หนังโฆษณา 8 เรื่องของเคแบงก์

ทำไม “เคแบงก์” ต้องลุกขึ้นมาทำหนังโฆษณา 8 เรื่อง 8 แนว แถมยังใช้ผู้กำกับเปลืองมากที่สุดถึง 8 คน และเลือกประเดิมฉายเฉพาะโรงภาพยนตร์เท่านั้น อะไรทำให้ บัณฑูร ล่ำซำ ซีอีโอแห่งเคแบงก์ ต้องคิดทำโฆษณาแหวกแนวแบบนี้ หรือเป็นเพราะ “ธนาคาร” ที่เงียบขรึมและดูมั่นคง อาจไม่เพียงพอดึงลูกค้าอีกต่อไปแต่ความมี “ชีวิตชีวา” ของแบรนด์ กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกค้าเดินเข้าหา

“บัณฑูรชวนดูหนัง” ขึ้นต้นข้อความในจดหมายเชิญแถลงข่าวขนาดนี้ ใครจะปฏิเสธ “คุณปั้น บัณฑูร ล่ำซำ” ซีอีโอ เครือธนาคารกสิกรไทย หรือเคแบงก์ได้ งานนี้ “คุณปั้น” ข้ามจากสำนักงานใหญ่ฝั่งธนฯ นัดแนะกันเสร็จสรรพที่โรงหนัง SFX ดิ เอ็มโพเรียม สุขุมวิท ซึ่ง “คุณปั้น” ไม่มาเดี่ยว แต่ควงทีมผู้บริหารเคแบงก์มาเหมือนเคย ตั้งแต่ระดับ “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” กรรมการผู้จัดการ มาจนถึงทีมงาน เพื่อมาร่วมดูหนังตัวอย่าง 8 เรื่อง ก่อนที่จะต่อด้วยหนังฟอร์มยักษ์ “สามก๊ก : โจโฉแตกทัพเรือ” ของผู้กำกับ “จอห์น วู”

“บัณฑูร” ตั้งใจอีกครั้งกับการสร้าง “เคแบงก์” ที่ “บัณฑูร” บอกว่า “อยากให้คนนึกถึง และพูดถึงเครือธนาคารกสิกรไทยบ้าง เพราะนานแล้วกลัวคนลืม และเวลานี้ธุรกิจจะอยู่นิ่งๆ ไม่ได้ ที่ต้องเป็นโรงหนังเพราะจอใหญ่ดี แล้วเดี๋ยวนี้ใครๆ ก็ชอบดูหนังกัน”

เมื่อซีอีโอคิดอย่างนี้ และบอก “อยากโฆษณาในโรงหนัง” จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นโจทย์ให้กับทีมงาน และเอเยนซี่ “โอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ แอ็ดเวอร์ไทซิ่ง” ที่ดูแลแบรนด์เคแบงก์มานานเกือบ 10 ปีสานต่อ กลายเป็นหนังตัวอย่าง 8 เรื่อง เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายลูกค้า 7 เซ็กเมนต์ และอีกหนึ่งบริการครบวงจร ภายใต้คอนเซ็ปต์ “K Now” ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อต้นปี 2551 โดยมีอี-เกิร์ลส์ 8 คนร่วมแสดง

งานนี้ “คุณปั้น” กำชับทีมงานให้ถ่ายทำและคิดคอนเซ็ปต์ให้มีคุณภาพเทียบเท่าหนัง แม้จะเป็นเพียงแค่หนังตัวอย่าง (Trailer) ยาว 1 นาที แต่ก็ต้องทุ่มทุนสร้างให้เหมือนและเนียนมากที่สุด

8 เรื่อง มีคอนเซ็ปต์ ตั้งแต่หนังผี แอนิเมชั่น หนังรัก จนถึงหนังสงคราม เลือก 8 ผู้กำกับที่มีฝีมือโดดเด่นแต่ละแนว เพื่อความหลากหลายของหนัง จาก 5 โปรดักชั่นเฮาส์ รวมเบ็ดเสร็จลงทุน 50 ล้านบาท

ผลิตแล้ว หนังดูดีแล้ว การเลือกว่าต้องฉายอย่างไร เมื่อไหร่ ที่ไหน เพื่อให้เหมาะกับหนังที่อยู่ในบ็อกซ์ออฟฟิศเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหนัง 8 เรื่องของเคแบงก์เจาะเซ็กเมนต์ที่ต่างกัน

