ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตลาดเพย์ทีวี หรือบริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกจะคึกคักเป็นพิเศษ เพราะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามา หลังจากที่ตลาดนี้เป็นโมโนโพลีผูกขาดที่ผู้เล่นรายเดียวมาโดยตลอด แต่การที่จะอยู่รอดในตลาดนี้ก็เป็นความ้ทาทายเช่นกัน ในปีที่ผ่านก็ได้เห็นการเข้ามาแล้วจากไปของแบรนด์ใหญ่อยู่
แต่ก็ดูเหมือนว่าตลาดนี้ยังมีช่องว่างและโอกาสทางธุรกิจอยู่ เพราะในปีนี้ก็มีผู้เล่นรายใหม่กระโจนเข้ามาในตลาดอีกราย “Good TV” โดยบริษัท เนกซ์สเตป จำกัด ซึ่งเป็นหน้าเก่าในตลาดคอนเทนต์ที่เข้าไปอยู่ในช่องต่างๆ อย่างรายการสำรวจโลก เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2543 จากนั้นได้เริ่มขยายรายการสารคดีอื่นๆ และรายการประเภทอื่นเพื่อป้อนแก่ผู้ให้บริการเคเบิลทีวี
เนกซ์สเตปเริ่มคิดใหญ่ขึ้นในการที่อยากมีแพลตฟอร์มเป็นของตัวเอง จึงเริ่มต้นจากโครงข่ายทีวีดาวเทียม FreeviewHD เมื่อปี 2558 โดยความร่วมมือกับ Intelsat ผู้ให้บริการสื่อสารดาวเทียมระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา และกสท จนล่าสุดในปีนี้เนกซ์สเตปได้คลอดเพย์ทีวีเป็นของตัวเองในชื่อ Good TV บนโครงข่ายทีวีดาวเทียมของตนเอง ต่อจากนี้ก็จะทำตลาดผ่านแบรนด์ Good TV เพียงแบรนด์เดียวเพื่อไม่ให้สับสน
จิรัฐิติ โรจนานนท์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เนกซ์สเตป จำกัด เล่าให้ฟังว่า ที่จริงการเปิดตัวกู๊ดทีวีเร็วกว่ากำหนดด้วยซ้ำ แผนตอนแรกจะเปิดตัวในปี 2561 แต่ด้วยช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะเพราะด้วยปัจจัยทั้งมีผู้เล่นหยุดให้บริการ และมีผู้ล่นที่เปลี่ยนรูปแบบการให้บริการเป็น IPTV รวมถึงมีความพร้อมเรื่องคอนเทนต์ที่จับมือกับ FOX ทำให้เริ่มดีเดย์เปิดให้บริการ 1 มีนาคมนี้“
จิรัฐิติได้ฉายภาพตลาดเพย์ ทีวีในปัจจุบันด้วยว่าเป็นตลาดที่นิ่งๆ มานานเพราะมีผู้เล่นใหญ่รายเดียว แต่เริ่มมีการแข่งขันดุเดือดขึ้นหลังจากมีผู่เล่นใหม่เข้ามา มีการแย่งคอนเทนต์ และแย่งฐานลูกค้า จนตอนนี้ผู้เล่นก็ได้หายไปจากตลาดทำให้เกิดข่องว่างเป็นหลุมดำที่ทำให้รายใหม่เข้าไปทำตลาดได้ ตลาดนี่ยังต้องแข่งกันด้วยคอนเทนต์อยู่ แต่มองเทรนด์ผู้เล่นอื่นเขามองไปยังตลาด IPTV กันมากกว่า ทางเนกซ์สเตปยังคงเชื่อในตลาดเพย์ทีวีว่ายังมีโอกาสมากกว่า
