“บิล เกตส์” เขียนโพสต์ถึงปี 2021 ความท้าทายคือการผลิต “วัคซีน” ให้พอแก่คนทั้งโลก

(Photo by John Lamparski/Getty Images)
บิล เกตส์ มหาเศรษฐีระดับโลก เขียนโพสต์ส่งท้ายปีในบล็อกส่วนตัว GatesNotes เมื่อวันอังคารที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา กล่าวถึงวิกฤตโรคระบาด COVID-19 ที่คร่าชีวิตผู้คนและส่งผลต่อเศรษฐกิจในปีนี้ กับความหวังต่อวิทยาศาสตร์ที่จะสามารถผลิต “วัคซีน” ให้เพียงพอแก่ความต้องการของคนทั้งโลกโดยเร็วที่สุดในปี 2021

“เป็นปีแห่งการทำลายล้างทุกสิ่ง” คือประโยคแรกที่ “บิล เกตส์” เขียนในโพสต์ส่งท้ายปี 2020 ปกติเกตส์มักจะสื่อสารเรื่องต่างๆ ผ่านบล็อกส่วนตัวของเขาเสมอ หลายครั้งที่เขาแนะนำหนังสือดีประจำปี แต่ปีนี้เกตส์เขียนโพสต์ยาวเหยียดถึงโลกในปี 2020 และความหวังต่อปี 2021

บิล เกตส์ เป็นมหาเศรษฐีอันดับ 4 ของโลก ตามการจัดอันดับของ Forbes ด้วยมูลค่าทรัพย์สินกว่า 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งนั่นคือทรัพย์สินที่เขาเหลืออยู่หลังจากตั้งมูลนิธิร่วมกับภรรยา เมลินดา เกตส์ บริจาคหุ้นใน Microsoft และทรัพย์สินต่างๆ เข้ามูลนิธิเพื่อนำไปใช้เชิงสาธารณกุศล

โดยเฉพาะปีนี้ที่การวิจัยพัฒนาวัคซีนต้าน COVID-19 เป็นสิ่งสำคัญ มูลนิธิของบิลและเมลินดา เกตส์ บริจาคเงินไปแล้ว 420 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อวิจัย พัฒนา ผลิต และแจกจ่ายวัคซีนให้กับประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง

 

ข่าวดีปี 2021: วัคซีนพัฒนาเร็ว

เกตส์เขียนในโพสต์ของเขาว่า โรคระบาด COVID-19 คร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 1.6 ล้านคนทั่วโลก และมีผู้ติดเชื้อสะสม 73 ล้านคน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจนับล้านล้านเหรียญสหรัฐ เขายังระบุไปถึงเรื่องร้ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในปี 2020 ที่กระหน่ำซ้ำเติมโรคระบาดในสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นการฆาตกรรม “จอร์จ ฟลอยด์” และ “บรีออนนา เทย์เลอร์” เหตุไฟป่าครั้งใหญ่ และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ก่อกระแสปัญหาไปทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม เกตส์มองว่า “มีข่าวดีรออยู่ในปี 2021” เนื่องจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ทำให้การพัฒนาวัคซีนต้านโรค COVID-19 สำเร็จและเริ่มแจกจ่ายแล้ว “มนุษยชาติไม่เคยก้าวหน้าในการป้องกันโรคใดภายในเวลาปีเดียว เหมือนอย่างความคืบหน้ากับไวรัสโคโรนาซึ่งเกิดขึ้นในปีนี้” แม้ว่าปกติวัคซีนอาจต้องใช้เวลามากถึง 10 ปีในการพัฒนา นักวิทยาศาสตร์ในปีนี้สามารถพัฒนาวัคซีน COVID-19 ขึ้นมาหลายตัว ทำให้ทุกคนควรมีความหวังต่อปี 2021 ที่จะมาถึง

เกตส์เขียนต่อไปว่า วัคซีนจาก Moderna และ Pfizer/BioNTech น่าจะ “อยู่ในระดับที่สร้างแรงกระเพื่อมในระดับโลกได้” จำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อในประเทศร่ำรวยจะเริ่มลดลงก่อน “ชีวิตจะกลับมาใกล้เคียงคำว่าปกติมากกว่าเดี๋ยวนี้”

เขายังอธิบายเชิงเทคนิกเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนด้วยว่า หลักการคือการโจมตี “โปรตีน” ซึ่งเป็นส่วนประกอบสร้างหนามแหลมที่ยื่นออกมาจากตัวไวรัสโคโรนา (และเป็นที่มาของชื่อโคโรนาซึ่งแปลว่ามงกุฏ) ดังนั้น เมื่อนักวิจัยรู้ถึงวิธีการทำงานของโปรตีนตัวนี้ น่าจะมองในแง่บวกได้ว่า วัคซีนตัวอื่นที่กำลังพัฒนาบนหลักการเดียวกัน จะได้ผลเช่นกัน

 