โรงหนังที่ฉายมีทั้งของในเครือเมเจอร์-อีจีวี และเอสเอฟ รวมประมาณ 250 โรง จากโรงหนังทั้งหมดกว่า 600 โรง แต่ละสาขาเลือกหนังในบ็อกซ์ออฟฟิศ 3 เรื่อง เพื่อหนังโฆษณาแต่ละเรื่อง ซึ่งโรงหนังแต่ละพื้นที่มีเซ็กเมนต์ต่างกัน เช่น เมเจอร์รัชโยธิน มีกลุ่มคนระดับกลาง-Mass ที่หนังลงโรงประเภทหนังผี และหนังรักได้รับความนิยม เคแบงก์ก็นำโฆษณาแนวหนังผีไปฉาย ที่มีคอนเซ็ปต์บริการทางการเงินให้ลูกค้าส่วนบุคคล เช่น บริการโอนเงิน ชำระค่าบริการต่างๆ หรือที่ดิ เอ็มโพเรียม เป็นกลุ่ม MI (Middle Income) จนถึงระดับสูง ก็ต้องเน้นหนังโฆษณากลุ่มนักธุรกิจ หรือที่มาบุญครอง ที่มักเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก และกลาง (เอสเอ็มอี) จะเน้นโฆษณาชุด “แบมบู บ๊อกเซอร์” ให้เห็นว่าธุรกิจเล็กๆ สามารถเติบโตได้

การเลือกเวลาปล่อยโฆษณา ยังมีความสำคัญว่าจะให้ผู้ชมจำได้มากขึ้นหรือไม่ เพราะขณะนี้โรงหนังมีหนังตัวอย่างมาอวดนัดแนะผู้ชมมาดูในโปรแกรมต่อไปจำนวนมาก และที่สำคัญมีสินค้า และบริการหลากหลายเลือกเข้าไปโฆษณา ซึ่งหลายเรื่องให้ความรำคาญมากกว่าบันเทิง รวมเวลาเฉลี่ยโรงละประมาณ 20-30 นาที

กลยุทธ์ของเคแบงก์คือเลือกเวลาปล่อยโฆษณาหลังจากที่ปูอารมณ์ผู้ชมมาผ่านหนังตัวอย่าง และโฆษณาสินค้ามาแล้วครึ่งทาง พอหนังตัวอย่างของเคแบงก์เริ่มฉายต่อจากโฆษณาสินค้าทันที ทำให้ผู้ชมเข้าใจว่านี่คือหนังตัวอย่างของหนังฟอร์มยักษ์อีกเรื่องหนึ่ง เมื่อจบหักมุมด้วยการให้อี-เกิร์ลส์ออกมาเฉลยพูดถึงแบรนด์เคแบงก์ จึงทำให้ผู้ชมได้ความบันเทิง และจำได้ว่านี่คือโฆษณาของเคแบงก์ แม้จะงงๆ ว่า “กสิกรไทย” มาขายอะไร หรือออกผลิตภัณฑ์ใหม่อะไรก็ตาม

สำหรับโอกาสในการสื่อถึงกลุ่มเป้าหมายนั้น หากคำนวณออกมาแล้ว จะมีผู้ชมหนังตัวอย่าง “เคแบงก์” ประมาณ 7 ล้านครั้ง (ผู้ชมคนหนึ่งอาจดูหนังหลายรอบในแต่ละเดือน) ในช่วง 3 เดือน จากปัจจุบันสถิติเฉลี่ยคนเข้าดูหนังต่อโรง ต่อเดือนประมาณ 9,000-10,000 คน

เงินเกือบ 100 ล้านบาท ที่ “เคแบงก์” ใช้ซื้อจอหนัง แม้ไม่มากนักเมื่อเทียบกับมูลค่ารวมของสื่อโฆษณาในโรงหนังครึ่งปี 2551 เกือบ 2,000 ล้านบาท แต่ปฏิบัติการของเคแบงก์ครั้งนี้ก็ทำให้จอสีขาวมีสีสันมากขึ้น

ความหวังล่าสุดของ “บัณฑูร” ที่อยากให้ “เคแบงก์” เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ ยังพลิกจากการเลือกแบบเดิม มาเน้นสื่อโรงหนัง จากที่เคยหว่านทีวีซีไปเกือบ 60 ล้านบาท เมื่อ 3 ปีก่อนในชุด “เค ฮีโร่” ครั้งนี้งบที่เหลืออีกประมาณ 25 ล้านบาท เคแบงก์เลือกซื้อสื่อที่ตรงเซ็กเมนต์มากขึ้น เช่นกลุ่มคนทำงาน ใช้สื่อนอกบ้าน เป็นโฆษณาในลิฟต์สำนักงาน โฆษณาผ่านจอในตัวรถไฟฟ้า สื่อนิตยสาร กลุ่มเอสเอ็มอีในภูมิภาค เลือกโฆษณาในเคเบิลทีวีท้องถิ่น หนังสือพิมพ์หัวสี และในฟรีทีวีบางรายการ สำหรับวัยผู้ใหญ่ ที่เป็นกลุ่มที่ไม่นิยม หรือไม่มีเวลาพอที่จะไปดูหนัง เช่น รายการชีพจรโลก รายการข่าว “เรื่องเล่าเช้านี้”

