พูดคุยกับ “วิชา พูลวรลักษณ์” ซีอีโอนักสู้แห่งโรงหนังเมเจอร์ ที่ในปีนี้เจอศึกหนักครั้งใหญ่ ถึงกับเป็นการขาดทุนครั้งแรก กับประเด็นความท้าทายทั้งไวรัส COVID-19 ไม่มีหนังใหม่เข้า ต้องปรับกระบวนท่ายกใหญ่ เน้นหนังไทย จับมือกับสตรีมมิ่ง รวมถึงเปิดเกมรุกขาย “ป๊อปคอร์น” นอกโรง
Dark Year ของอุตสาหกรรมหนัง
ในปี 2019 ตลาดโรงภาพยนตร์มีการจำหน่ายตั๋วที่สูงที่สุด 36.5 ล้านใบ ในปี 2020 จำนวนตั๋วลดลงถึง 60% สะท้อนถึงวิกฤตของธุรกิจโรงภาพยนตร์
ดูเหมือนว่าปีนี้เป็นปีที่ยากลำบากของหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ “โรงภาพยนตร์” เพราะเมื่อมีการล็อกดาวน์ ทำให้ไม่มีรายได้ ถึงแม้ว่าจะมีการเปิดให้บริการตามปกติหลังจากคลายล็อกดาวน์ ก็ยังต้องรักษามาตรการเว้นระยะห่าง ทำให้ไม่สามารถจำหน่ายตั๋วได้เต็มโรงแบบ 100% แถมยังบริโภคอาหารภายในโรงไม่ได้
แต่ปัญหาที่ใหญ่สุดคนจะเป็น การที่ไม่มี “ภาพยนตร์ใหม่” เข้าฉาย เนื่องการสถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกายังคงรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ค่ายหนังต่าง ๆ จึงพาเหรดเลื่อนโปรแกรมหนังไปปีหน้ากันทั้งสิ้น ทำให้เมเจอร์ต้องแก้เกมด้วยการเอาหนังไทยมาฉาย
ซึ่งใครที่ตามข่าวในแวดวงภาพยนตร์ หรือเป็นแฟนหนัง จะทราบกันดีว่า ปีนี้จะเป็นปีทองของวงการภาพยนตร์อีกปีหนึ่ง เนื่องจากมีโปรแกรมหนังฟอร์มยักษ์เข้าฉายมากมาย แต่เป็นอันต้องกินแห้วเนื่องจากสถานการณ์ยังไม่พร้อมฉาย หลังจากที่เจอปัญหาไม่มีหนังฉาย ทำให้ผู้บริโภคไม่ออกมาดูหนังเท่าที่ควร
เลยกลายเป็นว่า “คนยังอยากดูหนัง แต่ไม่มีหนังเข้าฉาย”
วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ถึงกับบอกเลยว่า ปีนี้เป็น Dark Year ของอุตสาหกรรม เป็นจอมืดเลย ปีนี้ขาดทุนเกือบพันล้าน จากที่ไม่เคยขาดทุนเลย ไม่เคยเจอแบบนี้มาก่อน ตอนแรกคิดว่าไม่เป็นอะไรมาก เพราะโรงหนังเป็นธุรกิจที่ขึ้นอยู่กับตลาดในประเทศ ไม่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยว แต่ที่คิดไม่ถึงก็คือมีการระบาดหนักที่สหรัฐอเมริกา ทำให้หนังใหญ่ ๆ เลื่อนฉายหมดเลย
วิชาเสริมอีกว่า ตอนที่กลับมาเปิดโรงหนังใหม่หลังล็อกดาวน์ช่วงเดือนมิ.ย. ตอนนั้นก็ไม่มีหนังใหม่ ๆ แต่ก็ไม่อยากปิดโรงต่อ ด้วยความที่เป็น “นักสู้” อยู่แล้ว เลยสู้ด้วยหนังไทย มีเรื่องมนต์รักดอกผักบุ้งเข้าฉาย ตอนนั้นก็กลัวว่าพอไม่มีหนัง คนจะมาดูหรือเปล่า เหมือนซูเปอร์มาร์เก็ตที่ไม่มีของขาย
“แต่ก็พบว่าคนยังรักโรงหนัง มีไลฟ์สไตล์ดูหนัง หนังบางเรื่องก็ทำรายได้ดี สิ่งที่ทำให้ดีใจคือ คนยังดูหนัง เพียงแต่ไม่มีหนังเท่านั้นเอง”
เร่งเสริมหนังไทย ต้องเข้าสตรีมมิ่งทุกเรื่อง!
