ดาวรุ่ง! “เมเจอร์” ดันธุรกิจป๊อปคอร์นนอกโรง ฟันธงปีหน้าธุรกิจโรงหนังคัมแบ็ก

“เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” คาดการณ์ปีหน้า 2566 อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์คัมแบ็ก! มีรายได้เทียบเท่าช่วงก่อนสถานการณ์ COVID-19 หรือในช่วงปี 2562 เป็นปีทองของธุรกิจโรงหนัง “วิชา พูลวรลักษณ์” มองว่ากราฟจะขึ้นแบบ V (Vicha) Shape ตอนนี้ธุรกิจป๊อปคอร์นเป็นดาวรุ่ง ดันยอดขายนอกโรง เป้าสัดส่วนรายได้ 50% เทียบเท่าตั๋วหนัง

2566 ปีแห่ง Fight Back!

ธุรกิจโรงภาพยนตร์เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่หลายคนมองว่าจะถูกดิสรัปต์โดยเทคโนโลยีต่างๆ ตั้งแต่ยุคของแผ่นซีดี แผ่นบลูเรย์ มาจนถึงยุคของ “สตรีมมิ่ง” โดยหลากหลายแอปพลิเคชันได้พาเหรดกันลงสู่ตลาด จนหลายคนคิดว่าจะแย่งเวลา แย่งอายส์บอลของผู้บริโภคไปได้

แต่แล้วสิ่งที่ดิสรัปต์ธุรกิจโรงภาพยนตร์มากที่สุดกลับเป็นไวรัส COVID-19 ไม่ใช่สตรีมมิ่งแต่อย่างใด กลับกลายเป็นว่าเป็นธุรกิจที่เสริมกัน เนื่องจากภาพยนตร์หลายเรื่องเมื่อออกโรงไปแล้วก็เข้าสตรีมมิ่งต่อทันทีภายใน 2-3 เดือน

เมื่อไวรัส COVID-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลกเมื่อปลายปี 2562 ทำให้ธุรกิจทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต่างต้องหยุดชะงัก เพราะมีการล็อกดาวน์เพื่อหยุดวงจรการระบาดของโรค หลายธุรกิจต้องปรับตัวอย่างหนัก เพราะไม่สามารถเปิดหน้าร้าน เปิดสถานประกอบการ ทำให้ขาดรายได้ เป็นวิกฤตการณ์ที่ทุกธุรกิจต้องพบเจออย่างหนัก

major

ธุรกิจโรงภาพยนตร์ได้รับผลกระทบอย่างรุ่นแรงเช่นกันไม่แพ้ธุรกิจสายการบิน ค้าปลีก หรือร้านอาหาร เพราะไม่สามารถเปิดให้บริการได้เลย “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” หนึ่งในผู้เล่นตลาดโรงภาพยนตร์ในไทยต้องเจอศึกหนัก เรียกว่าต้องงัดกลยุทธ์ทุกกระบวนท่าเพื่อประคองธุรกิจให้ผ่านไปได้

เมื่อปี 2562 เมเจอร์เคยทำรายได้ถึง 12,000 ล้านบาท และเคยตั้งเป้าว่าภายในปี 2568 หรือแผน 5 ปีข้างหน้า (ในตอนนั้น) จะมีรายได้ถึง 20,000 ล้านบาทให้ได้ พร้อมกับมีจำนวนโรงหนัง 1,200 โรง

แต่ฝันก็ดับวูบเมื่อเจอกับเจ้าไวรัสตัวร้าย ทำให้ปี 2563 เมเจอร์ถึงกับขาดทุนนับพันล้านบาทเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ทำธุรกิจมา เนื่องจากมาตรการล็อกดาว์นด้วยส่วนหนึ่ง ประกอบกับในสหรัฐอเมริกาก็มีการล็อกดาวน์ ทำให้การผลิตภาพยนตร์ก็หยุดชะงัก กลายเป็นว่าเมื่อเมืองไทยคลายล็อกดาวน์ เปิดโรงหนังได้ (แม้จะเป็นธุรกิจหลังๆ เลยก็ตาม) แต่ก็ไม่มีภาพยนตร์เด็ดๆ เข้าโรง เพราะฮอลลีวู้ดก็ไม่กล้าส่งหนังมาในสถานการณ์อย่างนี้ กลัวขาดทุนเช่นกัน

