ตั้ว-ศรัณยู วงศ์กระจ่าง เอนเตอร์เทนเนอร์กู้ชาติ

“ดู๊ ดู ดู เธอทำ ทำไม (ท๊ากษิณ) ถึงไมถึงทำกับฉันได้” เสียงเพลงคุ้นหูของตั้ว-ศรัณยู วงศ์กระจ่าง ดังกระหึ่มไปทั่วบริเวณชุมนุม เป็นเพลงดัดแปลงที่นำมาจากเพลง “ดูเธอทำ” ของ จ็อบ บรรจบ ได้กลายเป็นหนึ่งในเพลงประจำเวทีพันธมิตรฯ ที่สามารถเรียกให้ผู้ชุมนุมลุกขึ้นขยับแข้งขยับขา คลายความเมื่อยล้าจากการชุมนุมร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯ ในการกู้ชาติครั้งนี้ได้อย่างเห็นผล

ในฐานะของดาราเจ้าบทบาท ตั้ว-ศรัณยูไม่เพียงคุ้นหน้าคุ้นตาอยู่กับผู้ชมบนหน้าจอโทรทัศน์ หรือบนละครเวที ในวันนี้เขายังเป็นที่คุ้นเคยของเหล่าผู้เข้ามาร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ ในฐานะของศิลปินกู้ชาติ กับการขับขานบทเพลง สร้างความครึกครื้นและผ่อนคลายให้แก่ผู้ชุมนุมทุกค่ำคืน เรียกว่าถ้าขาดไปวันไหน แฟนๆ จะถามหาทันที

ศรัณยู เข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯ มาตั้งแต่การชุมนุมขับไล่รัฐบาลทักษิณครั้งแรกในปี 2549 ครั้งนั้นเขาก็เหมือนอีกหลายคนที่พบว่าสื่อที่มีอยู่ไม่ได้ให้ข้อมูลครบถ้วน โดยเฉพาะกับปัญหา ความไม่ชอบมาพากลของผู้นำประเทศ เวทีพันธมิตรฯ จึงเป็นทางออกที่ทำให้เขาได้รับรู้ข้อเท็จจริง

“ผมไปร่วมชุมนุมในฐานะของประชาชนคนหนึ่งเท่านั้น ตอนนั้นคนไทยทั้งประเทศรับรู้ว่าทักษิณร่ำรวย ไม่ต้องจ่ายภาษี แต่ไม่สามารถหาอ่านได้จากสื่อไหน มันทำให้เราอยากรู้ว่าความจริงมันเป็นยังไง เสร็จงานก็แวะมาชุมนุมตั้งแต่ที่สนามหลวง ลานพระบรมรูปทรงม้า ก็ได้รายละเอียดว่า การทุจริตครั้งนั้นมันทับซ้อน เขาโกงกินบ้านเมืองกันยังไง ซึ่งยากมากที่จะรู้จากสื่อทั่วไป”

เมื่อการร่วมชุมนุมนานวันเข้า เขาได้เห็นความเหนื่อยล้า ความหวั่นวิตกว่าผู้ร่วมชุมนุมจะเกิดความท้อแท้ ในขณะที่รัฐบาลกลับไม่ทำอะไรเลย

“ช่วงนั้นมีนักข่าวมาขอสัมภาษณ์ พิธีกรบนเวทีก็พูดถึงผมอยู่ 2-3 ครั้ง พี่ที่อยู่ข้างหลังเวทีก็มาบอกให้ช่วยขึ้นบนเวทีหน่อย ผมก็บอกเขาว่าเราไม่ใช่คนอภิปราย มาฟังเหมือนประชาชนทั่วไป พอดีว่าพิธีกรบนเวทีเขาพูดมาประโยคหนึ่ง ว่า อย่างน้อยคุณก็มาให้กำลังใจกันหน่อย เราก็เลยมาคิดว่า การที่เราทำงานตรงนี้ ก็น่าจะขึ้นไปบอกว่า สู้ต่อนะครับ ผมอยู่ตรงนี้ด้วยคน ก็เลยทำให้ผมตัดสินใจขึ้นเวทีเป็นครั้งแรก”

การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ในปี 2549 เป็นจุดเริ่มต้นในการก้าวขึ้นเวที ด้วยบทเพลงจากละครเวที “สู่ฝันอันยิ่งใหญ่” ซึ่งเป็นเพลงแรกที่เขาใช้ประเดิมขึ้นบนเวทีเป็นครั้งแรก

