ในปัจจุบันต้องบอกว่าเราอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกๆ ไลฟ์สไตล์และทุกๆ ธุรกิจ ธุรกิจโรงภาพยนตร์ก็ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมของผู้บริโภคในการดูภาพยนตร์ หรือซีรีส์แบบ On Demand ผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่น ซึ่งเป็นการดูภาพยนตร์แบบถูกกฎหมาย
เทรนด์การดูภาพยนตร์แบบ On Demand นี้ ได้เห็นมาหลายปีแล้ว และมีแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าธุรกิจโรงภาพยนตร์ต้องได้รับผลกระทบไม่มากก็มีส่วนน้อย สิ่งที่ได้เห็นของธุรกิจโรงภาพยนตร์นั้นก็คือมีการปรับตัวทั้งในเรื่องเทคโนโลยี และสร้างประสบการณ์ในการดูให้ดีขึ้น
เจ้าตลาดอย่าง “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” ต้องมีการปรับตัวอยู่เช่นกัน เพราะด้วยตลาดมีการแข่งขันสูง ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป และช่วงนี้เองก็เป็นช่วงที่ธุรกิจโรงภาพยนตร์ในเอเชียบูม จึงเป็นช่วงเวลาดีในการลงทุนเพื่อกระตุ้นธุรกิจโรงหนัง
แผนของเมเจอร์ฯ ได้ก้าวเข้าสู่ยุค “เมเจอร์ 5.0” ที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น พร้อมกับสร้างประสบการณ์ในการดูภาพยนตร์มากกว่าเดิม ได้ลงทุนในเรื่องจอภาพเป็นเทคโนโลยีเครื่องฉายเลเซอร์จาก Christie RGB Laser ที่ให้ภาพคมชัดระดับ 4K หรือมากกว่าระบบเดิมที่เป็นระบบดิจิทัล 2 เท่า เบื้องต้นระบบเลเซอร์นี้จะฉายที่พรีเมียม สกรีนของเมเจอร์ เริ่มต้นที่ 3 โรงภาพยนตร์ที่พารากอนซีนีเพล็กซ์ ในอนาคตอาจจะมีขยายไปโรงภาพยนตร์อื่นๆ
วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) เล่าให้ฟังว่า
พฤติกรรมการดูภาพยนตร์แบบ On Demand ของผู้บริโภคในยุคนี้ต้องบอกว่าได้รับผลกระทบไปทั่วโลก เพราะมันเป็นเทรนด์ แต่สิ่งที่คนทำโรงภาพยนตร์ต้องทำก็คือต้องสร้างประสบการณ์ในการดูภาพยนตร์ใหม่ๆ และมีบริการใหม่ๆ เพื่อดึงดูดให้เขาออกมาดูหนังนอกบ้านให้ได้
วิชาเสริมอีกว่า นอกจากเรื่องพฤติกรรมการดูภาพยนตร์แบบ On Demand แล้ว การแข่งขันก็สูงด้วยเช่นกัน เมเจอร์จึงต้องเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย มีการลงทุนเป็นจอดิจิทัลเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนนี้เปลี่ยนสู่ยุคของเลเซอร์ เพื่อสร้างประสบการณ์ดูใหม่ๆ ธุรกิจโรงหนังประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าเมื่อไหร่ที่ไม่ตื่นเต้นก็ไม่ดึงดูดใจผู้บริโภค เรื่องบริการด้วยเช่นกัน อย่างกลุ่มเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี ก็มีขนมแจกให้ มีสายไหม และมีผ่าห่มให้เลือกหลายแบบตามความต้องการผู้บริโภค
ปีนี้ปีทองของภาพยนตร์ คาดอุตฯ โต 15%
ปี 2560 นี้มีการมองว่าเป็นอีกหนึ่งปีทองของธุรกิจโรงภาพยนตร์ เพราะมีภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดฟอร์มยักษ์เข้าคิวฉายกันเพียบ เป็นภาพยนตร์แฟรนไชส์ที่มีภาคต่อ มีแฟนคลับพร้อมดูต่อเนื่อง ทำให้มีการคาดการณ์ว่าปีนี้อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์จะมีการเติบโต 15-20% จากที่ในปี 2559 มีมูลค่าตลาดราว 7,000 ล้านบาท
ในปีนี้เมเจอร์ก็ตั้งเป้าการเติบโตที่ 15-20% เช่นกัน เพราะเป็นผู้นำตลาด โดยแผนการลงทุนในปีนี้จะมีโรงภาพยนตร์เพิ่มขึ้นอีก 70-80 โรง เป็นในพื้นที่ต่างจังหวัด 70-80% และมีการลงทุนทำภาพยนตร์ไทยมากขึ้นเพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมให้มีการเติบโต
“ในอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ได้มองประเทศเกาหลีเป็นไอดอล มูลค่าตลาดเขาสูง โรงภาพยนตร์เขาเยอะ เทียบกับจำนวนประชากร 1 ล้านคนมี 50 โรง ในขณะที่ไทย 1 ล้านคนมี 15 โรง เขาใช้โมเดลในการผลักดันโลคอลคอนเทนต์ เพราะเข้าถึงคนไทยทั่วประเทศ ในปีนี้ก็มีการลงทุนหนังไทยมากขึ้น เพราะเมื่อดูรายได้หนังไทยในต่างจังหวัดมีสัดส่วนเกิน 50% ซึ่งพื้นที่ในต่างจังหวัดมีการเติบโตมีมาก”
กลายเป็นแผนที่เมเจอร์บุกตลาดต่างจังหวัดมากขึ้นเพราะด้วยแลนด์สเคปของการดูหนังเปลี่ยนไป คนต่างจังหวัดดูมากขึ้นแต่จำนวนโรงยังน้อย ซึ่งในอนาคตเมเจอร์เองต้องการขยายโรงหนังไปสู่ระดับตำบลเพื่อให้สะดวกสบายมากที่สุด
ปัจจุบันยังมีการขยายโรงภาพยนตร์ไปกับไฮเปอร์มาร์เก็ตเทสโก้ โลตัส และบิ๊กซีที่ขยายไปตามต่างจังหวัด ระดับอำเภอ มองว่าปีนี้จะได้เริ่มขยายไปสู่ระดับตำบลมากขึ้น พื้นที่ 6,000-8,000 ตารางเมตร มี 1-2 โรง 150-200 ที่นั่ง/โรง
ปัจจุบันเมเจอร์ฯ มีโรงภาพยนตร์ทั้งหมด 700 โรง แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 50% และต่างจังหวัด 50% ตามแผนของเมเจอร์จะมีครบ 1,000 โรงในปี 2563 แบ่งเป็นโรงภาพยนตร์ในไทย 900 โรง และในประเทศ CLMV อีก 100 โรง
ในปี 2559 เมเจอร์มีรายได้ทั้งกลุ่มรวม 10,000 ล้านบาท เติบโต 6% แบ่งเป็นรายได้จากตั๋วภาพยนตร์ ป็อปคอร์น และเครื่องดื่ม 65% พื้นที่ค้าปลีก 15% สื่อโฆษณา 10% และดิสทริบิวเตอร์ 10%