ทั้งหมดเพื่อบรรลุเป้าหมายอย่างที่ “บัณฑูร” บอกว่าอยากให้คนพูดถึง “กสิกรไทย” บ้าง แล้วจากนั้นรายได้ กำไรของแบงก์ก็จะ Coming Soon…

แผนแบรนดิ้ง “เคแบงก์” ปี 2551

คอนเซ็ปต์-สื่อผ่านหนังโฆษณา 8 เรื่อง
เป้าหมาย-สร้างความจดจำแบรนด์องค์กร
งบผลิตหนัง – 50 ล้านบาท
งบซื้อสื่อ – 50 ล้านบาท
ระยะเวลา -3 เดือน (กรกฎาคม-กันยายน)
กลุ่มเป้าหมาย – คนดูหนัง ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานอายุเฉลี่ย 20-35 ปี และมีกำลังซื้อ
โอกาสการสื่อถึงกลุ่มเป้าหมาย – จำนวนการชมภาพยนตร์ 9,000-10,000 ครั้งต่อเดือนต่อโรง
จำนวนโรง- 250 โรง ในเครือเมเจอร์ และเอสเอฟ (ยกเว้นพารากอนซีนีเพล็กซ์ เครือเมเจอร์ เพราะมีสปอนเซอร์หลักคือธนาคารกรุงศรีอยุธยา)
จำนวนการเห็นสื่อของกลุ่มเป้าหมาย – ประมาณ 7 ล้านครั้ง

8 เรื่อง 8 ผู้กำกับ
————————————————————————————————–
หนังโฆษณา กลุ่มเป้าหมาย ผู้กำกับ บริษัทผู้ผลิต
—————————————————————————————————-
“Bamboo Boxer” ลูกค้าขนาดย่อม สุรัสวดี เชื้อชาติ แม็ทชิ่ง สตูดิโอ
“ทวง” แมส บรรจง ปิสัญธนะกูล หับ โห้ หิ้น
“The Conquest “ เอสเอ็มอี วิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง เดอะฟิลม์ แฟคตอรี่
“สัญญาที่ต้องรักษา” กลุ่ม Signature สาธิต กาลวันตวานิช ฟีโนมีน่า
“ข้ามจักรวาลพรหมลิขิต” กลุ่มMiddle Income ธนชัย ศาสตร์สาระ ซันไชน์ เอเซทรา
“จอมคนสยบพิภพ” สหบรรษัทธนกิจ จักรกฤษณ์ หวังพัฒนศิริกุล กาโม่เฮ้าส์
ขุมทรัพย์ทะเลสุดขอบโลก บรรษัทธนกิจ น้ำทอง ทองใหญ่ ณ อยุธยา ฟีโนมีน่า
“หนึ่งไมล์เมื่อไกลบ้าน” K Now ชาญชัย ชวานนท์ แม็ทชิ่ง สตูดิโอ
———————————————————————————————————-

งบเคแบงก์ซื้อสื่อ 50 ล้านบาท : โรงหนังรับสูงสุด
โรงภาพยนตร์ 50%
ฟรีทีวี 20%
สื่อสิ่งพิมพ์ 10%
ที่เหลือ (เคเบิลท้องถิ่น / บีทีเอส / สื่อนอกบ้าน) 20%

ที่มา : เคแบงก์

มูลค่างบโฆษณา (แบ่งตามประเภทสื่อ) หน่วย : ล้านบาท
——————————————————————————————–
สื่อ ม.ค.-มิ.ย. 07 ม.ค.-มิ.ย. 08 % เพิ่มขึ้น/ลดลง
——————————————————————————————–
ทีวี 25,453 25,287 -0.65
วิทยุ 3,045 3,282 7.78
หนังสือพิมพ์ 7,352 7,501 2.03
นิตยสาร 2,814 2,736 -2.8
โรงหนัง 1,979 1,965 -0.71
สื่อนอกบ้าน 2,235 2,149 -3.85
ขนส่งมวลชน 416 649 56.01
ในห้างสรรพสินค้า 266 263 -1.13
————————————————————————
รวม 43,560 43,832 0.62
—————————————————————————————-
ที่มา : เนลสัน มีเดีย รีเสิร์ช