ความท้าทาย : ผลิตวัคซีนให้พอกับคนทั้งโลก

แต่ความท้าทายต่อไปยังมีอยู่ นั่นคือ “การผลิตวัคซีนให้เพียงพอกับคนทั้งโลก” โลกเราจะต้องการวัคซีน 5,000-10,000 ล้านโดส ขึ้นอยู่กับว่าวัคซีนต้องฉีดเข็มเดียวหรือสองเข็มจึงจะมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เห็นบริบทได้ชัด เกตส์กล่าวว่า ปกติบริษัทผลิตวัคซีนทั้งโลกมีกำลังผลิตรวมกัน 6,000 ล้านโดสต่อปี สำหรับการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดและโรคที่ต้องฉีดเพิ่มภูมิคุ้มกันตั้งแต่เด็กทั้งหลาย

vaccine covid-19 pfizer

เพื่อให้ผู้ผลิตวัคซีน COVID-19 สามารถผลิตได้มากขึ้นโดยไม่ต้องสละหยุดผลิตวัคซีนที่เราฉีดเป็นประจำ มูลนิธิของเขาได้เชื่อมโยงบริษัทวัคซีนในประเทศร่ำรวยเข้ากับผู้ผลิตวัคซีนในประเทศกำลังพัฒนา โดยทำสัญญาเรียกว่า “สัญญาแหล่งผลิตทุติยภูมิ” ผู้ผลิตเหล่านี้จะสามารถสร้างวัคซีนในราคาเข้าถึงได้ ด้วยปริมาณที่มากพอ

การทำสัญญานี้แปลกประหลาดอย่างไร เกตส์พยายามอธิบายว่า สัญญาแหล่งผลิตทุติยภูมิก็เหมือนกับบริษัท Ford ยินยอมให้โรงงานแห่งหนึ่งแก่ Honda ใช้ผลิตรถยนต์รุ่น Accord ได้เป็นการชั่วคราว ที่เกิดความแปลกประหลาดนี้ได้ เพราะความเร่งด่วนฉุกเฉินในโลกทำให้บริษัทยาต่างเล็งเห็นประโยชน์ที่ดีกว่า หากจะร่วมมือกันทำงานเช่นนี้

แล้วมูลนิธิของเกตส์เข้าสนับสนุนอะไร? กรณีตัวอย่างที่ดำเนินการแล้วเช่น Serum Institute of India หนึ่งในผู้ผลิตวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดของโลก เริ่มผลิตวัคซีนของ AstraZeneca (AZ) แล้ว ล่วงหน้าก่อนที่วัคซีนของ AZ จะได้รับการรับรอง แต่เมื่อได้รับอนุมัติเมื่อไหร่ ประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางจะมีวัคซีนใช้ทันที โดยมูลนิธิของเกตส์รับความเสี่ยงด้านเงินทุนไว้บางส่วน หากวัคซีนไม่ได้รับอนุมัติ บริษัท Serum จะไม่ต้องรับต้นทุนความเสียหายทั้งหมดคนเดียว

ทั้งนี้ เมลินดาและบิล เกตส์ จะอภิปรายสาธารณะอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการบริจาคเพื่อสนับสนุนวัคซีน เพราะพวกเขาเชื่อในการร่วมรับผิดชอบจากการให้คืนความมั่งคั่งของตนกลับสู่สังคม

 

ชุดตรวจเชื้อจะ “ไม่เจ็บ” และ “เห็นผลใน 15 นาที”

เกตส์เขียนต่อว่า ความหวังอีกอย่างของปี 2021 คือ ชุดตรวจเชื้อโรค COVID-19 ด้วยการ swab ใช้สำลีแหย่ลึกในโพรงจมูกซึ่งสร้างความรู้สึกไม่สบายตัวผู้รับการตรวจ อาจจะกลายเป็นวิธีการที่ล้าสมัยในไม่ช้า เพราะองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) เพิ่งจะให้การอนุมัติชุดตรวจที่ทำเองได้ที่บ้านเมื่อสัปดาห์ก่อน วิธีการนี้ยังเป็นการ swab โพรงจมูก แต่ไม่ต้องแหย่ลึกเหมือนที่เคยทำกันมา แถมยังไม่ต้องรอผลจากแล็บด้วย

การตรวจหาเชื้อโรคระบาด COVID-19 (Photo : Shutterstock)

การวิจัยที่ให้ทุนโดยมูลนิธิของเกตส์พบว่า ชุดตรวจเองที่บ้านนี้ให้ผลแม่นยำเท่าๆ กับการตรวจแบบเก่า และมีบริษัทอีกหลายแห่งที่กำลังพัฒนาชุดตรวจที่เป็นมิตรกับผู้ใช้มากกว่าและให้ผลภายใน 15 นาที ซึ่งถ้าหากใช้โดยแพร่หลาย เกตส์มองว่าจะทำให้การแทร็กติดตามการแพร่เชื้อเร็วขึ้นอีก

เขายังสรุปในโพสต์ด้วยความท้าทายทางวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง (ที่เราอาจจะเริ่มลืมๆ กันไปแล้ว) คือเรื่อง “โลกร้อน” เกตส์มองว่าการเปลี่ยนตัวประธานาธิบดีเป็น “โจ ไบเดน” จะทำให้การบริหารของประเทศสหรัฐฯ มุ่งเน้นเรื่องสู้โลกร้อนมากกว่าที่เคย “สหรัฐฯ จัดสมดุลแล้วเพื่อกลับสู่ตำแหน่งผู้นำ” ในแง่ของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเขายังรอคอยการประชุม UN ในเดือนพฤศจิกายน 2021 ซึ่งจะดึงผู้นำโลกมาพูดคุยเรื่องโลกร้อนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่งานประชุมที่ปารีสในปี 2015

ปี 2021 ของเกตส์เต็มไปด้วยความหวังจากการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ และเชื่อว่าอะไรๆ จะดีขึ้นจากปี 2020 แล้วคุณล่ะ…มองเห็นความหวังในปี 2021 อย่างไร?

(อ่านโพสต์ฉบับเต็มเป็นภาษาอังกฤษของบิล เกตส์ ได้ที่นี่)