“กัปตัน” รักษาระดับ “บินสูง”

มองผ่านจากห้องนักบิน (Cockpit) ท้องฟ้าที่มืดมิด มีเพียงเรดาร์นำทางเพื่อนำเครื่องบินสู่จุดหมายปลายทาง ซึ่งไม่ว่าจะใกล้หรือไกล “กัปตัน” ก็สามารถรู้ระยะทางและเวลาถึงสนามบินข้างหน้าได้อย่างแม่นยำ เพราะวางแผนการบินอย่างดี แต่เส้นทางอาชีพวันนี้ กำลังเปลี่ยนไป ยากที่จะคาดเดาว่าท้องฟ้าที่มืดมิดจะมีเมฆฝน และหลุมอากาศหนักเพียงใด เพราะธุรกิจการบินกำลังเผชิญกับวิกฤตน้ำมันจนต้นทุนสูง กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งของชีวิตนักบิน

“นักบิน” โดยเฉพาะนักบินที่หนึ่งที่เรียกว่า “กัปตัน” คือกลุ่มอาชีพที่น่าอิจฉา เพราะทั้งเท่ ดูดี และมีรายได้สูง และทุกครั้งที่มีการสำรวจถึงอาชีพในฝัน “นักบิน” คืออาชีพแรกๆ ที่คนใฝ่ฝัน

แอร์ไลน์ชั้นนำ 100 สายการบินของโลก สายการบินที่จ่ายเงินเดือนโดยยังไม่รวมเบี้ยเลี้ยง ให้ “กัปตัน” สูงสุด คือฝรั่งเศส ประมาณ 1.1 ล้านบาทต่อเดือน รองลงมาคือญี่ปุ่น จ่าย 1 ล้านบาท ส่วนการบินไทยอยู่ในอันดับที่ประมาณ 80 ที่กัปตันมีเงินเดือนประมาณ 2 แสนบาท

กัปตันการบินไทยคนหนึ่งเล่าว่า รายได้ประมาณนี้ถือว่าสูง เมื่อเทียบกับอาชีพอื่นในไทย และนี่ถือว่าดีที่สุดของการบินไทยเมื่อเทียบกับอดีต ซึ่งรายได้ของนักบินต่ำมาก เพราะผู้โดยสารน้อย และเที่ยวบินน้อย

“ผมเริ่มเป็นนักบินตอนนั้นประมาณปี 1990 ไปซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา มีเงินเดือนแค่ 25,000 บาท ส่วน Co-pilot เงินเดือน 23,000 บาท และนักบินที่ 3 เงินเดือนประมาณ 17,000 บาทเท่านั้น ขณะที่แม่บ้านโรงแรมที่ซีแอตเทิลตอนนั้นได้เงินเดือนประมาณ 1,000 เหรียญ เท่าๆ กับกัปตันเลยทีเดียว”

สำหรับสิ่งที่กระทบกับนักบินขณะนี้ หลังจากเกิดวิกฤตธุรกิจสายการบินเพราะราคาน้ำมันสูงขึ้น คือ แม้เงินเดือนยังคงได้เหมือนเดิม แต่เบี้ยเลี้ยงลดลง เพราะเที่ยวบินลด และยกเลิกไปแล้วบางเส้นทาง จนการบินไทยต้องขายเครื่องบิน ซึ่งมีผลให้นักบินต้องฝึกใหม่ และสอบใบอนุญาตเพื่อขับเครื่องบินรุ่นใหม่ หากเป็นแบบที่ใกล้เคียงกันจะใช้เวลาไม่ถึงเดือน แต่ถ้าเป็นแบบที่ต่างกันมากอาจต้องใช้เวลาถึง 6 เดือน มีค่าใช้จ่ายอีกเป็นล้านบาทต่อคน

นี่คือต้นทุนของสายการบิน ซึ่งยังไม่นับการฝึกนักบินของสายการบินก่อนเข้าประจำการฝูงบินที่มีต้นทุนอีกอย่างต่ำคนละ 1 ล้านบาท

สัดส่วนรายได้ของนักบิน
เงินเดือน 30%
เบี้ยเลี้ยงเดินทาง ใบอนุญาต ค่าล่วงเวลา 32%
โบนัส 10%
ภาษี 28%

