3G ทะลุโลก

โทรศัพท์มือถือยุคที่ 3 หรือ 3G (Third Generation) เทคโนโลยีที่ทำให้การสื่อสารติด “Speed” มากขึ้น ในทุกที่ทุกเวลา กำลังจะทำให้เกิดปรากฏการณ์มากมายในสังคมไทย ตั้งแต่ “ไลฟ์สไตล์” ไปจนถึง “จีดีพี” ของประเทศ

3G ทำให้ “ผู้เล่น” ที่อยู่ในธุรกิจสื่อสารตื่นตัว และแข่งขันกันอย่างหนักที่สุดในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เพราะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของธุรกิจ เป็นเดิมพันเพื่อสร้างรายได้ครั้งใหม่ในอนาคต 3G ยังทำให้ผู้คนสะดวกในการหาความรู้ ความบันเทิง ในทุกที่ทุกเวลา จนเป็นที่มาของธุรกิจต่อเนื่อง การตลาดรูปแบบใหม่ ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกมากมาย

…นี่จึงเป็นช่วงเวลาเของ 3G

จาก 1G ถึง 3G ประเทศไทยใช้เวลาเกือบ 20 ปี ปัจจุบันไทยอยู่ในยุค 2.5G ทำให้การโหลดข้อมูลขนาด 1 เมกะไบต์ ยังต้องใช้เวลาประมาณ 4-5 นาที แต่หากเป็น 3G ใช้เวลาเพียง 4 วินาที ซึ่งต่างประเทศมี 3G ให้บริการมานานเกือบ 10 ปี และบางประเทศกำลังก้าวไปสู่ยุค 4G เพราะไทยมีอุปสรรคอยู่ที่ “การเมือง” และการแย่งชิง “ผลประโยชน์” ที่ไม่ลงตัว ทำให้ ณ วันนี้ 3G ในไทยเพิ่งเริ่มต้น

ปี 2551 ถือว่ามีความเคลื่อนไหวของการเมือง และการกำกับดูแลกิจการสื่อสารของภาครัฐมากมาย โดยเฉพาะคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จนเมื่อการ “วิ่งเต้น” สำเร็จ ทำให้รัฐช่วยกันเคาะให้เกิดโครงการ 3G ในที่สุด แม้จะไม่ใช่ในย่านความถี่ 2.1 GHz อย่างที่เป็นนิยมใช้กันทั่วโลกในเวลานี้ แต่ก้าวแรกกับย่านความถี่ 800-900 MHz ก็ถือว่าลงตัว เพื่อพร้อมลุยตลาดเต็มที่ หากปี 2552 กทช.จัดสรรคลื่น 2.1 GHz ให้ผู้ประกอบการ

เมื่อโอกาสมาถึง เอกชน 3 ราย คือ บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ในเครือบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรูมูฟ จำกัด ในเครือบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ต่าง “ร้อนวิชา” กันเต็มที่ ทั้งการเตรียมแผนลงทุน เตรียมบุคลากร และทางการตลาด เพราะหากภายใน 1-2 ปีนี้ยังไม่มี 3G รายได้ของแต่ละบริษัทอาจลดลง

สัญญาณมีให้เห็นจากผลประกอบการในแต่ละไตรมาสในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่แม้รายได้รวมเป็นบวก แต่เป็นเปอร์เซ็นต์ที่ลดลง อัตราการทำกำไรลดลง แม้แต่เบอร์ 1 ในตลาดอย่างเอไอเอส ที่ปี 2547 เคยทำได้ 20.87% ในปี 2550 ทำได้เพียง 14.93% และรายได้ต่อเลขหมายเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง

แต่สัญญาณของความจำเป็นต้องมี 3G เห็นได้จากรายได้การใช้บริการ Non Voice หรือสื่อสารข้อมูลดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยทำรายได้ให้ไม่ถึง 5% ภายในไม่ถึง 2 ปี ทำรายได้ให้ถึงกว่า 10% ของรายได้ทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าตลาดมีความต้องการใช้บริการสื่อสาร เพียงแต่ตัวเลขไม่เติบโตแรง เพราะความเร็วในระดับ 2.5G ในปัจจุบันไม่สามารถสนองความต้องการได้