หลังจากประคองตัวมาได้ 2 ปี ในปีนี้ก็สามารถพูดได้ว่าสถานการณ์เกือบเท่าปกติในช่วงก่อน COVID-19 แล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจเปิดมากขึ้น มีการทำกิจกรรมกันปกติ ประชากรได้รับวัคซีนกันทั่วถึง ผู้บริโภคกลับมาใช้จ่าย และการท่องเที่ยวก็เริ่มกลับมาดีขึ้น

วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) เล่าว่า

“ปี 2565 นี้รายได้ของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์กลับมา 70% แล้ว เมื่อเทียบกับช่วงก่อน COVID-19 หรือปี 2562 ที่มีรายได้ 12,000 ล้านบาท ตั้งเป้าว่าปีหน้ารายได้จะกลับมาเทียบเท่าปี 2562 ให้ได้ จะเติบโตเป็น V Shape มาจาก Vicha Shape”

วิชายังเสริมอีกว่าปีหน้ามั่นใจว่าจะดีกว่าปีนี้อีกแน่นอน เพราะภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์จ่อคิวเข้าเยอะ ผู้บริโภคหลายคนมีพฤติกรรมชอบเข้าโรงภาพยนตร์มากกว่าดูสตรีมมิ่ง มีประสบการณ์ต่างกัน ปีหน้าจะเป็นปีแห่งการ Fight Back ของจริง!

เดินหน้า 3 เสาหลัก

ในการ Fight Back ของปีหน้า เมเจอร์เตรียมกลยุทธ์ไว้ 3 ส่วนด้วยกัน

  1. Customer Experience สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ผู้บริโภค ในปีที่ผ่านมามีการปรับโรงภาพยนตร์หลายแห่ง วิชาบอกว่ากลยุทธ์ก็คือ “ต้องขยับก่อน ให้ลูกค้ารู้สึกว่าการมาดูจอใหญ่แล้วสุดยอดจริงๆ”

– ระบบการฉายภาพยนตร์ IMAX ใหม่ล่าสุด กับ IMAX with Laser เป็นระบบการฉายภาพยนตร์ผสมผสานการฉายภาพด้วยเลเซอร์ระดับ 4K ด้วยระบบออปติคัลใหม่ ให้ภาพที่สว่างกว่าด้วยความละเอียดที่เพิ่มขึ้น จัดฉายที่โรงภาพยนตร์ 3 สาขา คือ พารากอน ซีนีเพล็กซ์, ไอคอน ซีเนคอนิค และจะขยายสาขาไอแมกซ์แห่งใหม่อีก 1 แห่ง พร้อมระบบการฉาย IMAX with Laser ที่ เมกา ซีนีเพล็กซ์

major

เปิดโรงภาพยนตร์ ScreenX PLF ในรูปแบบ Premium Large Format แห่งใหม่ ที่พารากอน ซีนีเพล็กซ์ แห่งที่ 2 หลังจากได้เปิดให้บริการโรงภาพยนตร์ ScreenX สาขาแรกที่โรงภาพยนตร์ ควอเทียร์ ซีเนอาร์ต เมื่อปี 2558 เป็นโรงภาพยนตร์รูปแบบพิเศษครบมิติ ด้วยความโดดเด่นของมุมมองการรับชมภาพที่กว้างมากขึ้นถึง 270 องศา ด้วย 3 จอขนาดยักษ์ที่ให้ภาพกว้างรวมกันมากถึง 55 เมตร ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์แบบแรกของโลกที่ใช้ระบบการฉาย 3 ทิศทาง คือ จอด้านหน้า และจอบนกำแพงด้านซ้ายและขวา ด้วยเครื่องฉายหลายตัว (Multi-Projection System)

ลงทุนในเทคโนโลยี CAPSULE HOLOGRAM เป็นโรงภาพยนตร์รายแรกของโลกที่ซื้อ CAPSULE HOLOGRAM ของ ARHT Media Inc. มาไว้ที่โรงภาพยนตร์พารากอน ซีนีเพล็กซ์ จะช่วยให้สามารถมอบประสบการณ์พิเศษแก่ผู้ชมที่ผสมผสานโลกแห่งความเป็นจริงและเมตาเวิร์ส ทั้งในโรงภาพยนตร์และในงานพิเศษต่างๆ

