คุณคะ! มีค่าธรรมเนียมน้ำมันเพิ่มนะคะ
คุณคะ! บวกค่าโหลดกระเป๋าเพิ่มนะคะ
คุณคะ! ช้อนส้อมพลาสติกนะคะ
คุณคะ! ผ้าห่มทำไมไม่อุ่นเลยล่ะคะ
คุณคะ ๆ ๆ ๆ ๆ อีกมากมาย ที่ผู้โดยสารไม่สะดวกสบายเหมือนเดิมอีกต่อไป ในยุคที่น้ำมันแพง ถ้านั่งการบินไทยก็ถูกชาร์จค่าน้ำมันมันเพิ่มอีกประมาณ 3 พันกว่าบาทถ้าไปต่างประเทศ ส่วนในประเทศก็ยังอยู่ในหลักเกือบพันบาท ถ้านั่งโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ถูกสุดก็เป็นของไทยแอร์เอเชีย ในประเทศประมาณ 600บาท แต่ต้องเสียค่าโหลดกระเป๋าเพิ่ม
นี่คือก่อนขึ้นเครื่อง และเมื่อหย่อนก้นลงบนเบาะ คาดเข็มขัดและเครื่องบินเหินฟ้า พนักงานกลับเสิร์ฟขนม นมเนย หรือแม้แต่น้ำอัดลมน้อยลง ผ้าห่มก็ห่มแล้วยังหนาว อบอุ่นไม่เหมือนเคย
เริ่มต้นจากปัญหาหนักอกข้อแรกอย่างค่าตั๋วที่แพงขึ้น ไม่ใช่เฉพาะสายการบินในประเทศของเราอย่างการบินไทย นกแอร์ หรือไทยแอร์เอเชียเท่านั้นที่ปรับขึ้นค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิงหรือที่เรียกกันว่า Fuel Surcharge อย่างต่อเนื่อง
เดือนเมษายน การบินไทยประกาศปรับเพิ่มค่า Fuel Surcharge สำหรับตั๋วโดยสารเที่ยวบินภายในประเทศ และต่างประเทศ อีกสองเดือนให้หลัง การบินไทยก็ตัดสินใจปรับขึ้นอีกครั้งกับทุกเส้นทางบิน ทำให้ผู้โดยสารที่ออกตัวหลังวันที่ 25 มิถุนายนต้องเสียค่าใช้จ่ายเฉพาะเส้นทางในประเทศเพิ่มขึ้นอีก 200 บาท ไม่นับเส้นทางต่างประเทศ โดยเฉพาะเส้นทางในแถบยุโรปที่ส่งผลให้ค่าตั๋วเพิ่มขึ้นหลายพันบาทต่อการเดินทางหนึ่งครั้ง
ความรับผิดชอบที่ผู้โดยสารพึงต้องกระทำไม่ได้อยู่ที่การมีส่วนร่วมในการจ่ายค่าน้ำมันเครื่องบินเท่านั้น แต่เมื่อไม่นานมานี้ หลายๆ สายการบินเริ่มตระหนักว่าการบรรทุกข้าวของเกินกำลังทำให้เครื่องบินเผาผลาญน้ำมันอย่างสิ้นเปลือง
และนั่นเป็นที่มาของการริเริ่มนโยบายประหยัดน้ำมันเครื่องบิน !!
อีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ การบินไทยจะเปลี่ยนจากการใช้ “ส้อมสเตนเลส” ระหว่างมื้ออาหารบนเที่ยวบินระหว่างประเทศมาเป็น “ส้อมพลาสติก” ซึ่งเคยใช้เฉพาะเที่ยวบินภายในประเทศเท่านั้น โดยมาตรการลดความสะดวกสบายนี้จะเริ่มจากเที่ยวบินในแถบเอเชียก่อนที่จะขยายเส้นทางไปยังประเทศอื่นต่อไป
ก่อนหน้านี้ การบินไทยได้เปลี่ยนชุดหูฟังสำหรับรับความบันเทิงบนเครื่องจากแบบครอบหูมาเป็นแบบเสียบหู ซึ่งไม่เพียงแต่เบา ยังขนาดเล็ก และเก็บง่าย
หรือแม้แต่การลดคุณภาพของผ้าห่มบนเครื่องบิน ที่ผลิตจากจีน และด้อยคุณภาพกว่าผ้าห่มรุ่นก่อนหน้า ซึ่งถึงจะมีสีม่วงเหมือนเดิม แต่ความอบอุ่นที่ได้กลับลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ถ้าไปกับโลว์คอสต์ อย่าง ”ไทยแอร์เอเชีย” ที่นอกจากต้องจองตั๋วเองทางอินเทอร์เน็ตแล้ว เพราะไม่อยากถูกชาร์จ ถ้าโทรไปจองที่คอลเซ็นเตอร์ถูกเก็บเพิ่มอีก 20 บาท ต้องไปแย่งที่นั่ง และดมกลิ่นมาม่าแล้ว “ไทยแอร์เอเชีย” ยังเริ่มเก็บค่ากระเป๋าที่โหลดลงใต้เครื่อง ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา ชิ้นละ 30 บาท หากแจ้งความจำนงล่วงหน้าก่อน 4 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง หรือถ้าไม่ได้แจ้งก่อนต้องจ่าย 50 บาท ด้วยน้ำหนักไม่เกิน 15 กิโลกรัมต่อชิ้น และหากเกินต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของน้ำหนักกระเป๋า
แม้ไทยแอร์เอเชียจะให้เหตุผลในข้อชี้แจงผ่านทางเว็บไซต์ของตนว่า มาตรการใหม่ของสายการบินดังกล่าวว่า ค่าใช้จ่ายในการฝากสัมภาระลงใต้ท้องเครื่องถูกรวมอยู่ในค่าโดยสารโดยอัตโนมัติ ซึ่งหมายความว่าผู้โดยสารอื่นๆ ที่เดินทางโดยถือสัมภาระขึ้นเครื่องตามปกติต้องแบกรับภาระนี้ด้วย
แต่เมื่อพิจารณาแล้ว ก็ไม่ยากเย็นนักที่จะสรุปได้ว่า นี่คือทางออกของสายการบินต้นทุนต่ำในยุคที่ต้องแก้ไขสถานการณ์ต้นทุนน้ำมันที่สูงขึ้นด้วย และเป็นทางที่ดีที่จะผลักภาระให้กับผู้โดยสารต้องรับผิดชอบร่วมกันด้วยในท้ายที่สุด
เช่นเดียวกันกับสายการบินแควนตัส สายการบินแห่งชาติของออสเตรเลีย ออกมาตรการเข้มงวดสำหรับน้ำหนักกระเป๋าของผู้โดยสาร โดยระบุเอาไว้อย่างชัดเจน ทั้งขนาดของกระเป๋า ที่ต้องไม่เกิน 7 กิโลกรัมในการพกพาขึ้นเครื่องบินทั้งเส้นทางในประเทศและเส้นทางระหว่างประเทศ ทุกระดับชั้นของตั๋วโดยสาร
ขณะที่เส้นทางบินระหว่างประเทศนั้น กำหนดน้ำหนักกระเป๋าแตกต่างกันตามระดับชั้นของตั๋วโดยสาร แบ่งแยกแม้กระทั่งสัมภาระของทารกที่ต้องไม่เกิน 10 กิโลกรัม ขณะที่น้ำหนักของกระเป๋าของตั๋วโดยสารชั้นประหยัดอยู่เพียง 20 กิโลกรัมเท่านั้น และเมื่อเกินก็แทบจะไม่มีการผ่อนปรนกันเลยแม้แต่น้อย
ความเปลี่ยนแปลงที่ทุกสายการบินต้องพยายามดิ้นรถเพื่อความอยู่รอด และผู้โดยสารต้องทำใจ ซึ่งไม่รู้ว่าในอนาคตต้องจ่ายอะไรเพิ่มอีกบ้าง ยุคนี้ใครๆ จะบินได้ แต่คุณคะ! ต้องยอมรับว่าจะต้องจ่ายแพงกว่าและไม่สบายเหมือนเดิมอีกต่อไป