บทพิสูจน์ว่า Speed จะช่วยให้รายได้วิ่งฉิว คือเมื่อบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเสนอบริการความเร็วที่ 2 Mbps ปรากฏว่าจุดพลุให้ลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด กรณีของทรูออนไลน์เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด เพราะรายงานในไตรมาส 2 ปี 2551 ว่ามีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นถึง 31,000 ราย สูงสุดในรอบ 1 ปี เพราะแพ็กเกจไฮสปีด 2 Mbps นี่ขนาดเป็นเพียงไฮสปีดอินเทอร์เน็ตที่ใช้อยู่กับที่ ซึ่งคงไม่ต้องสงสัยเลยว่าหากโทรศัพท์มือถือสามารถทำให้คนเล่นไฮสปีดอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา และขณะเคลื่อนที่ได้ จะได้รับการตอบรับจากผู้ใช้บริการมากเพียงใด

เมื่อ Speed มาแล้ว คอนเทนต์ และ Application ต่างๆ จะตามมา หลายอย่างที่ไม่เคยคิดว่าจะทำได้ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 3G จะทำให้เป็นจริงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโมบาย แบงกิ้ง การโหลดหนัง ฟังเพลง ภายในเวลาไม่กี่วินาที การซื้อขายผ่านออนไลน์ Social Networking ที่ขยายตัวมากขึ้น และทุกอย่างจะสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เพราะอุปกรณ์ไอทีต่างๆ ตั้งแต่เน็ตบุ๊กไปจนถึงเครื่องโทรศัพท์มือถือที่มีพร้อมอยู่ในตลาดรองรับ 3G อยู่แล้ว

3G ยังทำให้วงการธุรกิจโฆษณาคึกคัก เพราะนี่คือช่องทางที่สามารถใช้สื่อสารเพื่อเจาะ Segment ที่ต้องการ และได้ผลมากที่สุด เพราะจอที่ 3 นี้อยู่ในมือของลูกค้าทุกคน

ทั้งหมดนี้คือเทคโนโลยี 3G ที่กำลังสร้างโอกาสของธุรกิจใหม่ๆ และที่สำคัญกำลังนำเทรนด์ใหม่ เข้ามาสู่ไลฟ์สไตล์ของคุณทุกคน

เกิดอะไรขึ้นเมื่อมี 3G

1. คนใช้อินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงมากขึ้น เพราะความสะดวกในการเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ โดยคาดว่าจะมีผู้ใช้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 10-20% จากผู้ใช้ปัจจุบันประมาณ 2 ล้านคน

2. ค่าบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจะถูกลงจากปัจจุบันเฉลี่ยประมาณ 590 บาท ในความเร็วที่ 1 Mbps จะเหลือประมาณ 400 บาทในระบบ 3G

3. ธุรกิจโทรศัพท์มือถือแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น ทั้งการชิงคลื่นความถี่ แผนการตลาดเพื่อชิงลูกค้า มีลูกค้าจำนวนมากที่มี 2 เบอร์ เบอร์ 1 สำหรับการใช้โทร และอีก 1 เบอร์สำหรับการใช้อินเทอร์เน็ตไร้สาย โดยคาดว่าจะทำให้รายได้แต่ละบริษัทเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10-15%

4. ธุรกิจไอเอสพี หรือผู้บริการอินเทอร์เน็ตแบบมีสายจะมีลูกค้าลดลง

5. คอนเทนต์ต่างๆ มีช่องทางในการสื่อสารมากขึ้น โดยเฉพาะของคอนเทนต์ด้านบันเทิง การดาวน์โหลดเพลง คลิปวิดีโอ และเว็บอีคอมเมิร์ช