10 อันดับธนาคารไทยที่ใช้งบโฆษณาสูงสุด (ม.ค.-มิ.ย. 08)
———————————————————————-
อันดับ มูลค่า (ล้านบาท)
———————————————————————-
1. กรุงศรีอยุธยา 140.43
2. ออมสิน 95.65
3. กสิกร 89.65
4. ธนาคารเพื่อการเกษตรฯ 54.02
5. ธนชาติ 49.02
6. ทหารไทย 45.94
7. ไทยพาณิชย์ 44.72
8. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 44.38
9. สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ 26.77
10. กรุงเทพ 21.86
——————————————————————
ที่มา : มีเดีย สเปนดิ้ง

แบรนด์ที่ใช้สื่อในโรงหนังมากที่สุดช่วงมกราคม-มิถุนายน 2551
———————————————————————-
แบรนด์ มูลค่า (ล้านบาท)
———————————————————————-
1. เอไอเอส 38.12
2. ดีแทค 37.46
3. โค้ก 34.65
4. ไทยประกันชีวิต 32.82
5. เป๊ปซี่ 29.66
6. เอ็มเค สุกี้ 28.86
7. ฟิชโช่ ฟิช 27.60
8. น้ำยาบ้วนปาก 26.99
มายเซปติค มายบาซิน
9. ซีเล็ค สลัดครีม 23.63
10. เบียร์สิงห์ 19.55
———————————————————————–

ที่มา : มีเดีย สเปนดิ้ง

3 ผู้กำกับ ร่วมขบวน “หนังตัวอย่าง”

“ผู้ชมต้องเชื่อว่าเป็นหนังตัวอย่าง” คือโจทย์หลักที่ผู้กำกับ 8 คนที่สร้างหนังโฆษณา 8 ชุดของ K-Bank ใช้เป็นรั้วล้อมกรอบความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง

“เพราะโฆษณาชุดนี้เน้นแบรนด์ ไม่เน้นขายของ ต้องการสร้าง Brand Awareness และกระแส Talk of the town ล้วนๆ ด้วยสื่อที่แปลกใหม่” วิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง ผู้กำกับหนัง “The Conquest” สยบอสูรร้ายแห่งความกลัว และ บรรจง ปิสัญธนะกูล กับหนังชวนขนหัวลุกอย่าง “ทวง” เปิดเผยแก่ “POSITIONING” ว่าทำไมต้องสร้างหนังโฆษณาชุดนี้เป็น “หนังใหญ่”

จากนั้นโอกิลวี่ซึ่งเป็น Corporate Agency จะร่วมพัฒนา “ไอเดีย” กับผู้กำกับตามแนวทางที่พวกเขาถนัด โดยหนังเหล่านี้ต้องมีเรื่องราวต่อเนื่อง ดูเผินๆ เหมือนเลียนแบบหนังดังบางเรื่องเพื่อหลอกผู้ชมให้แนบเนียน

ขณะเดียวกันก็ช่วยโปรโมตอี-เกิร์ลส ของเครือกสิกรไทยด้วย เพราะพวกเธอทั้ง 8 ต่างก็ปรากฏกายเป็น Brand Presenterในตอนท้ายสร้างความเซอร์ไพรส์ให้ผู้ชม ว่าในที่สุดหนังตัวอย่างเหล่านี้ก็เป็นโฆษณาของเคแบงก์ ทั้งนี้ วิศิษฎ์เคยกำกับโฆษณาให้เคแบงก์ชุดโปรโมชั่นเงินกู้เอสเอ็มอีมาก่อน จึงไม่แปลกใจว่าเขาจะมาทำหนังชุดนี้ที่พุ่งเป้าไปที่กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี แต่สำหรับบรรจง งานนี้เป็นงานแรก ด้วยโปรไฟล์ในฐานะหนึ่งในผู้กำกับหนังดัง “ชัตเตอร์” ที่ฮอลลีวู้ดซื้อไปรีเมก ย่อมได้รับความไว้วางใจว่า “จะทำหนังตัวอย่างออกมาได้เนียน”

แต่สำหรับผู้กำกับที่เชี่ยวชาญกับทีวีซีมาช้านานอย่างสุรัสวดี เชื้อชาติ หรือ “มาม่าบูลส์” กับผลงาน “Bamboo Boxer” แอคชั่นกตัญญูชวนหัวแบบไทยๆ การทำหนังโฆษณาให้เนียนเหมือนหนังตัวอย่างจึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เนื่องด้วยข้อจำกัดทางเทคนิคบางประการ “กระบวนการผลิตเปลี่ยนไปจากที่เคยทำทีวีซี เช่นการถ่ายทำ จำนวนเฟรมต่อวินาทีไม่เท่ากัน ต้องแก้ไขด้วยการวางแผนที่ดี”

ทว่าสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับผู้กำกับทั้ง 3 กลับเป็น “ระยะเวลาจำกัด” ทั้งการถ่ายทำและผลิตทั้งหมดซึ่งมีเพียงประมาณเดือนครึ่งเท่านั้น