การรักษาการจ้างงาน เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในสถานการณ์วิกฤตโรคระบาด เมื่อธุรกิจไม่สามารถดำเนินไปได้ตามปกติ KBank ประกาศ 2 มาตรการใหม่ ปล่อยเงินกู้ 1,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0% ระยะเวลา 10 ปี ช่วยผู้ประกอบการรายย่อยมีเงินเดือนจ่าย “ลูกจ้าง” กว่า 41,000 คน เพื่อให้ระบบเดินหน้าต่อได้
พร้อมให้ “เงินรางวัล” เป็นกำลังใจแก่บุคลากรทางการแพทย์ นำร่องใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงิน 300 ล้านบาท ในมาตรการ “เบี้ยรบพิเศษสำหรับนักรบเสื้อกาวน์” จ่ายเงินเพิเศษให้คนละ 4,000 บาทต่อเนื่อง 3 เดือนโอนเช้าบัญชีโดยตรง วางเป้าครอบคลุม 2 หมื่นคน ใครทำงานจริงเเต่ไม่ได้เงิน สามารถร้องเรียนให้ตรวจสอบได้ โดยจะดำเนินการในช่วงปลายเดือนนี้
“ตอนนี้ถือเป็นช่วงสงคราม สงครามจากเชื้อโรค จะคิดแบบเดิมทำแบบเดิมไม่ได้ สินเชื่อที่ปล่อยในช่วงนี้ ก็ทำใจไว้ระดับหนึ่งว่าอาจจะเป็นหนี้เสีย เเต่ต้องช่วยกัน ถ้ากำไรของธนาคารปีนี้จะเป็น 0% เพราะต้องนำไปตั้งสำรองเพิ่ม ผมรับได้ แต่ต้องอย่าให้ลามไปถึงทุน” บัณฑูร ล่ำซำ ประธานเกียรติคุณ ธนาคารกสิกรไทย (KBank) กล่าว
เงินกู้ 0% จ่ายเงินเดือนลูกจ้าง เพื่อ “ซื้อเวลา”
บัณฑูร เล่าถึงที่มาของ “สินเชื่อ 0% เพื่อรักษาคนงาน SMEs” ว่าเป็นธุรกิจรายย่อยได้รับผลกระทบอย่างหนักจาก COVID-19 แม้จะมีมาตรการที่รัฐออกมาทั้งซอฟต์โลนต่างๆ แต่ธนาคารมองว่ายังต้องช่วยเพิ่มเติม โดยเฉพาะในส่วนเงินทุนหมุนเวียนที่จะประคองกิจการ มุ่งช่วยคนที่อยู่ข้างล่างที่สุดของธุรกิจที่เป็นคนตัวเล็กตัวน้อย นั่นก็คือ “ลูกจ้างที่ต้องหาเช้ากินค่ำ” การเข้าไปช่วยเหลือให้ช่วยเหลือพนักงานให้ยังมีงานทำเเละมีเงินเดือนเลี้ยงชีพตัวเองเเละครอบครัวให้ผ่านช่วงนี้ไปให้ได้ คือ “สิ่งสำคัญ” ของโครงการนี้
โดยวงเงินกู้ 1,000 ล้านบาทก้อนนี้ จะนำไปจ่ายเงินเดือนพนักงานให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็กที่มีพนักงานตั้งเเต่ 0-200 คน ให้เงินเดือน 8,000 บาทต่อเดือนต่อคน ในระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งจะพักชำระหนี้ 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 0% ระยะเวลาสินเชื่อ 10 ปี ฟรีค่าธรรมเนียมทุกประเภท คาดว่าจะช่วยเหลือ SMEs ได้ราว 1,000 ราย เเละช่วยพนักงานได้กว่า 41,000 คน (วงเงินกู้ของแต่ละบริษัทขึ้นอยู่กับจำนวนพนักงาน)
สำหรับ SMEs ที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ ต้องเป็นลูกค้าของธนาคารที่มีผลประกอบการดีหรืออยู่ในขั้นพอไปได้ ไม่ต่ำกว่า 5 ปี และเปิดใช้บัญชี Pay Roll กับกสิกรไทย เพื่อให้มีการจ่ายเงินสะดวกโปร่งใส โอนเข้าบัญชีพนักงานโดยตรง
“เราต้องการช่วย SMEs ที่มีผลประกอบการที่ดี แต่ต้องมาเจอกับเหตุสุดวิสัย ให้ซื้อเวลารอเมื่อปัญหาผ่านพ้นก็จะสามารถทำธุรกิจต่อไปได้ ถ้าธุรกิจดีๆ จะต้องหายไปเพราะเหตุแบบนี้น่าเสียดาย”
ขณะเดียวกัน บัณฑูร มองถึงความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อในช่วงนี้ว่า “มีความเสี่ยงสูง” ที่จะเป็นหนี้เสีย ต้องสำรองทันที เพราะไม่ใช่เหตุการณ์ปกติ “ต้องยอมเสียประโยชน์ระยะสั้น เพื่อให้ได้ประโยชน์ในระยะยาว”
