โศกนาฏกรรมการบินทั่วโลก ไม่อยากตายต้องปรับตัว

วินาศกรรม 9/11 ปี 2001 ทำให้ธุรกิจการบินตกต่ำเพราะคนไม่กล้านั่งเครื่องบิน แต่เป็นภาวะความไม่เชื่อมั่นแค่ช่วงเวลาเดียว แต่วิกฤตน้ำมันแพงขณะนี้กลับทำให้สายการบินตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ยิ่งกว่า เพราะต้นทุนที่แพงขึ้นอย่างสาหัสได้ส่งผลกระทบกระจายเป็นวงกว้างต่อธุรกิจการบินทั่วโลก เข้าขั้น “อ่วม” “ทรุด” และ “เจ๊ง” กันระนาว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนสายการบินขอ “หยุดบิน” มากขึ้นเรื่อยๆ หากราคาน้ำมันยังพุ่งทะยานไม่หยุด

สัญญาณอันตรายเริ่มต้นตั้งแต่ราคาน้ำมันพุ่งสูง 100 เหรียญต่อบาร์เรลเมื่อต้นปี ทำให้สายการบินที่มีปัญหาสะสม และ “อ่อนแอ” ภายใน ยอม “สละเรือบิน” กันแต่เนิ่นๆ ที่เผชิญวิกฤตหนักกว่าใคร คือแอร์ไลน์ขนาดเล็กเพราะกำไรน้อยอยู่แล้ว ทั้งยังมีสายป่านสั้นกว่า หลายแบรนด์ล้มละลายเลิกบินไปแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เช่น Aloha, ATA, Skybus, Eos, Silverjet, Maxjet รวมทั้ง Champion Air

ในยุโรปมีรายชื่อกว่า 50 สายการบินที่กำลังจมดิ่งกับปัญหาขาดสภาพคล่อง เช่น SAS (สแกนดิเนเวีย), Alitalia (อิตาลี), Olympic (กรีซ), Malev (ฮังการี) และLot (โปแลนด์) ส่วนในอเมริกาที่เศรษฐกิจย่ำแย่อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว สองสายการบินยักษ์ใหญ่ Delta และ American Airlines ขายทุนรวมกันไปแล้ว 9.2 พันล้านเหรียญเพียงแค่ระยะ 6 เดือนนับจากต้นปี

เมื่อ “น้ำมัน” เป็นต้นทุนหลักอย่างน้อย 50% ของเที่ยวบิน สายการบินที่ยังคงฟันฝ่าไปได้ มักมีความเชี่ยวชาญด้าน “Hedge” น้ำมัน เช่น Southwest, Jet Blue และ Airtran Airlines นอกเหนือไปจากวิธีการลดต้นทุนและเพิ่มรายได้อื่นๆ ที่ทุกคนต้องดิ้นรนทำกันอยู่แล้ว (อ่านรายละเอียดของสายการบิน Southwest เพิ่มเติมในล้อมกรอบ)

เพื่อลดต้นทุนน้ำมัน การ “หั่นเส้นทางบิน” นับเป็นตัวเลือกแรก เช่นในเอเชีย China Airlines ยักษ์ใหญ่ไต้หวัน ต้องหั่นเที่ยวบินอย่างน้อย 10% โดยเฉพาะเส้นทางระหว่างเอเชียและอเมริกา

การแก้ปัญหาต่อไปตามติดด้วยการ “ปลดพนักงาน” ซึ่งนับเป็นห้วงยามวิกฤตของคนที่มีอาชีพการบินทั่วโลกโดยแท้ เช่น Midwest Airlines ลดพนักงานลง 40% ส่วน United Airlines ก็จะปลดพนักงานมากถึง 7 พันคน หลังจากขาดทุนไปเกือบ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น

เลิกเอาใจลูกค้าเสียที นาทีนี้ขอ “ชาร์จ” ทุกทาง

เพื่อทำตัวเบามากที่สุด สายการบินยุคนี้ต้องปรับตัว “คิดเงินเพิ่ม” ทุกความฟุ่มเฟือย เช่น American Airlines ยังต้องนำกลยุทธ์ “โลว์คอสต์” มาปรับใช้ เช่น คิดเงินผู้โดยสารชั้นประหยัด (Economy Class) เพิ่ม 15 เหรียญสำหรับค่ากระเป๋าใบแรกที่โหลดใต้เครื่อง

