ถึงยุค “จ้าง” ออก ล็อตแรก 500 คน

ปี 2551 เป็นอีกปีหนึ่งที่การบินไทยเลือกลดต้นทุนด้านพนักงาน หลังปรับโครงสร้างการบริหาร โดย “แขวน” ผู้บริหารบางกลุ่มในบางตำแหน่ง โดยเฉพาะในระดับผู้อำนวยการใหญ่เรื่อยลงมาจนถึงผู้จัดการแผนก ล่าสุดได้เปิดโครงการสมัครใจลาออกก่อนเกษียณหรือเออร์ลี่ รีไทร์ ภายใต้ชื่อ “โครงการร่วมใจจากองค์กร” (Mutual Separation Plan : MSP) หลังจากที่เคยทำมาแล้วเมื่อปี 2545 และ 2548

การจ่ายค่าชดเชยให้พนักงานที่ลาออก จะจ่ายค่าชดเชยให้พนักงานอีกประมาณ 30 เท่าของเงินเดือนในเดือนสุดท้าย และเงินตอบแทนตามกฎหมายแรงงาน เช่น หากได้เงินเดือน 50,000 บาท ทำงานมา 30 ปี จะได้เงินเบื้องต้น 1.5 ล้านบาท และได้อีก 30 เท่า คือ 1.5 ล้านบาท รวมประมาณ 3 ล้านบาทเฉพาะเงินชดเชย

ปี 2545 และปี 2548 การบินไทยได้ทำโครงการ MSP มาแล้ว 2 ครั้ง มีพนักงานสมัครใจออกรวมประมาณ 1,000 คน ในปี 2551 การบินไทยได้เปิดโครงการอีกครั้ง คาดว่าจะมีพนักงานสมัครใจออกกว่า 500 คน ขณะเดียวกันยังไม่มีแผนรับพนักงานใหม่ โดยเฉพาะในส่วนของลูกเรือ แอร์ และสจ๊วต หลังจากลดเที่ยวบิน และยกเลิกบางเส้นทางบินไปแล้ว

สำหรับจำนวนพนักงานของการบินไทย ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2551 มีทั้งสิ้น 27,761 คน คิดเป็นเป็นค่าใช้จ่ายสูงเป็นอันดับ 3 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด รองจากค่าน้ำมัน และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการบิน โดยในปี 2550 การบินไทยมีค่าใช้จ่ายด้านบุคคลากร ทั้งสิ้น 32,634.77 ล้านบาท มากกว่าปี 2549 ประมาณ 2,000 ล้านบาท

เฉพาะเงินเดือนของพนักงานและผู้บริหารการบินไทย แบ่งเป็นหลายระดับ กลุ่มที่ถือว่าได้เงินเดือนสูงสุดคือกลุ่มผู้บริหารระดับสูง และกลุ่มนักบิน เช่น ระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ได้เงินเดือน 142,800-380,000 บาท ระดับผู้อำนวยการ 65,655-159,060 บาท นักบินระดับกัปตันได้เงินเดือนสูงสุด 248,360 บาท ยังไม่รวมเบี้ยเลี้ยง ส่วนตำแหน่งดีดี อยู่ในระดับเกือบ 900,000 บาท

ขณะที่อัตราเงินเดือนของพนักงานการบินไทยระดับล่างบางส่วนเริ่มต้นที่ 7,231 บาท

อย่างไรก็ตาม สิทธิพิเศษของพนักงานการบินไทยที่สำคัญยังคงอยู่ คือบริษัทจ่ายภาษีแทนพนักงาน โดยเฉพาะพนักงานที่อยู่มาตั้งแต่อดีต แม้จะมีความพยายามเปลี่ยนแปลงระบบให้พนักงานจ่ายภาษีเอง แต่ก็ยังไม่สามารถทำได้

อัตราเงินเดือน ต่ำสุด-สูงสุดของโครงสร้างฯ ที่ทำการกำหนดตำแหน่งเป็น Level

ระดับ (Level) อัตราเงินเดือน (บาท) ต่ำสุด สูงสุด
ระดับ 1 7,231 27,637
ระดับ 2 8,904 34,280
ระดับ 3 10,530 40,224
ระดับ 4 11,501 42,570
ระดับ 5 14,917 52,875
ระดับ 6 17,771 61,936
ระดับ 7 21,318 73,203
ผู้จัดการแผนก 27,907 84,684
ผู้จัดการฝ่าย 40,311 108,740
ผู้อำนวยการ 54,352 159,060
กรรมการผู้จัดการ 82,835 248,360
รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ 116,286 380,000
นักบินฝึกหัด 34,169 34,169
นักบินที่ 2 (Co-Pilot) 60,040 138,793
กัปตัน 121190 248,360
ลูกเรือ (แอร์-สจ๊วต –เจ้าหน้าที่ประจำเครื่อง) 10,736 50,000
ที่มา : การบินไทย