6. สินค้า บริการ มีช่องทางในการโฆษณามากขึ้น และตรงกับกลุ่มเป้าหมายกว่าเดิม โดยคาดว่ารายได้สื่อโฆษณาผ่านดิจิตอลจะเพิ่มขึ้น

7. โน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือมัลติมีเดีย และอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต จะมียอดขายเติบโตอย่างเห็นได้ชัด

8. ผู้คนจะใช้เวลาอยู่นอกบ้านมากขึ้น ในสถานที่เป็น Third Place และใช้โทรศัพท์ทำกิจกรรมหลากหลาย และอาจใช้หลายอย่างในเวลาเดียวกัน เช่น คุยพร้อมดูวิดีโอคลิป มีการเขียนบล็อก ดูทีวี แชต จากเดิมใช้แค่โทร และส่ง SMS

9. ความสะดวกของการติดต่อสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตไร้สายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต่างชาติตัดสินใจมาลงทุนในไทย

10. หากทุกบริษัทลงทุนบริษัทละประมาณ 2 หมื่นล้านบาทต่อปี จะทำให้จีดีพีของไทยเพิ่มขึ้นกว่า 1% (มูลค่าจีดีพีของไทยเฉลี่ยประมาณ 6 ล้านล้านบาทต่อปี) และคนไทยมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากขึ้น

3G ความเร็วยิ่งสูง ยิ่งบริการได้มาก
—————————————————————————————————-
ยุค เทคโนโลยี ความเร็ว บริการ
——————————————————————————————————-
1G NMT/AMPS/Datatac – เสียงอย่างเดียว
2G GSM/CDMA/iDen น้อยกว่า 20 Kbps เสียง/SMS/ประชุมหลายสาย Caller ID/Push to talk
2.5G GPRS/1xRTT/EDGE 30-90 Kbps MMS/รับส่งรูป/ดูเน็ต/ คลิปเสียง วิดีโอ ไม่เกิน 10 วินาที/ ริงโทน/ เกม /อีเมลแบบไม่มีไฟล์แนบ/โมบายมันนี่
3G UMTS/1xEV-DO 144Kbps-2Mbps คลิปเสียง วิดีโอ ยาว 1-2 นาที และต่อเนื่อง / ดูเน็ตเร็วขึ้น/เกม 3 มิติ
3.5G HSDPA/1EV-DV 384Kbps-14.4Mbps ประชุมเห็นทั้งภาพและเสียง/ดาวน์โหลดหนัง/บริการ VOIP/ Triple Play ทั้งโทรศัพท์ เล่นเน็ต และส่งข้อมูล/โหลดเพลง MP3 ทั้งอัลบั้ม
4G Wimax 100Kbps-1Gbps ส่งข้อมูลเร็ว และคุณภาพดีขึ้น

ยอดผู้ใช้โทรศัพท์-อินเทอร์เน็ต
——————————————————–
โทรศัพท์พื้นฐาน 9.37 ล้านเลขหมาย
โทรศัพท์มือถือ 45.82 ล้านเลขหมาย
อินเทอร์เน็ต 15.4 ล้านคน
———————————————————

จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ปี 2551 จำนวน 15.4 ล้านคน
Dial up ความเร็ว 56K จำนวน 13.4 ล้านคน
เน็ตความเร็วสูง(บรอดแบนด์) 2 ล้านคน

รายได้จากบริการเสียง และบริการเสริม (หน่วย : ล้านบาท)
—————————————————-
ปี บริการเสียง บริการเสริม
—————————————————-
2550 150,000 5,000
2551 153,000 15,830
2552 155,000 18,600
——————————————————————-

