“เอไอเอส” จัดเป็นบริษัทที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับภาครัฐมานาน โดยเฉพาะกับทีโอที ทำให้เอไอเอสได้โอกาสเข้าสู่ตลาด 3G ก่อนคู่แข่ง โดยชิงเปิดตัวบริการ 3G ที่เชียงใหม่ภายใต้แบรนด์ 3Gsm Advance เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2551 ที่ผ่านมา แต่ผ่านมาแล้วเกือบ 6 เดือนยอดลูกค้าไม่ตรงตามเป้าหมาย เพราะการวางแผนเครือข่ายไม่ดีนัก และการทำตลาดที่ยังลองผิดลองถูก แต่นี่คือบทเรียนสำคัญที่เอไอเอสได้เรียนรู้ก่อนคู่แข่ง และพร้อมที่จะลงทุนอีกประมาณ 6,000 ล้านบาท เพื่อให้บริการในพื้นที่ที่กว้างขวางขึ้น ขณะเดียวกันเอไอเอสยังจดชื่อแบรนด์ลูกเพื่อเตรียมบริการต่างๆ ภายใต้ 3G
“วิกรม ศรีประทักษ์” ซีอีโอ ของเอไอเอส บอกว่า 3G หมายถึงบริการที่มี Speed เร็วขึ้น Speed นี้ยังหมายถึงการที่เอไอเอสต้องเร่งทำงาน เพื่อให้ตลาดนี้เป็นของเอไอเอสมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
“เอไอเอสมีความพร้อมทั้งด้านฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง บุคลากรที่มีประสบการณ์ แม้จะมีจุดอ่อนที่คลื่นความถี่น้อยกว่าคู่แข่ง แต่ประสบการณ์ของเอไอเอสที่ผ่านมาคือการมีคลื่นน้อย และสามารถใช้คลื่นความถี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
นอกจากเอไอเอส จะมี “วิกรม” ที่เชี่ยวชาญด้านการวางเครือข่ายเป็นอย่างยิ่งแล้ว ประธานกรรมการบริหารของเอไอเอสในเวลานี้ยังเป็น “แอเลน ลิว ยง เคียง” ผู้บริหารที่ส่งตรงมาจากสิงคโปร์เทเลคอม เข้ามาดูแลใกล้ชิดในเอไอเอสมากขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2551 ซึ่งจะตีความเป็นอื่นไม่ได้ว่า สิงเทลหวังเต็มที่กับ 3G และเอไอเอสเช่นกัน
ส่วนโปรเจกต์ 3G โดยเฉพาะมี “สรรค์ชัย เตียวประเสริฐกุล” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด เอไอเอส เป็นผู้ดูแลทั้งหมด ซึ่ง “สรรค์ชัย” เคยสร้างความแรงให้กับการตลาดเอไอเอสมานาน
“สรรค์ชัย” บอกว่า คลื่นเยอะหรือน้อยในช่วงแรกไม่ต่างกันมากนัก เพราะตลาดยังไม่ได้มีผู้ใช้บริการโตแบบพรวดพราด เพราะปัจจุบันฐานลูกค้าที่ใช้โทรศัพท์มือถือทั้งหมดกว่า 50 ล้านเลขหมาย มีเพียง 5 ล้านเลขหมายที่ใช้บริการสื่อสารข้อมูล และในจำนวนนี้มีเพียง 1 ล้านเลขหมายที่ใช้จำนวนมาก เพราะฉะนั้นการมีคลื่นจำนวนน้อยจึงไม่ใช่อุปสรรคสำหรับเอไอเอสในช่วงแรก และเชื่อว่า 2.1 GHz ในอนาคตจะแก้ไขอุปสรรคของเอไอเอสได้
หากเอไอเอสได้ลงทุนในคลื่น 2.1 GHz ในอนาคต ก็สามารถปรับย้ายอุปกรณ์ที่ลงทุนไปแล้วในคลื่น 900 MHz มาใช้สำหรับ 2.1GHz ได้
ปรับแผนตลาด จดชื่อแบรนด์ลูก เมินพรีเซ็นเตอร์
ส่วนประสบการณ์จากการเปิดตัว 3Gsm Advance ที่เชียงใหม่นั้น และขณะนี้มีลูกค้าเพียง 1,000 รายเท่านั้น “สรรค์ชัย” บอกว่า ทำให้เรียนรู้หลายข้อ คือ 1.การวางเครือข่ายที่ครอบคลุมไม่ถึงกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง โดยเฉพาะรอบเมืองที่ต้องการใช้อินเทอร์เน็ต แต่ยังไม่มีผู้ให้บริการใดไปถึง 2.เครื่องที่มีให้เลือกน้อย แม้ราคาไม่แพงแต่ก็ไม่จูงใจ 3.การสื่อสารที่ยังไม่ตรงกับความต้องการของลูกค้า