แหล่งผลิตนักบินสำหรับสายการบินพาณิชย์
1. สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) หัวหิน
2. BAC หัวหิน
3. Royalsky ดอนเมือง

รวมผลิตนักบินไม่เกิน 200 คนต่อปี แล้วส่งต่อให้การบินไทย

ต้นทุนการผลิต
-ต้นทุนการผลิตนักบินต่อ 1 คน ประมาณ 400,000 บาท จากนั้นสายการบินต้องลงทุนฝึกต่อ

เกณฑ์คัดเลือก
-เกณฑ์การคัดเลือกนักบินที่สำคัญ คือ “Aptitude Test” หรือการทดสอบความเหมาะสม ที่ต้องใช้ความสามารถพิเศษ โดยมีผู้ที่มาทำการทดสอบคือทีม Aptitude Test

การทดสอบเริ่มจากข้อเขียนช่วงเช้า 4-5 ฉบับ ช่วงบ่าย 4-5 ฉบับ แต่ละคำตอบต้องมีเหตุผลอธิบายได้ และแข่งกับเวลา หลังจากนั้นประมาณ 1-2 วันมีการสอบสัมภาษณ์กับทีมนักจิตวิทยา เช้า 1 คน บ่าย 1 คน ซึ่งเป็นทีมนักจิตนักจิตวิทยาระดับปริญญาเอกที่บริษัทประกันภัยที่รับประกันบริษัทการบินไทย มีการทดสอบการแยกประสาท หูฟัง ตามอง มือทำงาน พร้อมทั้งแยกสมองไปคิดเรื่องอื่นให้ได้ในเวลาเดียวกัน

ข้อกำหนดที่สำคัญคือผู้ที่ไม่ผ่าน Aptitude Test จะไม่สามารถสอบ Aptitude Test ได้อีกอย่างน้อย 3 ปี เพราะ Aptitude ของคนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆ ต้องอาศัยเวลา

กว่าจะเป็น “กัปตัน”

เมื่อสอบได้เป็นนักบินแล้ว ต้องผ่านการทดสอบชนิด “หิน” ถึงจะไต่เต้าเป็นนักบินที่หนึ่ง และถูกเรียกว่า “กัปตัน” บางคนต้องใช้เวลาถึง 8-12 ปี โดยต้องผ่าน 3 ขั้นตอนดังนี้
1. ต้องบินกับ SV Supervisor 3 เที่ยว บิน SIMsimulator 1 เที่ยวบิน หากไม่ผ่านต้องรออีก 1 ปี
2. บินกับ SV Supervisor 6-7 เที่ยว ถ้าไม่ผ่านต้องรออย่างน้อย 3 ปี
3. เปลี่ยนเครื่องบินฝึกที่นั่งกัปตัน ถ้าไม่ผ่านต้องรออีกอย่างน้อย 5 ปี
4. เมื่อทำหน้าที่แล้วนักบินต้องถูกตรวจสอบการทำงานในสภาวะปกติและสภาวะฉุกเฉินทุก 6 เดือน
และต้องตรวจสุขภาพอย่างละเอียดทุก 6-12 เดือน ก่อนต่อใบอนุญาตการบิน

สุขภาพ “นักบิน”
การบินต่อ 1 เที่ยว โดยเฉพาะบินข้ามทวีป แม้จะมีเบี้ยเลี้ยงสูงกว่าเส้นทางในภูมิภาคและในประเทศ แต่ก็บั่นทอนสุขภาพของ “นักบิน” สาเหตุมีตั้งแต่การรับประทานอาหารที่ต้องคำนึงถึงความสะอาดเป็นหลัก จึงเป็นอาหารที่ทำสุกแล้ว แช่แข็งแล้วนำมาอุ่นในเครื่อง นักบินต้องปรับร่างกายตามเวลาในแต่ละภูมิภาค การนอนจึงต่างจากอาชีพทั่วไป ส่วนใหญ่จะมีปัญหาโรคหัวใจ และลำไส้ ในช่วงเฉลี่ยอายุ 45-55 ปี

ที่มา : สมาคมนักบินไทย

นักบิน “แพลทินัม”