จากปี 2020 ที่ต้องเจอกับความท้าทายรอบด้าน ทำให้เมเจอร์ต้องจับทัพปรับหน่วยธุรกิจใหม่ โดยเน้นที่ 3T ได้แก่ Thai Movies, Technology และ Trading
“หนังไทย” จะกลายเป็นธุรกิจที่สำคัญของเมเจอร์ในปีหน้า เรียกว่าโลคอลคอนเทนต์จะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยฝ่าวิกฤต โดยลดการพึ่งพาคอนเทนต์จากฮอลลีวูด ที่ผ่านมามีหนังไทย 2 เรื่องที่ทำให้ตลาดหนังไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง นั่นคือ เรื่อง “มนต์รักดอกผักบุ้ง เลิกคุยทั้งอำเภอ” ตอบโจทย์คนดูทางภาคใต้ ทำรายได้ไปถึง 43 ล้านบาท ตามมาด้วย “อีเรียมซิ่ง” ซึ่งขณะนี้กวาดรายได้ไปแล้ว 200 ล้านบาท
ในปี 2020 เมเจอร์ได้ลงทุนผลิตหนังไทยผ่านค่ายในเครือ 6 ค่าย ได้แก่ M PICTURES, M๓๙, Transformation Film, CJ MAJOR Entertainment, TAI MAJOR และ รฤก โปรดักชั่น รวม 11 เรื่อง แต่ปีหน้ามีแผนลงทุน 20-25 เรื่อง ใช้งบลงทุนราว 350-400 ล้านบาท เป็นการผลิตเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากที่เคยผลิตเพียงปีละ 10-12 เรื่อง
อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่น่าสนใจ ก็คือการเป็นพาร์ตเนอร์กับ “สตรีมมิ่ง” ด้วยการนำหนังไทยเข้าไปฉายในสตรีมมิ่งทั้งหมด เป็นการตอบคำถามได้อย่างชัดเจนว่า สตรีมมิ่งจะเป็นคู่แข่งคนสำคัญของโรงหนัง ทำให้คนไม่ไปดูหนัง แต่จริง ๆ แล้วสตรีมมิ่งเป็นพาร์ตเนอร์ที่ช่วยสร้างตลาดให้เติบโตได้
วิชามองว่าจะเอาหนังไทยทุกเรื่องที่ฉายในโรง เข้าฉายในสตรีมมิ่งทุกเรื่อง จะเป็นช่วง 3 เดือนหลังจากที่ฉายในโรงแล้ว มองผู้เล่นที่สำคัญได้แก่ NetFlix, Disney+ และ HBO GO
“ต่อไปหนังไทยทุกเรื่องจะต้องเข้าสตรีมมิ่ง ตอนนี้เป็นช่องทางที่ 2 ที่คนเข้าถึงนอกจากโรงหนัง ที่สำคัญคืออยากทำคอนเทนต์โลคอลไปโกลบอลให้ได้ การที่เข้าไปอยู่ในสตรีมมิ่งทำให้คนรู้จักมากขึ้น ฉายได้ยาว”
ถ้าถามว่าหนังในดวงใจที่วิชาชอบที่สุดในปีนี้คือเรื่องอะไร วิชาตอบอย่างไม่คิดเลยว่า “อีเรียมซิ่ง” ซิ่งมากับร้อยล้าน
สำหรับเรื่อง Technology จะมีการลงทุนอีก 100-200 ล้านบาท เน้นการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทันสมัยเข้ามาเติมเต็มในการให้บริการมากขึ้น รวมไปถึงพัฒนาให้ Personalize มากขึ้น