ขณะนี้เอไอเอสจึงขยายเครือข่ายออกไปรอบเมืองมากขึ้น และทำแพ็กเกจผ่อนเครื่องมือถือ 3G ดอกเบี้ย 0% พร้อมกับให้ใช้บริการสื่อสารข้อมูลขนาด 500 เมกะไบต์ฟรี 10 เดือน ซึ่งแม้ราคาเครื่องไม่แพงนัก แต่ก็ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้ง่าย และการโปรโมตให้ตรงจุด คือความเป็นโมบายไฮสปีดอินเทอร์เน็ต
“ตลาดที่แท้จริงอยู่ที่โมบาย อินเทอร์เน็ต มากกว่าการใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อ 3G หรือแม้แต่วิดีโอคอล ที่เอไอเอสเลือกสื่อสารกับลูกค้าในช่วงแรก เพราะในความเป็นจริงแล้วสำรวจพบว่า เฉลี่ยลูกค้าใช้วิดีโอคอลอย่างมากเพียงเดือนละ 1 ครั้งเท่านั้น หากเทียบกับโมบายอินเทอร์เน็ตมีการใช้งานมากกว่า”
จากการทดสอบทำตลาดหากมีการคิดค่าบริการ จะทำให้รายได้ต่อเลขหมายเพิ่มขึ้นประมาณ 15% ในระบบรายเดือน จากปกติประมาณ 600-700 บาท เป็นประมาณ 800 บาทต่อเดือน และดูแนวโน้มแล้วคาดว่าจะมีลูกค้าใช้บริการ 3G ภายใน 1 ปีประมาณ 5 หมื่นราย
ความพร้อมของเอไอเอสในเวลานี้ นอกจากจดชื่อแบรนด์ 3Gsm Advance ไว้แล้ว ยังเตรียม เปิดตัวบริการสำหรับกลุ่มพรีเพด ภายใต้ชื่อ วันทูคอล 3G และจดชื่อ Sub brand สำหรับบริการโมบายไฮสปีดอินเทอร์เน็ตว่า MDSL มาจาก Mobile DSL ที่ล้อไปกับ ADSL ซึ่งเป็นบริษัทอินเทอร์เน็ตมีสายของกลุ่มโทรศัพท์พื้นฐาน นอกจากนี้ยังมี WDSL สำหรับเทคโนโลยี WIMAX ที่เอไอเอสเตรียมเปิดให้บริการในอนาคต
และครั้งนี้อาจเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีสำหรับเอไอเอส ที่ไม่ต้องพึ่งพรีเซ็นเตอร์ ณ นาทีนี้ “สรรค์ชัย” บอกว่า 3G เป็นเรื่องของเทคโนโลยี จึงไม่จำเป็นต้องให้ดารา นักร้องเป็นพรีเซ็นเตอร์ เพราะในชีวิตจริงของคนกลุ่มนี้อาจใช้อินเทอร์เน็ตไม่มากนัก
ภาคอีสาน-คนทำงานกลุ่มเป้าหมายหลัก
สำหรับกลุ่มพื้นที่ยุทธศาสตร์ของเอไอเอสนั้น “สรรค์ชัย” มองว่า นอกจากกรุงเทพแล้ว ภาคอีสานมีการใช้อินเทอร์เน็ตสูงมาก เพราะมีมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ในแผนการวางเครือข่ายเฟสแรก 10 จังหวัด จึงเน้นไปที่จังหวัดในภาคอีสานถึง 4 จังหวัด คือนครราชสีมา อุดรธานี อุบลราชธานี และขอนแก่น นอกจากนักศึกษาแล้ว ในกลุ่มลูกค้าจังหวัดอื่นๆ จะเน้นกลุ่มคนทำงาน นักธุรกิจ และผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไป และลงทุนระยะที่สองอีก 25 จังหวัด รวมงบ 6000 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามากกว่าคู่แข่ง จากทั้งเงินและแผนค่อนข้างพร้อมของเอไอเอสครั้งนี้ “สรรค์ชัย” ยืนยันว่า 3 G ที่แม้จะเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่คู่แข่งหวังใช้ให้เป็นจุดเปลี่ยน สำหรับเอไอเอสแล้ว ถึงอย่างไรก็สามารถรักษาความเป็นเบอร์ 1 ในสมรภูมินี้