  1. การสร้าง Tollywood เน้นสร้างคอนเทนต์โลคอล ตั้งเป้าอยากให้มีหนังไทยมีมาร์เก็ตแชร์ 50% ในปีนี้ได้ลงทุนหนังไทย 11 เรื่อง จากหนังไทยรวม 40 เรื่อง วิชามองว่าในเครือเมเจอร์อยากผลิตหนังไทยเฉลี่ยเดือนละ 2 เรื่อง หรือปีละ 24 เรื่อง
  2. หารายได้จาก New Business มาจากป๊อปคอร์นเป็นหลัก วิชาเล่าว่าแต่ก่อนไม่เคยคิดจะทำ แต่พอตอน COVID-19 ต้องมาขายป๊อปคอร์นเดลิเวอรี่ ตอนนั้นทำรายได้เดือนละ 20 กว่าล้าน ค่อนข้างเซอร์ไพรส์

“ป๊อปคอร์น” ลูกรักคนใหม่

แต่ก่อนธุรกิจป๊อปคอร์นจะล้อไปกับการชมภาพยนตร์ แต่ในช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา เมเจอร์ได้งัดกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อให้ป๊อปคอร์นเข้าถึงผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด ทำให้ธุรกิจในส่วนนี้มีการเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะยอดขายป๊อปคอร์นนอกโรงหนัง (Out Cinema) ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2562 ปัจจุบันมีช่องทางการจัดจำหน่าย ดังนี้

major

  • Delivery : ผ่าน Grab, Food Panda, Line Man, Shopee Food, Robinhood, Air Asia Food
  • Kiosks & Event : ณ สิ้นปี 2565 มี Kiosks สาขานอกโรงภาพยนตร์บริการรวม 19 สาขา และในปี 2566 จะมี Kiosks บริการเพิ่มอีก 20 สาขา
  • Modern Trade : ผ่าน Convenience Store เซเว่น อีเลฟเวน, Discounted Store โลตัส บิ๊กซี และ Supermarket ได้แก่ วิลล่า มาร์เก็ท, กูร์เมต์ มาร์เก็ต และโฮม เฟรช มาร์ท, ท็อปส์ มาร์เก็ต และ ฟู้ดแลนด์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต
  • Major Mall

วิชามองว่า ปีหน้าอยากให้รายได้ของป๊อปคอร์นเท่าๆ กับตั๋วหนัง ถ้ามีรายได้ 12,000 ล้านบาท รายได้จากป๊อปคอร์น 6,000 ล้านบาท และรายได้จากตั๋วหนัง 6,000 ล้านบาท ในปีนี้ป๊อปคอร์นมีรายได้ 2,500 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนการขายในโรง 40% และนอกโรง 60%

สำหรับในปี 2566 เมเจอร์จะขยายสาขาโรงภาพยนตร์มากที่สุดในรอบ 3 ปี ถึง 13 สาขา 49 โรง ด้วยงบลงทุนประมาณ 600 ล้านบาท เปิดที่ One Bangkok จับมือกับเซ็นทรัล เปิดที่ เซ็นทรัล เวสต์ วิลล์ ราชพฤกษ์ จับมือกับโรบินสัน เปิดที่ โรบินสัน ฉลอง จับมือกับโลตัส เปิดที่ นครนายก, สระแก้ว, นราธิวาส, ปัตตานี จับมือกับบิ๊กซี เปิดที่ บางบอน, สระบุรี, ยะลา เปิดกับไฮเปอร์ มาร์เก็ต 2 สาขา และ เปิดสาขาสแตนด์อโลนที่ภูเก็ต ตลอดจนขยายสาขาโบว์ลิ่งเพิ่มอีก 3 สาขา 40 เลน และคาราโอเกะ 30 ห้อง

major

ปัจจุบัน เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป มีสาขาโรงภาพยนตร์ที่เปิดให้บริการ ณ สิ้นปี 2565 รวมทั้งสิ้น 180 สาขา 839 โรง 188,973 ที่นั่ง แยกเป็น

ในประเทศ 172 สาขา 800 โรง 180,081 ที่นั่ง

  • สาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 44 สาขา 346 โรง 77,605 ที่นั่ง
  • สาขาในต่างจังหวัด 128 สาขา 454 โรง 102,919 ที่นั่ง

ต่างประเทศ 8 สาขา 39 โรง 8,449 ที่นั่ง

  • สาขาในประเทศลาว 3 สาขา 13 โรง 3,235 ที่นั่ง
  • สาขาในประเทศกัมพูชา 5 สาขา 26 โรง 5,368 ที่นั่ง

โบว์ลิ่ง บลูโอ ริธึม แอนด์ โบว์ล เปิดให้บริการ 8 สาขา 210 เลน, คาราโอเกะ 121 ห้อง, ห้องแพลตตินั่ม 9 ห้อง

อ่านเพิ่มเติม