นอกจากปัจจัยเรื่องผู้เล่นที่หายไปในตลาด ยังมีเรื่องการเข้าถึงเพย์ทีวีในประเทศไทยที่ยังอัตราน้อยมาก มีการประเมินผู้ใช้เพย์ทีวีทั้งประเทศราว 2 ล้านครัวเรือน จากจำนวน 23 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ คิดเป็น 10-15% เท่านั้น ในขณะที่ต่างประเทศอย่างมาเลเซีย เกาหลีมีสัดส่วนเพย์ทีวี 70% เพราะด้วยคนไทยยังติดเรื่องราคา และความเข้าใจต่อระบบเพย์ทีวีอยู่
กู๊ดทีวีจึงใช้จุดเด่น 3 เรื่อง ราคา คอนเทนต์ระดับ HD และคัดเลือกช่องคุณภาพ เรื่องราคาที่เข้าถึงได้ง่าย ถ้าแพ็กเกจ Silver จะมีค่าแรกเข้า 3,590 บาท แต่ถ้าบ้านไหนมีจาน KU band อยู่แล้วจะเหลือ 2,590 บาท สามารถดูได้ตลอดชีพ และใช้คอนเทนต์จาก FOX เป็นแม็กเน็ต รวม 8 ช่อง ถ้าอยากดูเพิ่มก็เสียค่าบริการรายเดือน 300 บาท จะเน้นคอนเทนต์ HD โดยที่การจับมือร่วมกับกับ FOX ได้มีการเจรจาเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งทาง FOX เองก็มีแผนที่จะขยายคอนเทนต์ให้เข้าถึงผู้บริโภคให้มากขึ้นอยู่แล้วด้วย
ยังคงเชื่อว่าถ้ามีคอนเทนต์ที่ดี ยังไงก็มีผู้บริโภคใช้บริการ อย่างเทรนด์เรื่องของ IPTV ที่กำลังบูมในช่วงนี้ หลายคนที่ไปใช้เพราะได้ดูคอนเทนต์เยอะๆ แต่ด้วยเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไม่ได้เสถียรตลอด และโครงข่ายก็ไม่ได้ครอบคลุมทั่วประเทศ ต้นทุนในการติดเพย์ทีวียังน้อยกว่าติด IPTV เพราะไม่ต้องเสียค่าอินเทอร์เน็ต
แต่เดิมที่เป็น FreeviewHD มีฐานลูกค้าอยู่ราวแสนราย จะเริ่มทำตลาดจากฐายลูกค้าเดิมก่อน จากนั้นค่อยขายตลาดเน้นกลุ่มครอบครัวระดับกลางในกรุงเทพฯ และจังหวัดใหญ่ๆ ก่อน โดยตั้งเป้ามีผู้ใช้ 5 แสนรายใน 3 ปี ในปีนี้มีการใช้งบการตลาด 30 ล้านบาท มีการโรดโชว์ทั่วประเทศเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภค
แต่ต้องบอกว่ากู๊ดทีวียังมีข้อจำกัดที่จำนวนช่องน้อยอยู่ที่ 57 ช่อง รวมช่องดิจิทัลทีวีแล้ว เป็นช่อง HD 24 ช่อง แต่ถ้าไม่จ่ายค่าบริการรายเดือนสามารถดูได้แค่ 44 ช่อง และเป็น 11 ช่อง HD และช่องยังไม่ครอบคลุมในกลุ่มคอนเทนต์กีฬาด้วย
ทำให้ตอนนี้ตลาดเพย์ทีวีเป็นตลาดที่ค้องจับตามองอยู่ไม่น้อย เพราะถึงแม้เทรนด์จะไปในเรื่อง IPTV แต่ก็ยังมีผู้เล่นใหม่ในตลาดเพย์ทีวีอยู่ อย่างเจริญเคเบิ้ลก็จับมือกับไฟเบอร์วันเปิดเป็นไฟเบอร์ทีวี กึ่งๆ เพย์ทีวี เห็นได้ชัดว่าตลาดยังมีการเติบโต ขึ้นอยู่กับเทรนด์ผู้บริโภคจะเลือกช่องทางไหนมากกว่ากัน