จากนั้นก็ขึ้นเวทีเรื่อยมา จนเมื่อเกิดรัฐประหาร การชุมนุมของพันธมิตรฯ ยุติลง เขาก็กลับไปทำงานด้านบันเทิง ถ่ายหนัง ทำละคร เหมือนกับผู้เข้าชุมนุมคนอื่นๆ จนเมื่อการชุมนุมของพันธมิตรฯ ขับไล่รัฐบาลนอมินี เขากระโดดเข้าร่วมกับเวทีพันธมิตรฯ ทันทีที่มีการรวมตัวจัดงานยามเฝ้าแผ่นดินภาคพิเศษ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“เราผ่านส่วนที่เข้าใจยากมาแล้ว ครั้งนี้เขายักย้ายถ่ายเทภาษี ทักษิณกลับไปชักใยอยู่เบื้องหลังรัฐบาลมันเห็นง่ายมาก เรารู้สึกโอ้โห ทำไมถึงกันแบบ พอมีคนโทรมาตาม ผมก็ยินดีเข้าร่วมเลย

เขาเชื่อว่า อย่างน้อยบทเพลงเหล่านี้ก็น่าจะเป็นกำลังใจให้ผู้ชุมนุมได้ ยิ่งผู้ชุมนุมน้อย พลังในการต่อสู้ที่จะส่งเสียงไปยังคนเหล่านี้ที่ทำผิดก็ยิ่งน้อย และยิ่งการต่อสู้ยาวนาน ความเหนื่อยล้า การให้กำลังใจก็ยิ่งเป็นเรื่องจำเป็น

ด้วยอุดมการณ์และความคิดเพื่อชาติ และการต้องการมาเป็นกำลังใจให้กับการชุมนุมของ ศรัณยูจึงกลายเป็นหนึ่งในศิลปินตัวยืนที่มายืนบนเวทีพันธมิตรฯ เป็นประจำทุกค่ำคืน โดยใช้บทเพลงมากำลังใจให้กับผู้ชุมนุม ซึ่งหลักในการเลือกเพลงของเขานั้น จะต้องเชื่อมโยงความรู้สึกสู่ผู้ชุมนุมให้ได้มากที่สุด

“บางวันคนข้างล่างมีความฮึกเหิมในเรื่องอะไร เราก็ต้องนำเรื่องนั้นมาใช้ ตอนแรกๆ ใช้วิธีแปลงเพลงคนอื่น ใส่เนื้อไปตามสถานการณ์ เพื่อที่ว่าคนข้างล่างเขาจะร้องตามได้ ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงระหว่างคนบนเวที กับผู้ชมด้านล่าง แต่ชุมนุมนานมา 30 กว่าวัน จะไปแปลงเพลงคนอื่น มันก็ไม่ไหวแล้ว เลยเปลี่ยนรูปแบบ”

บทเพลงแต่ละวันจึงเปลี่ยนไปตามความรู้สึกของผู้ชุมนุม บางวันอาจเป็นเพลงแปลงสนุกสนานที่คุ้นหู บางช่วงเป็นเพลงปลุกใจเก่าๆ หรือบางวันหากผู้ชุมนุมเศร้าสร้อย หรือท้อแท้ เขาจะเปลี่ยนเป็นแนวเพลงถ่ายทอดเรื่องกำลังใจ

“ตอนแรกเป็นกีตาร์ตัวเดียว เล่นผิดเล่นถูก ร้องเพลงกันไป พูดคุยกันไป พอนานเข้าจะเป็นแบบเดิมตลอดก็ไม่ได้ ก็เริ่มเอาเพลงที่เป็นไปตามยุคสมัย ไปหาเพลง ที่เข้ากับสถานการณ์ เพื่อเกาะเกี่ยวอารมณ์ไว้

เพื่อให้เข้าถึงผู้ชุมนุมมากยิ่งขึ้น และไม่ให้รู้สึกเบื่อ เขาลงมือแต่งเพลงด้วยตัวเอง โดยเชื่อมโยงจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และนำมาเล่นสดๆ บนเวที โดยมีเวลาซ้อมเพียงแค่ 1-2 ชั่วโมงก่อนขึ้นเวที

ความมุ่งมั่นของเขา ไม่เพียงจะขะมักเขม้นอยู่กับการแต่งเพลง เขายังลงทุนปิดบริษัทชั่วคราว ระหว่างรอเปิดกล้องภาพยนตร์เรื่องใหม่ พาลูกน้องมาร่วมชุมนุมทุกค่ำคืน และจะเริ่มถ่ายทำอีกครั้งก็ต่อเมื่อการชุมนุมสิ้นสุดลงเท่านั้น

เมื่อถามว่าเขากลัวหรือไม่ ศรัณยูตอบทันทีว่า “เราเป็นคนไทย การที่เรามารู้ว่าบ้านเมืองนี้มันเกิดอะไรขึ้นมันผิดตรงไหน ถ้าไปกลัวแล้วจะอยู่ประเทศนี้ทำไม ผมไม่ใช่แกนนำ แต่มาในฐานะประชาชนคนหนึ่ง มาเพื่อเป็นกำลังใจ” เป็นคำตอบที่บอกได้ว่า สำหรับเขาแล้ว ปัญหาบ้านเมืองนั้นอยู่เหนือความกลัว