ด้านสายการบินโลว์คอสต์ก็สรรหาวิธี “ลดต้นทุน” มาเป็น “รายได้” เพิ่มมากขึ้น เช่น JetBlue คิดค่าผ้าห่มและหมอนสำหรับเที่ยวบินระยะไกล ส่วน Spirit Airlines ชาร์จลูกค้าที่ต้องการที่นั่งตามใจชอบ เช่น จ่ายเพิ่ม $10 สำหรับที่นั่งข้างหน้าต่างและติดทางเดิน (อ่านรายละเอียดเพิ่มในล้อมกรอบ)

เปิดศึกน่านฟ้าใหม่เพิ่มรายได้

ทางรอดอื่นๆ ที่สายการบินต้องวิ่งเข้าใส่ยามนี้ก็คือปรับเปลี่ยนเส้นทางบิน และหาลู่ทางการบินใหม่ๆ เช่น เจาะตลาดที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่าง จีน อินเดีย ทำให้หลายแอร์ไลน์เดินเกมรุกประกาศเพิ่มเส้นทางบินในประเทศเหล่านี้ เช่น Singapore Airlnes, China Eastern Airlines, Malaysia Airlines และ Gulf Air เป็นต้น ซึ่งบางรายก็ใช้ “แบรนด์โลว์คอสต์” ของตนเข้าแข่งขันแย่งลูกค้า เช่น Korean Air มี Air Korea เป็นตัวแทน ส่วน Asiana ก็มี Air Pusan นอกจากนี้ยังมีสายการบินโลว์คอสต์ท้องถิ่นที่อัพเกรดตัวเองสู่ตลาดโลก เช่นแอร์ไลน์เกาหลี Jeju และ Hansung และ ThaiAirAsia

สายการบินบ่อน้ำมัน เตรียมฮุบธุรกิจการบิน

ผู้ที่ได้รับอานิสงส์เต็มๆ คือสายการบินในดินแดนบ่อน้ำมัน เพราะซื้อน้ำมันได้ถูก ทำให้ประกาศขยายเส้นทางบิน เช่น Etihad, Emirates และ Saudi Arabian เพิ่งซื้อเครื่องบินเพิ่ม รวมไปถึง FlyDubai สายการบินต้นทุนต่ำเพิ่งเกิดได้ไม่นานของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็ซื้อเครื่องบิน 737-800 รวดเดียว 50 ลำ มูลค่า 3.74 พันล้าน ขณะเดียวกันสายการบินแถบยุโรปก็พยายามปรับตัวสู้ เช่น British Airways กำลังจะรวมตัวกับสายการบิน Iberia แห่งสเปน เพื่อสร้างเครือข่ายเข้มแข็ง เป็นต้น

ธุรกิจการบินช่วงเวลานี้จึงไม่อาจหลีกเลี่ยง “การคัดสรรพันธุกรรมของกฎธรรมชาติ” สายการบินต้องปรับตัวพร้อมเอาตัวรอดทุกวิถีทาง เพราะผู้ที่เข้มแข็งเท่านั้นจึงจะดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้

Timeline 2551 ปีแห่งการถอดใจของสายการบินทั่วโลก

28 กรกฎาคม 2551
สายการบิน SkyEurope ของประเทศสโลวัก (Slovak) ประกาศลดเส้นทางบินเพราะปัญหาราคาน้ำมันพุ่งสูง โดยลดลง 6 เส้นทางทั้งภายในและนอกประเทศจากทั้งหมด 41 เส้นทาง

18 กรกฎาคม 2551
Qantas Airlines แห่งออสเตรเลีย ปลดพนักงาน 1,500 คน หรือ 4 % จากทั้งหมด 36,000 คน และกำลังพิจารณาลดเส้นทางบินเพิ่ม

