เวทีพันธมิตรฯ ชีพจรที่ไม่เคยหยุดเต้น

เวทีพันธมิตรฯ ไม่ต่างอะไรกับเวทีของอะคาเดมี่ แฟนเทเชีย ที่ต้องอาศัยพลังของแกนนำ พิธีกร วิทยากร ข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ บวกกับบรรยากาศที่ดึงดูดผู้มาร่วมชุมนุมให้อยู่ร่วมมากที่สุด และที่สำคัญ คือ การบริหารจัดการของเวที กรณีศึกษาที่น่าติดตาม

ชีพจรของเวทีพันธมิตรฯไม่เคยหยุดนิ่ง ตลอด 24 ชั่วโมง เวทีแห่งนี้โลดแล่นไปด้วยข้อมูล ข่าวสาร จากแกนนำ วิทยากร ศิลปิน ให้กับผู้ชุมนุมในม็อบ และผู้ชมเอเอสทีวี ได้ติดตามตลอด 24 ชั่วโมง

ถ้าใครที่เคยไปเวทีพันธมิตรฯ คงได้รับรู้ว่า ความคึกคักของเวทีพันธมิตรฯ จะเริ่มขึ้นช่วงเวลาตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึงเที่ยงคืน ซึ่งถือเป็นช่วงเวลา “ไพรม์ไทม์” ของการชุมนุมครั้งนี้ เพราะเป็นช่วงเลิกงาน ยิ่งในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ถือเป็นช่วงไฮไลต์ ที่ผู้มาชุมนุมหนาแน่นเป็นพิเศษ

ถ้าเปรียบเป็นไพรม์ไทม์ของทีวีแล้ว เป็นช่วงที่ต้องมีการบริหารจัดการบนเวทีอย่างมีประสิทธิภาพ ดึงดูดผู้มาชุมนุมให้ได้มากที่สุด
รูปแบบการดำเนินรายการบนเวทีพันธมิตรฯ ในช่วง 6 โมงเย็นจนถึงเที่ยงคืน แบ่งมาจาก 3 ส่วนหลักๆ โดยมีแกนนำทั้ง 5 คนเป็นตัวยืน สลับด้วยวิทยากรจากภายนอก วงดนตรี และศิลปินนักร้อง ดารารุ่นใหญ่

นอกจากแกนนำทั้ง 5 คน ที่จะมาเปิดประเด็นข้อมูลข่าวสารระดับลึก ตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลของรัฐบาล ให้ข้อมูลแก่นผู้เข้าร่วมชุมนุมอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการเปิดประเด็นใหม่ๆ ขึ้นตลอดเวลา

วิทยากรจากภายนอก จะเลือกผู้ที่มีจุดยืนเดียวกันกับผู้ชุมนุม โดยจะต้องผู้ที่มีความรู้และมีข้อมูลระดับลึก ยิ่งใครมีลีลาการพูดดุเด็ดเผ็ดมัน ก็ยิ่งได้เปรียบ เพราะจะดึงดูดให้กับผู้เข้าชุมนุมได้มากขึ้น เช่น เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เจ้าของรายการประเทศไทยวันนี้ หรือ ศ.ดร.ภูวดล ทองประเสริฐ

“มีคนติดต่อขอขึ้นเวทีพูดอยู่เรื่อยๆ แต่เราจะเลือกจากคนที่มีจุดยืนเดียวกัน มีอุดมการณ์เดียวกัน มีการรับรองมาจากคนรู้จัก ถ้าบางคนไม่ใช่ หรือตรวจสอบไม่ได้ เราก็ต้องขอโทษเขา เขาก็เข้าใจ” ทีมงานผู้ประสานงานเวทีพันธมิตรเล่าให้ฟัง

อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ พิธีกรในช่วงไพรม์ไทม์ จะเป็นหน้าที่แอ้ม สโรชา พรอุดมศักดิ์ ซึ่งเป็นพิธีกรคู่กับสนธิ ลิ้มทองกุล มาตั้งแต่จัดร่วมจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 การชุมนุมในปี 2549 จนมาถึงเวทีนี้ และแอน จินดารัตน์ เป็นพิธีกรสาวมือเก๋าเกมส์ มาเป็นผู้ดำเนินรายการ