ยิ่งเป็นศิลปินที่ต้องทำงานเบื้องหน้า ความเสี่ยงที่อาจถูกกลั่นแกล้งในรูปแบบต่างๆ ย่อมมีมากกว่าคนธรรมดา แต่ไม่ใช่เรื่องที่เขาจะวิตกกังวล

“ผมไม่ได้อยู่ในประเทศนี้ด้วยการไปผูกเงื่อนไขไว้กับใครทั้งนั้น สิ่งเดียวที่เป็นตัวชี้วัดการทำงานของผม คือ ผลงานจะได้รับการตอบรับจากประชาชนหรือไม่ ถ้าจู่ๆ จะมีใครมาบอกว่า…อย่าไปดูผลงานมัน อย่าไปให้ทุนมัน ผมก็ไม่สน เพราะถ้าเราอยู่ใต้อาณัติใครแล้วอิดออด เก็บความรู้สึกไว้ ต่อไปจะสอนลูกสอนหลานยังไง อนาคตชาติบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนต้องคิดเหมือนกัน นี่เป็นความรู้สึกของปัจเจกบุคคล”

เมื่อถามว่า เขาจะเลือกเดินเข้าสู่การเมืองเหมือนกับใครหลายคนหรือไม่ ศรัณยูตอบอย่างมั่นใจว่า “ผมไม่ได้มาตรงนี้เพื่อใช้เป็นสะพานไปสู่การเมือง ผมมาเหมือนแม่ค้าขายข้าวแกง เหมือนคนที่อยู่ข้างล่าง ทุกคนมาเพื่อแสดงสิทธิตัวเอง เพื่อชาติบ้านเมือง เมื่อภารกิจตรงนี้เสร็จ ทุกคนก็กลับไปทำหน้าที่ของตัวเอง”

ยิ่งถ้าได้รู้ว่าเขาเคยเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย รุ่นที่ 2 จากการชักชวนของ ทักษิณ ชินวัตร แต่ต้องผิดหวังกับแนวคิดของพรรค และไม่เคยคิดจะหวนกลับไปอีกเลย

“ตอนนั้นเรายังโง่อยู่ เขาพยายามดึงคนรุ่นใหม่ๆ เขาเดินมาโอบกอดเราแล้วบอกว่า ตั้วมาช่วยกันหน่อย มันทำให้เราเกิดความประทับใจ เพราะนักการเมืองกับประชาชนทั่วไปมันห่าง แต่นี่เขามาโอบกอด ทำให้เรารู้สึกฮึกเหิม เขาชวนให้สมัคร ส.ส. แต่เราปฏิเสธตลอด ก็เลยจับชื่อใส่กรรมการบริหารพรรค

“พอไปประชุมพรรคครั้งแรก ก็รู้ได้เลยว่า ไม่ใช่ที่ของเราเลย จู่ๆ ก็มีคนมาบอก น้องทำธุรกิจอะไรหรือเปล่า ผมก็บอกเปล่า ผมเป็นนักแสดง เขาก็บอกว่า ทำธุรกิจสักอย่างสิ บอกหัวหน้าสิ หัวหน้าช่วยได้ พอนัดอีก เราก็ไม่ไปเลย พอเขาเปลี่ยนกรรมการรุ่นใหม่ เขาก็ย้ายให้ไปเป็นที่ปรึกษาจนลืมไปแล้ว จนเมื่อไล่ทักษิณคราวที่แล้ว มีคนมาเตือนคุณเป็นสมาชิกพรรค ก็ทำเรื่องของยกเลิก”

ดังนั้นไม่ว่าภารกิจครั้งนี้จะกินเวลานานแค่ไหน และจบลงเมื่อใด ก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เขาคิดหรือวิตกกังวล ตราบใดที่ปัญหาบ้านเมือง และนักการเมืองโกงชาติยังอยู่

“ผมไม่มาคิดหรอกว่า เหวจะอยู่ข้างหน้า หรือมีแม่น้ำมั้ย มันต้องก้าวข้ามไปให้ได้ก่อน ไม่คิดเยอะ เพราะสิ่งที่เป็นปัญหามันชัดเหลือเกิน คนที่ไม่ดีมันยังอยู่

เป็นคำยืนยันว่า เขาจะต่อสู้จนถึงที่สุด จนกว่าความถูกต้องจะกลับคืนมา และเมื่อนั้น เขาจะกลับไปโลดแล่นอยู่บนหน้าจอในฐานะศิลปินนักแสดง แต่หากปัญหาบ้านเมืองเกิดขึ้นเมื่อใด รัฐบาลที่เป็นภัยต่อชาติบ้านเมือง เมื่อนั้นภารกิจศิลปินกู้ชาติก็จะเริ่มขึ้นอีกครั้ง