละองค์กรว่าใครจะพาองค์กรของตัวเองอยู่รอดต่อไปได้”

จะการเมืองหรือการบินก็เรื่องเดียวกัน

เป็นที่รู้กันว่า การเมืองภายในองค์กรสีม่วงแห่งนี้ “แรง” แค่ไหน ศึกชิงความเป็นใหญ่ในแผ่นดินจีนอย่าง “สามก๊ก” ยังต้องอาย แจ่มศรีขยายความประเด็นนี้ว่า “มี 6 EVP (Executive Vice President) ก็มี 6 ก๊ก ทุกฝ่ายมีผลประโยชน์หมด ฝ่ายช่าง กราวด์ ปฏิบัติการบิน นักบิน หรือลูกเรือ…ทุกที่เป็นพันล้านบาท”

แจ่มศรี ย้อนความหลังถึงอดีตแห่งความขมขื่นที่เธอบอกว่าเป็น 5 ปีแห่งความชั่วร้ายของการบินไทย คือในปี 2545-2549

“สมใจนึก เองตระกูล เป็นดีดี ซ้อนกับกนก อภิรดี ตั้งตำแหน่ง 88 รหัสอะไรก็ไม่รู้ ไม่เคยปรากฏมาก่อน ไม่มีการอธิบายว่าทำไมต้องจ้างเดือนละ 1 ล้านบาท ทั้งๆ ที่บริหารงานล้มเหลว และนอกจากนี้ยังเป็นบอร์ด แล้วบอร์ดมาทำหน้าที่ดีดี ถามหน่อยแล้วใครตรวจสอบบอร์ด”

มาถึงกรณีล่าสุดที่เกิดการแต่งตั้งกัปตันนรหัช พลอยใหญ่ เพื่อนเตรียมทหารรุ่น 10 ของทักษิณ ชินวัตร เป็นดีดีคนใหม่ แทนกัปตันอภินันทน์ แต่ในอีกไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น ก็มีคำสั่งยกเลิกประกาศดังกล่าว เนื่องจากมีเสียงคัดค้านอย่างกว้างขวางนั้น ทำให้การแขวนแล้วแต่งตั้งใหม่นี้เหมือนเป็นเรื่องปาหี่

“สังคมการบินไทยบอกว่า ไม่เห็นด้วยที่เอานักบินมาเป็นดีดี เพราะเขาบอกว่าเอานักบินมาเป็นพวกตัวเอง แล้วทำไมถึงเอากัปตันนรหัชมาเป็นดีดี แม้จะมีใครมองว่ากัปตัน 2 คนนี้ไม่ถูกกัน แต่บอกไว้เลยว่า…กองทัพไม่ทิ้งกันหรอก…” เธอบอกอย่างมั่นใจพร้อมสำทับว่า “ที่นี่ ดอนเมืองค่ะ การบินไทยเท่ากับดอนเมือง ดอนเมืองเท่ากับการบินไทย”

ท่ามกลางภาวะคับขัน การบินไทยกำลังมองหาฮีโร่ที่จะมาช่วยกอบกู้วิกฤต แต่ความจริงที่รู้เห็นและเป็นอยู่คือ

“ไม่มีตัวเลือกแล้ว อยู่ที่ว่าจะเลือกเลวน้อยกว่า เลวมาก หรือเลวที่สุด”

ทุกวันนี้แม้สัดส่วนของ “กองทัพอากาศ” ในบอร์ดการบินไทยจะลดน้อยลงมาก แต่แจ่มศรีบอกว่า น้อยมากไม่สำคัญ สำคัญที่พลังในที่ประชุมบอร์ดต่างหาก

“อยู่ที่ว่าคุณมาจากใคร เป็นคนของใคร เงียบๆ เป็นเสียงข้างน้อย แต่พูดทีเสียงดังก็มี”

โกงกิน…ธรรมเนียมปฏิบัติเจ้าจำปี?

แจ่มศรี ยกกรณีการเปลี่ยนอายาตนะมาเล่าให้ฟังว่า การบินไทยเปลี่ยนแปลงอายตนะเมื่อปี 2548 ในยุคของกนก อภิรดี เป็นดีดี ใช้งบประมาณ 13,000-14,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการว่าจ้าง “อินเตอร์แบรนด์” บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์ระดับโลกจากอังกฤษด้วยงบ 100 ล้านบาท ในการเปลี่ยนแปลงเอกลักษณ์ต่างๆ ของการบินไทย เช่น โลโก้ใหม่ เก้าอี้ผู้โดยสาร เครื่องแบบพนักงาน ห้องรับรองพิเศษ ภาชนะและเครื่องใช้สำหรับผู้โดยสาร รวมถึงการตกแต่งภายในเครื่องบินและการทาสีเครื่องบินภายนอกทั้งหมด

ภายนอกอาจสดสวยดูดี แต่มาฟังปากคำของผู้ปฏิบัติงานอันมีผลกระทบจากอายตนะที่เปลี่ยนแปลงไป นับจนถึงวันนี้ร่วม 3 ปีเศษแล้ว