“นักบิน” เป็น Segment ที่สินค้าและบริการต่างอยากได้มาเป็นลูกค้า เพราะรายได้สูง และพร้อมจ่ายสูงเช่นกัน

กรณีศึกษาจากบริการบัตรเครดิต ”เคทีซี-สมาคมนักบินไทย วีซ่า แพลทินัม” ที่เคทีซีจับมือแบบ Exclusive กับสมาคมนักบินไทย ที่มีสมาชิกอยู่ประมาณ 1,000 คน เพื่อให้กลุ่มนี้เป็นสมาชิกบัตรโดยเฉพาะ เปิดบริการมาแล้วประมาณ 3 ปี ปัจจุบันมีสมาชิกบัตรประมาณ 400 คน

การจัดให้เป็นบัตร Activity Card หรือบัตรชมรม และสมาคมนั้น “เคทีซี” จับจุดได้ว่ากลุ่มนี้มีความภาคภูมิใจในสถานะภาพที่เป็นอยู่ บัตรเครดิตนักบินนี้จะต้องสะท้อนชัดตั้งแต่ตัวบัตร ที่ดีไซน์หน้าบัตรเป็นหน้าปัดในห้องปฏิบัติการบินของเครื่องบิน (Cockpit) และโลโก้สมาคม

สำหรับคุณสมบัติของผู้สมัครบัตร ถือได้ว่านักบินเกือบทุกคนทั้งกัปตัน และ Co-pilot ต่างเข้าเกณฑ์ เพราะรายได้ส่วนใหญ่เกิน 70,000 บาท ซึ่งเป็นเกณฑ์ทั่วไปของลูกค้าบัตรแพลทินัม สำหรับการใช้จ่ายต่อเดือนของลูกค้ากลุ่มนี้เกินหลักหมื่นเป็นส่วนใหญ่ และกว่า 80% ที่ชำระหนี้เต็มวงเงิน 100%

สินค้าบริการที่นักบินนิยมรูดปรื๊ดในอันดับต้นๆ คือคอมพิวเตอร์ สินค้าไฮเทค รองจากเติมน้ำมัน ขณะที่ลูกค้ากลุ่มอื่นๆ จะใช้ซื้อสินค้าไฮเทคในท้ายๆ เพราะนักบินมักใช้โน้ตบุ๊กเพื่อโทรศัพท์ทางไกลเมื่อไปต่างประเทศ หรือเช็กตารางการบิน โดยนิยมซื้อในประเทศมากกว่าต่างประเทศ เพราะให้ความสำคัญกับการบริการหลังการขายที่สะดวกกว่า สำหรับสถานท่องเที่ยว โรงแรม จะนิยมพักแบบบูติก โฮเต็ล เช่นที่หัวหิน และสมุย

ตัวอย่าง Per Diem กัปตัน – ลูกเรือ การบินไทย

Countries Currency(สกุลเงินที่ได้รับ) Total Per Diem / 24 hrs.
Captain Other Crew
ออสเตรเลีย ดอลลาร์ออสเตรเลีย 181 172
บังกลาเทศ ดอลลาร์สหรัฐ 107 102
บรูไน ดอลลาร์สหรัฐ 112 107
จีน ดอลลาร์สหรัฐ 173 165
ฝรั่งเศส ยูโร 119 113
อังกฤษ ปอนด์ 86 82
ฮ่องกง ดอลลาร์ฮ่องกง 1,110 1,057
อินเดีย ดอลลาร์สหรัฐ 151 144
อิตาลี ยูโร 111 106
พม่า ดอลลาร์สหรัฐ 123 117
รัสเซีย ดอลลาร์สหรัฐ 124 118
แอฟริกาใต้ ดอลลาร์สหรัฐ 124 118
สเปน ยูโร 107 102
เกาหลีใต้ ดอลลาร์สหรัฐ 140 133
ไต้หวัน ดอลลาร์สหรัฐ 132 126
สหรัฐอเมริกา ดอลลาร์สหรัฐ 124 118
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ดอลลาร์สหรัฐ 124 118

หมายเหตุ สำหรับเส้นทางบินยุโรป อเมริกา ส่วนใหญ่จะมี Duty Time นานหลายสิบชั่วโมง ทำให้ Per Diem ของรูทเหล่านี้สูงมากกว่ารูทอื่นๆ