ลุยขายป๊อปคอร์น ขายทุกอย่างที่ขายได้
ในช่วงล็อกดาวน์ เมเจอร์ต้องปรับตัวในการหารายได้แทนการขายตั๋ว ลุยขายสินทรัพย์ของตัวเองหลาย ๆ อย่าง พระเอกหลักก็คือ “ป๊อปคอร์น” ได้กลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่จะสร้างรายได้ให้เมเจอร์มากขึ้นผ่าน Trading ในช่วงนั้นเมเจอร์เริ่มจากขายป๊อปคอร์นสดที่ขายหน้าโรงหนัง แล้วใช้บริการเดลิเวอรี่ส่งตามบ้าน บริการ “Major Popcorn Delivery” จนได้พัฒนาเป็นป๊อปคอร์นรูปแบบใหม่ ๆ เพิ่มความสะดวกมากขึ้น และมีแผนที่จะนำป๊อปคอร์นจำหน่ายนอกโรงหนังด้วย
“แรก ๆ ที่ขายก็มีรายได้ไม่กี่แสน แต่พอทำไปทำมาก็สามารถขึ้นอันดับหนึ่งสินค้าขายดีในช้อปปี้เมื่อเดือนที่แล้ว”
วิชาเปิดเผยถึงกลยุทธ์นี้ว่า ต้องทำธุรกิจใหม่ ขายให้เป็น เปิดเกมรุกในการขายของ ขายทุกอย่างที่เรามี ไม่ใช่แค่เปิดบ้านขายของเท่านั้น แต่จะทำสินค้าเข้าขายซูเปอร์มาร์เก็ตอื่น ๆ ด้วย ปกติทำแต่ป๊อปคอร์นร้อน ตอนนี้ทำป๊อปคอร์นเย็นที่สามารถซื้อกินที่บ้านได้ ทำที่บ้านได้ ขายทุกช่องทางที่เมเจอร์ ซูเปอร์มาร์เก็ต และออนไลน์
ทำให้ตอนนี้มีสินค้าในไลน์ของป๊อปคอร์น ได้แก่
– ป๊อปคอร์น Pop Corn Supersize ป๊อปคอร์นถังใหญ่ ขนาด 355 ออนซ์
– Pop To Go ป๊อปคอร์นในถุงซิปล็อก ขนาด 75 ออนซ์
– POP STAR ป๊อปคอร์นพรีเมียมบรรจุในกระป๋อง ขนาด 60 ออนซ์
– ป๊อปคอร์น พรีเมียม POPSTAR 3 รูปแบบ คือ ป๊อปสตาร์ สแน็ค ป๊อปคอร์นแบบซอง, ป๊อปสตาร์ ไมโครเวฟ รสชีส และ ป๊อปสตาร์พรีเมียม ทินแคน ป๊อปคอร์นบรรจุกระป๋อง
ในปี 2019 กลุ่มป๊อปคอร์นมีรายได้กว่า 2,000 ล้านบาท เป็นการรวมเคาน์เตอร์ป๊อปคอร์นหน้าโรงหนังทั้งหมด หลังจากมีการเปิดธุรกิจ Trading มีการตั้งเป้าว่าจะมีสัดส่วน 10% ของรายได้กลุ่มป๊อปคอร์น หรือ 200 ล้านบาท
ปีหน้าต้องกลับมาแบบ V Shape เพราะมี Vicha
หลังจากเกิดวิกฤตในการทำธุรกิจ ทำให้รายได้ หรือผลประกอบการตกต่ำลงไปอย่างมาก เมื่อผ่านเหตุการณ์ในช่วงนั้นมา หลายธุรกิจก็หวังการเติบโตขึ้น ซึ่งในภาษาของธุรกิจจะมีทั้ง V Shape, U Shape หรือ W Shape เพื่อเปรียบเทียบกราฟผลประกอบการ