16 กรกฎาคม 2551
SpainAir แห่งสเปน ปลดพนักงาน 1,100 คน และจอดพักเครื่องบิน 15 ลำจากทั้งหมด 60 ลำ เพื่อลดค่าใช้จ่ายลง 144 ล้านเหรียญสหรัฐ จากนี้ไปสิ้นปีหน้า (2552)

11 กรกฎาคม 2551
United Airlines ประกาศปลดพนักงาน 400 คน จากก่อนหน้านี้ปลดนักบิน 950 คน แอร์โฮสเตส 600 คน และพนักงานอื่นๆ 1,500 คน ซึ่งในปีนี้ปลดไปแล้วทั้งสิ้นเกือบ 3,500 คน

10 กรกฎาคม 2551
Northwest Airlines ปลดพนักงาน 2,500 คน หรือ 8.3% ของพนักงานทั้งหมด 30,000 คน และขึ้นราคาค่าสัมภาระ 15 – 100 เหรียญสหรัฐ ตามน้ำหนัก ช่วยเพิ่มรายได้ 250 – 300 ล้านเหรียญสหรัฐ

9 กรกฎาคม 2551
Northwest Airlines ปลดทั้งพนักงานและผู้บริหารลง 2,500 คน คิดเป็น 8% ของพนักงานทั้งหมด 31,000 คน

3 กรกฎาคม 2551
สายการบิน Delta ของอเมริกาประกาศลดเที่ยวบิน 3% จากที่ต้นปีประกาศลดไปแล้ว 10%

2 กรกฎาคม 2551
American Airlines ยกเลิกพันกว่าเที่ยวบินและลดพนักงาน 6,800 คน หรือ 8% ของทั้งหมด 85,500 คน

17 มิถุนายน 2551
Air Canada ซึ่งใหญ่ที่สุดในแคนาดา ปลดพนักงาน 2,000 คน หรือ 7% จากทั้งหมด 28,000 คน

12 มิถุนายน 2551
สายการบิน US Airways ปลดคนงาน 1,700 คน คิดเป็นร้อยละ 5 ของทั้งหมด

7 มิถุนายน 2551
สายการบิน China Airlines ของไต้หวัน ประกาศลดเที่ยวบิน (Cut Flights) ลง 10% แบ่งเป็น 100 เที่ยวบินโดยสาร และ 50 เที่ยวบินขนส่งสินค้า

5 มิถุนายน 2551
Continental Airlines ประกาศปลดพนักงาน 3,000 คน คิดเป็น 6.5% ของทั้งหมด 45,000 คน

5 พฤษภาคม 2551
SkyBus สายการบินต้นทุนต่ำของอเมริกา “เจ๊ง” ทั้งๆ ที่เพิ่งบินปีที่แล้ว ขายที่นั่งได้ 69% ต่อเที่ยว

3 พฤษภาคม 2551
สายการบิน ATA ของอเมริกาประกาศหยุดบินทุกเส้นทาง หลังจากเสียลูกค้าองค์กรที่เป็นทหาร ซึ่งเป็นรายได้หลัก

31 มีนาคม 2551
สายการบิน Aloha หยุดบินถาวรหลังจากบินเหนือน่านน้ำแปซิฟิกมากว่า 60 ปี