เวทีตั้งแต่ 6 โมงเย็นจะเริ่มต้นด้วยวิทยากรจากภายนอกขึ้นอภิปราย สลับกับวงดนตรี จนถึงช่วงเวลาประมาณ 3 ทุ่ม หลังจากเสียงเพลงเทียนแห่งธรรมจบลง หากใครเป็นแฟนประจำของเวทีพันธมิตรจะรู้ทันทีว่าเป็นช่วงเวลาของแกนนำทั้ง 5 พลตรีจำลอง ศรีเมือง สมศักดิ์ โกศัยสุข พิภพ ธงไชย สนธิ ลิ้มทองกุล สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์

การจัดคิวแกนนำในช่วงนี้ จะเริ่มจาก พลตรีจำลอง ศรีเมือง หรือ ลุงจำลอง จะเป็นแกนนำคนแรกที่ขึ้นบนเวที เรียกว่าเป็นการอุ่นเครื่อง ด้วยข่าวคราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมือง การแจ้งข่าวภายในม็อบ การขอความรวมมือต่างๆ จากนั้นจะสลับด้วยวงดนตรีและศิลปิน ตามมาด้วยแกนนำคนอื่นๆ สลับกันมา ก่อนจะปิดท้ายด้วย สนธิ ลิ้มทองกุล ถือเป็นแกนนำระดับแม่เหล็ก จะขึ้นเวทีในช่วง 4-5 ทุ่ม เพื่อดึงดูดให้ผู้ชมให้อยู่นานที่สุด

วงดนตรีเพื่อชีวิตและศิลปินนักร้อง นักแสดง จะสร้างสีสันและบรรยากาศให้ผ่อนคลาย จนกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำเวที จะสลับขึ้นเวทีหลังจากแกนนำแต่ละคนพูดจบ เฉลี่ยทุก 1 ชั่วโมงไปตลอดทั้งคืน โดยมีเครือข่ายศิลปินเพื่อชีวิต วสันต์ สิทธิเขตต์ เป็นผู้ประสานงาน
“การมีศิลปินนักร้องมา ถือว่าจำเป็น เพราะทำให้บรรยากาศผ่อนคลาย ให้ผู้ชุมนุมออกมาขยับแข้ง ขยับขา คลายความเมื่อยล้า” ทีมงานคนเดิมบอก

ช่วงเวลา 6 โมงเย็นถึงเที่ยงคืน ถือว่าเป็นช่วงไพรม์ไทม์ จะเป็นวงดนตรีรุ่นใหญ่ที่มีชื่อเสียง เช่น วงซูซู แฮมเมอร์ ตั้ว-ศรัณยู วงศ์กระจ่าง หรั่ง ร็อกเครสตร้า อ๊อด วงคีรีบูน คณาคำ อภิรดี ที่ถือเป็นศิลปินระดับแม่เหล็ก

หลังจากเที่ยงคืนเป็นต้นไป บรรยากาศในบริเวณที่ชุมนุมจะเริ่มเบาลง ผู้คนเริ่มทยอยกลับบ้าน แต่ชีวิตบนเวทีพันธมิตรก็ยังมิได้หลับใหล ผู้ดำเนินรายการ วิทยากร และวงดนตรีเพื่อชีวิต อีกกลุ่มหนึ่งก็ยังคงทำหน้าที่ต่อไป เพื่อรองรับกับคนดูในอีกฟากหนึ่งของโลก บรรดาแฟนคลับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ที่ติดตามรายการ ASTV ที่ถ่ายทอดสัญญาณผ่านดาวเทียม ไปยังประเทศต่างๆ
“หลังเที่ยงคืน จะเป็นช่วงที่คนไทยในอเมริกาตื่นขึ้นมาดู วิทยากรในช่วงนี้จะเป็นคนหนุ่มหน่มๆ ที่ไม่มีภาระในช่วงกลางวัน” ทีมงานเล่า