สำหรับเมเจอร์นั้นวิชาบอกว่า ปีหน้าต้องกลับมาเป็นแบบ V Shape ให้ได้ เพราะผมคือ Vicha เล่นกิมมิกกับชื่อตัวเองนั่นเอง หลังจากที่ปี 2019 เมเจอร์มีกำไรสูงที่สุด ปีนี้มีการขาดทุน แต่ปีหน้าต้องกลับมาโตเท่าปี 2019 ให้ได้
ปัจจัยที่คิดว่าจะกลับมามีรายได้ และผลประกอบการที่ดีขึ้น มั่นใจว่าหนังใหญ่ ๆ จะกลับมาฉาย ปี 2021 จะเป็นปีที่ Movie is back, No Time To Die จะมีหนังเข้าฉายมากถึง 260 เรื่อง เป็นหนังฮอลลีวูดประมาณ 210 เรื่อง เป็นหนังไทยประมาณ 50 เรื่อง
หนังฮอลลีวูดที่เข้าฉาย 210 เรื่องนั้น ส่วนหนึ่งเป็นหนังที่เลื่อนฉายจาก ปี 2020 จะเป็นหนังที่หลายคนรอคอยการกลับมาฉาย ซึ่งเป็นหนังฮอลลีวูด บ็อกซ์บัสเตอร์ฟอร์มยักษ์ที่คาดว่าจะทำเงิน ได้แก่ Black Widow, Godzilla VS Kong, Fast & Furious 9, Mission : Impossible 7, Spider-Man Sequel, The Matrix 4, Venom 2, The Conjuring 3, Mortal Kombat, The King’s Man, Morbius, No Time to Die, A Quiet Place Part 2, Infinite, Top Gun 2 : Maverick, Minions : The Rise of Gru, Shang-Chi and the Legend of the Ten Rings, Jungle Cruise, The Suicide Squad 2, Dune, The Eternals
ถ้าถามว่าจากวิกฤตครั้งนี้ได้เรียนรู้อะไรบ้าง วิชาบอกว่าต้อง Fast และ Flexible เป็นสิ่งที่ CEO ต้องทำ ต้องสู้ ถ้าปรับตัวได้เก่งก็จะอยู่ได้ เป็นธรรมชาติของธุรกิจ
ที่สำคัญทำให้ได้คิดว่า “พอเราเป็นคนทำโรงหนัง ก็คิดว่าเป็นโรงหนังมาตลอด พอ COVID-19 มา ทำให้ต้องมาคิดใหม่ ต้องเป็น Content Provider หน้าที่เราคือต้องทำคอนเทนต์ให้เข้าถึงคนดูให้ได้ การลงทุนทำหนังทำให้มีรายได้มากขึ้น แต่ก่อนเป็นโรงหนัง เอาหนังมาฉายก็ได้ 50% แต่พอมีหนังไทยที่เป็นเจ้าของผลิตด้วย ก็มีรายได้มากขึ้น”
สำหรับแผนการขยายสาขาในปี 2021 เมเจอร์ลงทุนขยายสาขาในต่างจังหวัด 8 สาขา 24 โรง และสาขาในกัมพูชา อีก 2 สาขา 6 โรง ใช้งบลงทุนรวม 200 ล้านบาท
ปัจจุบัน เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป มีสาขาที่เปิดให้บริการรวมทั้งสิ้น 172 สาขา 817 โรง 185,874 ที่นั่ง แยกเป็น
– สาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 47 สาขา 357 โรง 81,388 ที่นั่ง
– สาขาในต่างจังหวัด 117 สาขา 421 โรง 96,037 ที่นั่ง
– สาขาในต่างประเทศ 8 สาขา 39 โรง 8,449 ที่นั่ง