สารพันวิธี “รีดไขมัน” เพิ่ม “รายได้” ของสายการบินยุคน้ำมันแพง
•ลดพนักงาน
•ลดเส้นทางบิน
•คิดค่าสัมภาระที่น้ำหนักเกินกำหนด รวมทั้งขึ้นราคาสัมภาระที่โหลดลงใต้เครื่อง เช่น ไทยแอร์เอเชียคิดเงินเพิ่ม 30 – 50 บาท
•คิดค่ากระเป๋า “ใบแรก” โหลดลงใต้เครื่อง เช่น ผู้โดยสารจ่าย United Airlines ต้องจ่ายเพิ่ม 15 เหรียญ ตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้
•ค่าค่ากระเป๋า “ใบที่สอง” โหลดลงใต้เครื่อง พบได้ทั่วไปตามสายการบินโลว์คอสต์ เช่น JetBlue ผู้โดยสารต้องจ่ายเพิ่ม 15 เหรียญ
•บางสายการบินใช้วิธีย้ายลูกเรือน้ำหนักมากให้ไปทำงานภาคพื้นดินกันแล้ว เช่น Air India
•คิดเงินค่าจองที่นั่ง เช่น Spirit Airlines ชาร์จเพิ่ม $5 สำหรับที่นั่งตรงกลาง, $10 สำหรับเก้าอี้ข้างหน้าต่างและติดทางเดิน, $15 สำหรับที่นั่งแถวทางออกฉุกเฉิน ซึ่งหลายสายการบินต้นทุนต่ำก็เริ่มเอาอย่าง
•คิดค่าหมอนและผ้าห่ม เช่น สายการบิน JetBlue ชาร์จเพิ่ม 7 เหรียญ หากผู้โดยสารไม่ต้องการจ่ายก็ให้นำหมอนและผ้าห่มติดตัวมาเอง เริ่มตั้งแต่สิงหาคม 2551
•บินด้วยน้ำมันไบโอดีเซล ที่ได้ทั้งประหยัดต้นทุนพลังงานและเข้ากระแส “กรีน” เช่น Virgin Atlantic เป็นเจ้าแรกที่ทดลองเครื่องโบอิ้ง 747 เส้นทาง London และ Amsterdam เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่วน Japan, ANZ และ Continental Airlines กำลังจะตามมา
•ประหยัดพลังงานด้วยวิธีการด้านเทคนิค เช่น AirAsia ล้างเครื่องบินบ่อยขึ้น ลดแรงเสียดทาน หรือปรับความเร็วช่วงก่อนบินขึ้น ไม่เร่งเครื่องตอนบินลง เป็นต้น

Southwest Airlines นัก “Hedge” มือฉมังแห่งอเมริกา

บนซากปรักหักพังของผู้อ่อนแรง สายการบินที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันน้อยมากคือ Southwest Airlines เพราะมีแผนซื้อ-ขายน้ำมันล่วงหน้าระยะยาว หรือ “Hedge” ที่ช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงมหาศาล และสร้างกำไรจากการขายที่ราคาตลาด

ปีที่ผ่านมา Southwest “Hedge” น้ำมันประมาณ 90% ที่ราคาขาย 51 เหรียญต่อบาร์เรล แต่นำมาขายต่อที่ราคาตลาด 135 เหรียญ ซึ่งGary Kelly ซีอีโอของ Southwest บอกกับหนังสือพิมพ์ Chicago Tribune ด้วยความภูมิใจว่า “การ Hedge มีมูลค่าสูงถึง 5 พันล้านเหรียญ ทำให้มีเงินสดเก็บ 4 พันล้านเหรียญ” มาปีนี้ลดปริมาณ “Hedge” ลงเล็กน้อยคือ 80% ที่ราคา 49 เหรียญโดยมีแนวโน้มลดสัดส่วนการ Hedge แต่เพิ่มราคาขึ้นเรื่อยๆ เช่น ซื้อน้ำมันล่วงหน้า 40% และ 20% ในปี 2010 และ 2011 ที่ราคา 63 และ 64 เหรียญตามลำดับ เพราะเชื่อว่าราคาน้ำมันจะลดลงและมีพลังงานทางเลือกอื่นให้พิจารณา ซึ่ง Southwest ใช้เครื่องบินรุ่นเดียวเท่านั้น คือโบอิ้ง 737

ด้วยข้อได้เปรียบนี้ทำให้ Southwest เปิดเกมรุกยามคู่แข่งกำลังเพลี่ยงพล้ำ เช่น บุกตลาด Danver ขณะที่เจ้าตลาดอย่างคู่แข่งยักษ์ใหญ่ United และ Frontier กำลังลดเที่ยวบิน อย่างไรก็ดี Southwest กลับบอกว่าตั้งเป้าบุกตลาดต่างแดนมากกว่า เพื่อให้ครอบคลุมตลาดแคนาดา เม็กซิโก และยังหมายถึงยุโรปและเอเชียในอนาคตอีกด้วย