Time Line ยุคโทรศัพท์มือถือ จาก 1G-3G ในไทย

ยุค 1G ยุคอะนาล็อก เริ่ม พ.ศ. 2529

ปี 2529
-ทีโอที เปิดให้บริการโทรศัพท์มือถือ NMT บนความถี่ 470 MHz

ปี 2533
-ทีโอทีให้สัมปทานเอไอเอส บริการโทรศัพท์มือถือบนความถี่ 900 MHz
-แคท เทเลคอม ให้สัมปทานดีแทคบริการโทรศัพท์มือถือบนความถี่ 800 MHz

ยุค 2G ยุคดิจิตอล เริ่ม พ.ศ. 2537

ปี 2537
-เอไอเอส และดีแทคให้บริการระบบดิจิตอล บนเทคโนโลยี GSM บนคลื่น 900 MHz และ 1800 MHz ตามลำดับ

ปี 2540
-เกิดวิกฤตการเศรษฐกิจ ดีแทค ประสบปัญหาทางการเงินมากที่สุด จนเริ่มมีการขายต่อคลื่นความถี่ย่าน 1800 โดยมีกลุ่มไออีซีภายใต้ชื่อ “ดับบลิวซีเอส” และสามารถฯ “ดีพีซี” แบรนด์ “ฮัลโหล”

ปี2542
-ดีพีซี เปิดให้บริการ

ปี 2543
-เอไอเอส เทกโอเวอร์ดีพีซี
-ทรู เทกโอเวอร์คลื่นต่อจากไออีซี

ยุค 2.5G เริ่ม พ.ศ. 2544

ปี 2544
-เอไอเอส และดีแทค เริ่มให้บริการสื่อสารข้อมูล บนเทคโนโลยี GPRS
-ทรูมูฟ บริการโทรศัพท์มือถือดิจิตอล GSM บนคลื่น 1800

ปี 2545
-ทีโอทีร่วมกับแคท เทเลคอม ตั้งบริษัทลูกให้บริการโทรศัพท์มือถือในย่านความถี่ 1900 MHz ด้วยเทคโนโลยี GSM

ยุค 2.75G เริ่ม พ.ศ. 2546
ปี 2546
-ฮัทชิสัน ร่วมทุนกับแคทฯให้บริการภายใต้แบรนด์ “ฮัทช์”
-เอไอเอส ให้บริการ EDGE

ปี 2547
-ดีแทค ให้บริการ EDGE

ยุค 3-3.5 G เริ่ม พ.ศ. 2551

ปี 2551
-มกราคม
-ดีแทค เปิดทดสอบ 3G ด้วยเทคโนโลยี HSDPA บนคลื่น 850 MHz

-พฤษภาคม
-เอไอเอส เปิดบริการ 3G ที่เชียงใหม่ ภายใต้แบรนด์ “3GSM advance” เทคโนโลยี HSDPA บนคลื่น 900 MHz

-สิงหาคม
-แคท เทเลคอม เปิดตัว CDMA 2000 1 X EV-DO ที่เชียงใหม่
-กทช. อนุมัติให้เอกชนพัฒนาเครือข่ายบนคลื่นความถี่ 800 MHz เทคโนโลยี HSPDA
-กทช. จัดประชาพิจารณ์ หลักเกณฑ์การจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz
-ครม. อนุมัติให้โอนสิทธิในคลื่น 1900 จาก กสท ให้ทีโอทีทั้งหมดภายใต้บริษัทไทยโมบาย
-เอไอเอส เสนอกระทรวงไอซีทีเจรจากับทีโอทีเพื่อขอแบ่งคลื่น 1900 จำนวน 5 MHz
-ทีโอที เสนอ ครม.อนุมัติลงทุนพัฒนาบริการภายใต้ “ไทย โมบาย” เป็น 3G งบลงทุนประมาณ 29,000 ล้านบาท

-ประมาณสิ้นปี
-เอไอเอส วางแผนเปิดตัวบริการในพื้นที่ 9 จังหวัด

ปี 2552
-ดีแทค วางแผนเปิดบริการ HSPDA ประมาณกลางปี
-ภายในกลางปีคาดว่า กทช. จะสามารถจัดสรรคลื่น 2.1 GHz ให้เอกชน