“เปลี่ยนช้อน เปลี่ยนชามหมดทุกอย่าง ช้อนเดิมทิ้งไปเป็นแสนๆ ชุด จากกระเบื้องแบบญี่ปุ่น ซื้อเองไม่เคยถามคนใช้งานเลยว่าสะดวกหรือเปล่า แต่ซื้อเพราะมีคอนเนกชั่น เป็นความไม่ซื่อสัตย์ต่อองค์กร”

แจ่มศรีระบายความในใจต่อไปว่า “ถ้าเปลี่ยน Seat ให้กว้างขึ้นนี่ก็ว่าไปอย่างให้ผู้โดยสารนั่งสบายขึ้น ชุดก็มีปัญหาไม่ Practical ผ้าไม่เป็นไปตามสเปก ใช้ผ้าราคาถูกมาตัด”

ดังนั้นแนวทางในการแก้ปัญหาคือ บริหารจัดการต้องดี ลดต้นทุนให้ได้

“ผู้บริหารต้องไว ต้องเร็ว วิสัยทัศน์เอาออกมาใช้ได้แล้ว” นั่นคือสิ่งที่แจ่มศรีมองว่าจำเป็นและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด

การลดต้นทุนคือการลดน้ำหนักในเครื่องบิน เพราะน้ำหนักแปรผันตรงกับปริมาณเชื้อเพลิงที่เผาผลาญไป

“ผ้าห่มนี่บัดซบเลย อุ่นก็ไม่อุ่น หนักก็หนัก ใหญ่ก็ใหญ่ มีผลต่อความปลอดภัยด้วย คอนเซ็ปต์ของผ้าห่มที่ใช้กันในเครื่องบินคือ ต้องเบา กันไฟได้ และอุ่น” ดังนั้นอีกไม่นานเราอาจเห็นผ้าห่มการบินไทยที่มีสเปกถูกต้องตามมาตรฐานสากล

ขณะที่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้วก็คือ การเปลี่ยนหูฟังจากขนาดใหญ่มาเป็นขนาดเล็ก เพื่อลดน้ำหนักและพื้นที่ในการจัดเก็บ

“หูฟังขนาดเล็กไม่เปลืองพื้นที่ในการจัดเก็บ จากเดิมต้องเก็บ 90 อันใน 1 ยูนิต ปัจจุบันเก็บได้ 300 อันใน 1 ยูนิต”

การบินไทย…อะไรก็ได้อีก

การบินไทยต้องรับบทบาทเป็น “ทางออก” ให้กับทุกรัฐบาล เป็นทั้ง “ตัวช่วย” และสุดท้ายกลายเป็นองค์กรที่ “ช้ำเลือดช้ำหนอง” อย่างจำทน กับสภาพที่ “รับได้ทุกอย่าง” จากคำสั่งรัฐบาล

ลำไยอบแห้ง รูทนอนสต็อป ไฟลต์ กรุงเทพ-นิวยอร์ก คือบางส่วนของผลพวงที่เกิดขึ้น “เพื่อช่วยชาติ”

แจ่มศรีเล่าว่า ปฐมบทของรูทฉาวกรุงเทพ-นิวยอร์ก เกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลในยุคที่ทนง พิทยะ เป็นประธานบอร์ดการบินไทยนั้นมีคำสั่งให้การบินไทยสั่งซื้อเครื่องบิน A340 -500

“เป็นเรื่องของผลต่างตอบแทน ทั้งค่าคอมมิชชั่น เป็นธรรมเนียมตามน้ำ เขาบอกว่าจะไปเปิดศูนย์โอท็อป ที่ Fifth Avenue”

เธอฉายภาพต่อไปว่า “ผู้บริหารคนก่อนๆ ก็ค้านว่า เปิดทำไม แต่ไม่มีใครฟัง รูทยุโรปเป็นรูททำเงิน คนยุโรปชอบการบินไทยมาก ทำไมไม่ไปพัฒนาให้มากขึ้น แต่รูทสหรัฐฯ การบินไทยขาดทุนมาตลอด เคยเปิดรูทซีแอตเทิลเมื่อ 15 ปีก่อน ก็ต้องปิดเพราะขาดทุน”

นอกจากนี้แจ่มศรียังเล่าถึง “ลำไยช่วยชาติ” อย่างติดตลกว่า “ผู้โดยสารไม่กินนะลำไยอบแห้ง ลูกเรือกินจนน้ำหนักขึ้น เพราะมันหวาน (หัวเราะ)”

เป็นเรื่องน่าคิดที่ว่า ทุกครั้งที่การบินไทยมีส่วนร่วมในโปรเจกต์ Made to order และเมื่อไหร่โปรเจกต์มีอันล่มสลายตายจากไป การบินไทยยังมีภาระ มีปัญหาคั่งค้างให้ต้องสะสาง ขณะที่หน่วยงานอื่นเลิกแล้วก็เลิกไป