ในอีกด้านหนึ่ง ขณะที่เวทีพันธมิตรจากส่วนกลางยังคงเดินหน้าต่อไป เวทีพันธมิตรในต่างต่างจังหวัดก็เริ่มขึ้น โดยเริ่มต้นจากการรวมกลุ่มเพื่อชมรายการเอเอสทีวีร่วมกัน ต่อมาพัฒนามาเป็นการจัดเวที เชิญวิทยากรจากส่วนกลางมาพูด จนกลายเป็นเครือข่ายพันธมิตรที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เป็นพลังที่สำคัญของเวทีพันธมิตรที่มองข้ามไม่ได้

“เราให้เขาติดต่อกับพิธีกรเอง ตอนนี้เกือบทุกจังหวัดแล้ว บางเวลาเขาเริ่มตั้งจอโปรเจกเตอร์ถ่ายทอดเรา จากนั้นจัดเวที เชิญวิทยากรจากส่วนกลางมาพูด ซึ่งเราก็แล้วแต่ความสมัครใจ แต่สำหรับ 5 แกนนำ ถ้าเดินทางไปกลับวันเดียว ก็โอเค เพราะต้องกลับมา”
ต้องยอมรับว่าแรงดึงดูดที่ทำให้เวทีพันธมิตรยังคงมีเสน่ห์ น่าติดตาม คาดเดาได้ยาก ส่วนหนึ่งมาจากความร้อนแรงของ “ข้อมูล” ระดับวงใน จากวิทยากร และแกนนำ ที่เข้าไปอยู่ในตำแหน่งสำคัญทางการเมือง ในองค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล ทำให้ข้อมูลระดับลึกถูกเปิดเผยอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นกรณีใหญ่ เช่น เขาพระวิหาร ที่เป็นประเด็นใหญ่ ที่ทำให้ไทยเกือบต้องเสียดินแดน

ม็อบดาวกระจาย ถือเป็นอีกไฮไลต์ของการม็อบพันธมิตรฯ ที่เป็นกลไกหนึ่งของการบริหารจัดการ เพื่อให้ม็อบมีการเคลื่อนไหวบ้าง ไม่ให้รู้สึกว่านิ่งเกินไป จึงต้องมีการเคลื่อนทัพของผู้ชุมนุมออกนอกสถานที่

ถ้าเป็นอีเวนต์ เรียกว่า เป็นการสร้างอีเวนต์ในระดับที่เรียกความสนใจได้อย่างมีพลัง ถ้าเป็นสินค้า ก็ต้องมีการจัดอีเวนต์เป็นระยะ เพื่อให้มีข่าวปรากฏต่อเนื่อง

ม็อบดาวกระจาย เป็นกลยุทธ์ที่กลุ่มพันธมิตรฯ เคยใช้มาแล้วตั้งแต่การชุมนุมในปี 2549 และนำมาใช้เป็นระยะ ตามสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป เช่น การไปเคลื่อนม็อบไปยังอัยการสูงสุด และ ก.ล.ต. การเคลื่อนม็อบไปยัง ปตท.

เงื่อนไขหลักของกลยุทธ์ดาวกระจายอยู่ที่การควบคุมผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นเรื่องประสบการณ์ที่กลุ่มพันธมิตรเคยพิสูจน์มาแล้วในการเคลื่อนม็อบเมื่อปี 49 โดยไม่มีการปะทะ หรือต้องเสียเลือดเนื้อ

แม้ว่า 24 ชั่วโมงของแต่ละวันจะสิ้นสุดลง แต่วงจรชีวิตของเวทีพันธมิตรฯไม่เคยหยุดหมุน เหมือนกับเอเอสทีวี ที่ยังคงทำหน้าที่ถ่ายทอดรายการต่อไป ตราบใดที่ข้อเรียกร้องยังไม่บรรลุผล

“ไม่มีใครบอกได้ว่า การชุมนุมจะยุติลงเมื่อใด ตราบใดที่ปัญหาการโกงกินชาติ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อฟอกผิดให้กับระบอบทักษิณยังคงมีความพยายามจากรัฐบาล ภาระหน้าที่ของกลุ่มพันธมิตรฯ และเอเอสทีวีก็ยังเดินหน้าต่อไป” เป็นคำสะท้อนของทีมงาน ที่บอกถึงการสิ้นสุดก็ต่อเมื่อข้อเรียกร้องเหล่านี้บรรลุ