ก่อนหน้านี้ เมื่อกลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา กสิกรไทยได้เปิดตัวโครงการ “เถ้าแก่ใจดี เจ้าหนี้มีใจ” วงเงิน 500 ล้านบาท ช่วยพนักงาน 15,000 คน ซึ่งยังอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยร่วมมือกับเจ้าของกิจการในการช่วยเหลือพนักงานที่มีเงินเดือนน้อยให้อยู่รอดได้ โดยมีจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่อง ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี มีความคืบหน้าในการรักษาการจ้างพนักงานได้กว่า 2,000 คน จากที่ตั้งเป้าไว้ 3,000 คน และมีมาตรการช่วยลดดอกเบี้ยบนเงินกู้เดิมที่ผู้ประกอบการมีกับธนาคาร คิดเป็นมูลค่ากว่า 60 ล้านบาท
ทั้งนี้ ความเเตกต่างระหว่างโครงการสินเชื่อ 0% เพื่อรักษาคนงาน SMEs กับ เถ้าแก่ใจดี เจ้าหนี้มีใจ คือโครงการ สินเชื่อ 0% จะเป็นผู้ประกอบการรายเล็กมากกว่า มีพนักงานไม่เกิน 200 คนเป็นการให้เงินกู้เพื่อจ่ายเงินเดือน 8,000 บาทกับพนักงานโดยตรง ส่วนเถ้าแก่ใจดี จะเป็นบริษัทใหญ่ที่ยังพอมีกำลัง โดยธนาคารจะตัดรายได้ดอกเบี้ยที่ได้รับในจำนวนเงินเท่ากับ 50% ของเงินเดือนพนักงานที่ต้องจ่าย ร่วมกับเจ้าของกิจการที่ต้องจ่ายเงินเดือนอีก 50% เพื่อให้ธุรกิจไม่ต้องปรับลดพนักงาน
เเจกเงินรางวัล ขอบคุณบุคลากรทางการเเพทย์
ด้านโครงการ “เบี้ยรบพิเศษสำหรับนักรบเสื้อกาวน์” เป็นการมุ่งเน้นความช่วยเหลือต่อกลุ่มเสี่ยงที่ต้องต่อสู้กับโรคระบาด คือบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าสกัดโรคไม่ให้ระบาดสู่สังคม ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เสี่ยงภัยที่สุดในยามนี้ เเละเเทบไม่มีวันหยุดงาน โดย KBank จะเริ่มนำร่องที่ 5 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สงขลา นราธิวาส ยะลา ปัตตานี และสตูล
“เหตุที่เราต้องช่วยใน 5 จังหวัดนี้ก่อน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่สุดของประเทศในขณะนี้ เเละมีแนวโน้มมีการระบาดรุนแรงกว่าที่อื่น ส่วนการจะขยายโครงการไปยังจังหวัดอื่นหรือกรุงเทพฯ หรือไม่นั้น ต้องประเมินไปตามสถานการณ์ เเละต้องเเน่ใจว่าเราได้ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ (ใน 5 จังหวัดนี้) ครบหมดทุกคน โฟกัสที่โรงพยาบาลรัฐก่อน”
โดยตอนนี้ได้ร่วมมือกับสาธารณสุขของจังหวัด ครอบคลุมโรงพยาบาล 45 แห่ง จัดส่งรายชื่อของบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งแพทย์ พยาบาล ไปถึงผู้สัมผัสคนไข้ในรูปแบบต่างๆ เช่น บุคลากรด้านเทคนิค เจ้าหน้าที่ขนส่ง เจ้าหน้าที่ทำความสะอาด เบี้องต้นมีบุคลากร 5,083 คน
ทั้งโครงการมูลนิธิกสิกรไทย เตรียมงบประมาณไว้ 300 ล้านบาท สนับสนุนเป็นเงินจำนวน 4,000 บาทต่อเดือน ในระยะ 3 เดือน คาดว่าจะช่วยได้ราว 20,000 คน เริ่มดำเนินการได้ภายในปลายเดือน พ.ค.นี้
“โครงการไม่ได้เกี่ยวกับจดหมายเปิดผนึกอะไร ไม่เคยได้รับ แต่เราอยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ให้กำลังใจบุคลากรทางแพทย์ที่ทำงานเสี่ยงเเละเหนื่อยหนักในการต่อสู้ครั้งนี้ อยากขอบคุณเเทนคนไทยทั้งประเทศ การเเจกครั้งนี้จะเข้าบัญชีของเจ้าหน้าที่โดยตรง ถ้ามีบัญชีกสิกรหรือพร้อมเพย์ก็โอนเข้าได้เลย ซึ่งถ้าใครที่ทำงานเกี่ยวข้องจริงๆ ในพื้นที่เเต่ไม่ได้รับก็สามารถให้ตรวจสอบได้”
บัณฑูร ปิดท้ายถึงเศรษฐกิจในไทยว่า ก่อนมีโรคระบาดเศรษฐกิจก็เเผ่วลงเรื่อยๆ การเติบโตน้อยกว่าเพื่อนบ้าน ระยะยาวต้องแก้ไขโครงสร้างเศรษฐกิจ เเต่ตอนนี้โจทย์สำคัญคือต้องทำอย่างไรให้รอดไปก่อน
“New Normal ที่จะเกิดขึ้นหลังวิกฤต COVID-19 ทำให้ธุรกิจจะทำมาหากินเเบบเดิมๆ ไม่ได้เเล้ว จะสู้คนอื่นไม่ได้ ต้องเปลี่ยนองค์ความรู้ เปลี่ยนการค้าขายเเบบเดิม ปลูกพืชใหม่ การพึ่งพาท่องเที่ยว ต้องเปลี่ยนทุกอย่าง”